ทั่วโลกต่างได้รับข่าวดีที่เป็นแสงสว่างแห่งความหวังในการรักษา COVID – 19 เมื่อบริษัทเวชภัณฑ์ยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันอย่าง Pfizer ประกาศผลการวิเคราะห์ระหว่างการพัฒนาวัคซีน การศึกษาระยะที่ 3 ว่า มีประสิทธิภาพในการป้องกันสูงถึง 90%
เบื้องหลังก้าวสำคัญของมวลมนุษยชาตินี้ คือบริษัทสัญชาติเยอรมันอย่าง BioNTech ภายใต้การนำทีมวิจัยของ ดร.Özlem Türeci วัย 53 และ ศาสตราจารย์ ดร. Ugur Sahin วัย 55 คู่รักนักวิจัยชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกี ประธานกรรมการหน่วยแพทย์ และประธานกรรมการบริหารของ BioNTech นั่นเอง
ก่อนเริ่มต้นที่ BioNTech ดร. Türeci และ ดร. Sahin ได้ก่อตั้ง Ganymed Pharmaceuticals ในปี ค.ศ. 2001 ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง โดยทดลองว่ารหัสพันธุกรรมดัดแปลง หรือ mRNA สามารถใช้เพื่อหลอกให้ร่างกายต่อสู้กับมะเร็งได้หรือไม่ ก่อนจะขาย Ganymed Pharmaceuticals ในปี ค.ศ. 2016 ด้วยมูลค่า 14 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา
เริ่มโครงการด้วยความไวแสง
ระหว่างมื้อเช้าของวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 2020 ดร. Sahin ได้อ่านข่าวเกี่ยวกับโรคระบาดใหม่ในเมืองอู่ฮั่น และรู้ได้ทันทีว่ามีโอกาสสูงมาก ที่โรคดังกล่าวจะกลายเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลก ทั้งสองคนเริ่มโครงการวิจัย “Light Speed Project” โดยตั้งชื่อตามสถานการณ์เร่งด่วนที่ทั้งคู่ตั้งใจจะหาทางป้องกันโคโรนาไวรัสให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
“เราตัดสินใจจะใช้เทคโนโลยี mRNA สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้ได้ค่อนข้างหลากหลาย”
ดร. Türeci กล่าว
“เราตัดสินใจจะใช้เทคโนโลยี mRNA สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ประยุกต์ใช้ได้ค่อนข้างหลากหลาย” ดร. Türeci กล่าว
ความต้องการผลิตวัคซีนนั้นไม่ได้มาจากแรงกดดันด้านการแข่งขัน ผลกำไร หรือกระทั่งความต้องการเป็นผู้นำในวงการวิทยาศาสตร์ กลับกัน ดร. Türeci รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของ “คุณธรรม” หน้าที่ที่จะต้องช่วยโลกใบนี้มากกว่า “งานของเราคือการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบภูมิคุ้มกัน เรามีความรู้ด้านนี้ดีที่สุด มันจึงเป็นเหตุผลที่เราควรมีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้” เธอกล่าว
ทีมวิจัยพัฒนาวัคซีนทำงานสลับกันตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อติดตามผลการวิเคราะห์ “สมาชิกหลายคนในทีมไม่ได้มีวันหยุดพัก พวกเขาต้องทำงานแม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ และเพราะแบบนี้ เราถึงเข้าใกล้ความสำเร็จ ไทม์โซนไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะเรามีนักวิจัยทั้งจากไฟเซอร์ในอเมริกา และพาร์ทเนอร์ในจีน”
ด้วยการสนับสนุนด้านการลงทุนจากบริษัท Pfizer ผู้คร่ำหวอดในตลาดการค้าวัคซีนในประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถช่วยดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็ว จากที่ต้องใช้เวลาเป็นปีเหลือเพียงแค่ 10 เดือนเท่านั้น
“เรื่องนี้รอไม่ได้ เราไม่มีเวลาเหลือเฟือขนาดนั้น ลองนึกภาพว่าคุณอยากจะไปอีกฟากของกรุงลอนดอน แต่การจราจรติดขัดตลอดเส้นทาง อย่างน้อยคุณคงต้องใช้เวลาครึ่งวัน แต่สำหรับโครงการนี้ ถนนโล่งเลยล่ะ”
ดร. Sahin กล่าว
ก้าวสำคัญใกล้ความสำเร็จ
เมื่อ Albert Bourla ประธานกรรมการบริหารของ Pfizer โทรหา ดร. Sahin ในคืนวันอาทิตย์ตอนสองทุ่ม เพื่อบอกข่าวดีว่า วัคซีนต้านไวรัสได้ประสิทธิภาพถึง 90% แล้ว เขารู้สึกเหมือนวินาทีนั้นเวลาเดินช้าลงไปทันที “ความรู้สึกกังวลก่อตัว แต่มันก็ดีขึ้น ผมรู้สึกโล่งใจสุด ๆ มันมีความหมายสำหรับเรามาก”
“เราเริ่มต้นการคิดค้นวัคซีนเมื่อ 10 เดือนที่แล้ว นี่คือเป้าหมายที่เราตั้งไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะวันนี้ ตอนที่เราทุกคนอยู่ระหว่างการระบาดระลอก 2 และหลายคนต้องกักตัว เราเห็นคุณค่าความสำคัญของความสำเร็จครั้งนี้มากยิ่งขึ้น มันคือก้าวสำคัญที่พาเราเข้าใกล้จุดจบของการระบาด และเข้าใกล้ชีวิตปกติที่เคยเป็นของเรา” ดร. Sahin กล่าว
