เล่าเล่นเล่น : จิตรกรรมฝาผนังในวิหารของวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร เชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ํามันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่คนไทยรู้จักกันมากที่สุด ของพระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์จิตรกร) จิตรกรเอกในราชสํานักพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
เมืองอิฐเก่าเล่าตำนาน กับประวัติศาสตร์อันหลายหลากที่เป็นรากฐานของบรรพชนไทย
“จังหวัดพระนครศรีอยุธยา” เชื่อว่า หลายคนคงเคยเดินทางมาวัดเพื่อไหว้พระ หรือสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันบ้างแล้ว แต่สำหรับใครที่ยังไม่เคยมา วันนี้ KiNd ขออาสาเป็นไกด์พา ไปย้อนเรื่องราวในอดีตกาลผ่านงานจิตรกรรมไทยพร้อม ๆ กัน ที่ “วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร” หรือหากใครที่เคยมา ณ วัดแห่งนี้แล้ว แต่ยังไม่เคยทัศนางานศิลป์บนผนังในวิหารอย่างลุ่มลึกแล้วละก็วันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีทีเดียว
“วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร” เป็นวัดเก่าที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตั้งอยู่ในเกาะเมืองเขตพระนคร ด้านทิศ ตะวันออกค่อนลงมาทางใต้ใกล้ป้อมเพชร ตำบลหอรัตนไชย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สถาปนาขึ้นโดยพระ สุนทรอักษร (ทองดี) พระบรมชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ วัดแห่งนี้เดิมมีชื่อว่า “วัดทอง” ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พม่าได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาแตก วัดทองจึงถูกพม่าทำลายกลายเป็นวัดร้างมานานถึง ๑๘ ปี
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ และทรง พระราชทานนามใหม่ตามชื่อของพระราชบิดา (ทองดี) และพระราชมารดา (ดาวเรือง) ว่า “วัดสุวรรณดาราราม”
จิตรกรรมสีน้ำมันบนผนังวัด กับเรื่องราวกษัตริย์ไทย
ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก่อนที่งานจิตรกรรมของไทยจะได้รับอิทธิพลศิลปะจากวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มีลักษณะเป็น “จิตรกรรมประเพณี” กล่าวคือ เป็นงานจิตรกรรมที่สร้างขึ้นด้วยอิทธิพลความเชื่อด้านพุทธศาสนา มีเนื้อหา รูปแบบ และวิธีการแสดง ออกเป็นระเบียบแบบแผนสืบทอดกันมาอย่างช้านานเป็น “ศิลปะแบบอุดมคติ” (Idealistic) มีการวางรูปทรง เส้น สีองค์ประกอบศิลป์ ประสานกันอย่างกลมกลืน
ส่วนด้านเนื้อหาของภาพจะเป็นเรื่องราวพุทธประวัติ อดีตของพุทธเจ้า ทศชาติชาดก หรือไตรภูมิโดยมีแบบแผนการวางที่ไม่ แตกต่างกัน นอกจากนี้การแสดงออกของจิตรกรรมไทยประเพณี ยังไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทางทัศนียวิทยา สัดส่วนระหว่างรูปทรง แสง เงา บรรยากาศของกาลเวลา และส่วนใหญ่จะแสดงภาพแบบสองมิติ
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และ ค่านิยม จะมีลักษณะแตกต่างจากสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศตระหนักถึงอำนาจตะวันตกที่กำลังเข้า มามีอิทธิพลอย่างมาก และเห็นว่าควรปรับประเทศในทุก ๆ ด้าน เพื่อความเจริญก้าวหน้า พร้อมทั้งคงไว้ซึ่งเอกราชของบ้านเมือง
เฉกเช่นเดียวกับงานด้านจิตรกรรม เนื้อหาของช่างเขียนไทยในเวลาดังกล่าว ได้รับอิทธิพลเรื่องคติการเขียนภาพเล่าเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา โดยได้พัฒนาอย่างชัดเจนเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ในแผ่นดินของรัชกาลที่ ๔ จากนั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปงานจิตรกรรมไทยสู่การเขียนภาพสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการผสมผสานรูปแบบการเขียนตะวันตกเข้ากับเนื้อ เรื่องแบบไทย การพัฒนาเทคนิคการลงสีการใช้แสงและเงา รวมถึงการคำนึงถึงความสมจริง
“จิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม” เป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้โปรดให้ “พระยาอนุศาสน์จิตรกร” (จันทร์จิตรกร) เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ซึ่งงานจิตรกรรมมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งทางด้านรูปแบบที่มี ลักษณะสมจริงตาม “หลักทัศนียวิทยาแบบตะวันตก” มีการใช้สีน้ำมันในการสร้างงาน ซึ่งแตกต่างจากงานจิตรกรรมไทยแต่เดิมที่นิยมใช้สี ฝุ่น มีการแสดงความลึกและระยะใกล้ไกลแบบสามมิติ รวมทั้งคำนึงถึงความเหมือนจริง (Realistic) เช่น การเน้นเรื่องอิริยาบถต่าง ๆ มี รายละเอียดของใบหน้า สีผิว ตลอดจนการแต่งกาย และมีการนำหลักทัศนียวิทยามาช่วยในการสร้างบรรยากาศของการเคลื่อนไหวอย่างสมจริง เป็นต้น
รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเรื่องราวทางพุทธศาสนา มาเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมเด็จพระนเรศวร มหาราช นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการสร้างงานว่าอาจจะมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความพยายามในการสร้างความรู้สึกชาตินิยม ให้เกิดในหมู่ประชนชนชาวไทยในขณะนั้น ท่ามกลางกระแสของวัฒนธรรมตะวันตกที่กำลังเข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ทุก ๆ ด้าน
เนื้อเรื่องของจิตรกรรมนั้นกล่าวถึงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญของวีรกษัตริย์ไทยคือ “สมเด็จพระนเรศวร มหาราช” ซึ่งเป็นกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาผู้กอบกู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้ ส่วนแรกคือ การเล่าเรื่องราวพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพเขียนการทำสงครามยุทธหัตถีระหว่าง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชมังกะยอชวาแห่งเมืองหงสาวดีซึ่งเป็นสงครามที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๑๓๕ เนื้อหาของภาพ สะท้อนเรื่องราวประวัติศาสตร์เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงฟันพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาเข้าที่อังสะขวา จน สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง
ส่วนที่สองคือ การเล่าพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเขียนตามช่องว่างระหว่างประตูและหน้าต่างช่อง แบ่ง ออกเป็นตอน รวมทั้งสิ้น ๒๐ ตอน พร้อมคำบรรยายประกอบอยู่ใต้ภาพ ลำดับภาพเริ่มจากทางด้านซ้ายมือของพระประธาน วนไปตามเข็ม นาฬิกา เขียนเล่าเรื่องตั้งแต่ตอนพระอิศวรแบ่งภาคลงมาประสูติเป็นสมเด็จพระนเรศวร จนถึงเรื่องราวตอนที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคต และอัญเชิญพระบรมศพกลับมาสู่อยุธยา เป็นภาพเขียนที่มีความเหมือนจริง เพราะได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกและได้นำมาประยุกต์ใช้ใน งานจิตรกรรมไทย ซึ่งเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมีส่วนอื่น ๆ อีก ได้แก่ “พระอุโบสถ” ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สังเกตได้ จากที่ผนังด้านหน้ามีการเจาะช่องประตู ๓ ช่อง อาคารหลังนี้มีฐานเป็นท้องสำเภา คือมีลักษณะโค้งแอ่นกลาง ซึ่งเป็นแบบอย่างของฐานราก อาคารที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย และมีจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเขียนเรื่องทศ ชาติชาดก ส่วนด้านหลังพระวิหารจะมี “พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ” องค์เจดีย์สีขาวตั้งตระหง่านอยู่
หากใครชื่นชอบงานจิตรกรรมไทยโบราณ และเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทย ลองแวะไปทัศนากันได้ที่นี่… ที่อยุธยา
ที่มา
- วาสนา พบลาภ. (๒๕๔๖). การศึกษาจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารวัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ, มหาวิทยาลัยศิลปากร
- นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชมจิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร. www.sookjai.com
- ชื่นชมผลงาน “บูรพศิลปิน”. www.dailynews.co.th/article/510452
- จันทร์ จิตรกร ศิลปินคู่พระทัย ร. 6. www.silpa-mag.com/history