Photo Credit: Bebeto Matthews/ AP
สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกชื่นใจที่สุดคือ เทคโนโลยี mRNA ที่พัฒนาร่วมกันกับภรรยานั้นสามารถช่วยพัฒนาวัคซีน เพื่ออนาคตของทุกคนได้ “การระบาดครั้งนี้สอนให้เรารู้ว่า เราต้องเตรียมตัวให้พร้อมมากกว่านี้ ตอนนี้เรากำลังสร้างโรงงานใหม่ ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้นมากถึง 3 เดือนเลยทีเดียว และเราต้องวางแผนในระดับนานาชาติด้วย”
ดร. Sahin กังวลเกี่ยวกับประเทศที่มีกำลังทรัพย์จะกวาดซื้อวัคซีนไปจนหมด และทิ้งประเทศกำลังพัฒนาไว้ข้างหลัง “นี่เป็นเรื่องที่เรากังวลมาตลอด… เรากำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่อาจจะลดขนาดโดสได้ และเพิ่มกำลังการผลิตของเราด้วย”
พวกเศรษฐีไม่ควรลัดคิว และจ่ายเงินเพื่อฉีดวัคซีนก่อนใคร ๆ
Photo Credit: biontech.de
เขากล่าวเพิ่มเติม “ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ควรดำเนินการผ่านหน่วยงานรัฐ ผมคาดว่าไตรมาสแรกในปี ค.ศ. 2021 เราจะมีบริษัทยาอย่างน้อย 3 – 5 บริษัทที่จะผลิตวัคซีนได้ และช่วงกลางปีหน้า น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8 – 9 บริษัท”
ก้าวสำคัญครั้งนี้คือหลักฐานชั้นเยี่ยมที่ยืนยันถึงศักยภาพจากการร่วมมือและแลกเปลี่ยนความคิดกัน “บริษัทของเรามีพนักงานจาก 60 ประเทศทั่วโลก แม้ว่าบริษัทของเราจะอยู่ที่เยอรมนี แต่การประชุมทุกครั้งเราใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เรามีผู้คนจากเอเชีย แอฟริกา อเมริกา อังกฤษ และยุโรป รวมถึงตุรกีด้วย” ดร. Sahin กล่าว
ความสำเร็จที่ใกล้เข้ามาเป็นความหวังของผู้คนทั่วโลก รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรเองก็ร่วมยินดีกับผลการวิเคราะห์ครั้งนี้ด้วยการประกาศจัดหาวัคซีน 10 ล้านโดสภายในสิ้นปี สำหรับชาวบริติชทันทีที่วัคซีนได้รับการรับรองให้ใช้ในมนุษย์
Photo Credit: biontech.de
“เราจะเดินหน้าศึกษารวบรวมข้อมูลต่อไป เนื่องจากการทดลองยังเหลือการวิเคราะห์ขั้นสุดท้ายตามแผนที่วางไว้ เมื่อตอนที่ผู้ป่วย 164 รายได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 ผมอยากขอบคุณทุกคนที่มีส่วนช่วยให้พวกเราเข้าใกล้เป้าหมายมากยิ่งขึ้น” ดร. Sahin กล่าว
อย่างไรก็ตามคู่รักนักวิจัยผู้อยู่เบื้องหลังก้าวสำคัญที่จะหยุดยั้ง COVID – 19 ไม่ได้สนใจเรื่องผลกำไรจากการค้นพบของตัวเอง แม้ว่าบริษัทของพวกเขาจะมีมูลค่าถึง 26 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม ปัจจุบัน ดร. Sahin ยังใช้จักรยานเป็นยานพาหนะไปทำงานเหมือนชีวิตประจำวันที่เคยเป็นมา “เราไม่มีอะไรที่อยากได้เป็นพิเศษ รถสักคันเรายังไม่ใช้เลย เรือยอชต์ยิ่งไม่น่าจำเป็นนะ”
Photo Credit: biontech.de
ความสนใจหนึ่งเดียวที่ทั้งคู่มีคือการพัฒนาทำงานวิจัย (แม้กระทั่งในวันแต่งงานเมื่อปี ค.ศ. 2002 ดร. Sahin และ ดร. Türeci ก็ยังหาเวลาไปทำงานที่ห้องแล็บ) นอกจากบทบาทในบริษัท BioNTech แล้ว ดร. Sahin ยังเป็นศาสตราจารย์ด้านมะเร็งวิทยา ที่มหาวิทยาลัยไมนซ์ (Mainz University) ประเทศเยอรมนี และร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไร Ci3 หรือ the German Cluster Initiative of Individualized ImmunIntervention ส่วน ดร. Türeci ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมภูมิคุ้มกันโรคมะเร็ง (the Association for Cancer Immunotherapy: CIMT)
อ้างอิง
- Married professors Ugur Sahin and Ozlem Tureci developed science of Pfizer vaccine. www.standard.co.uk/news
- The modern-day Curies: Meet the scientist couple behind 90% effective COVID-19 vaccine. https://nypost.com/2020/
- BioNTech. https://biontech.de/our-dna/leadership
- Their coronavirus vaccine candidate has made them billionaires. This modest German Turkish couple doesn’t own a car. www.washingtonpost.com
- Coronavirus: Turkish Germans raise new Covid vaccine hopes. www.bbc.com