- จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุดในประเทศไทยคือ “แม่ฮ่องสอน” ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ 85.51 รองลงมาอันดับที่ 2 คือ “ตาก” ร้อยละ 71.98 และอันดับที่ 3 คือ “อุทัยธานี” ร้อยละ 51.43
- จังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง
“ป่าไม้” เปรียบเสมือนเครื่องช่วยหายใจของสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนที่สำคัญของโลก ช่วยให้มนุษย์เรามีอากาศบริสุทธิ์หายใจ พร้อมกันนั้นยังทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยออกมาจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงช่วยค้ำจุนความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศ แล้วป่าไม้ที่เป็นดั่งปอดของประเทศไทยนั้น มีสัดส่วนอยู่จำนวนเท่าใดในประเทศ KiNd ชวนไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน
จากข้อมูลสถิติของสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมที่ดิน ให้ข้อมูลไว้ว่าในปี พ.ศ. 2561-2562 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งหมด จำนวน 102,484,072.71 ไร่ หรือร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 6 ภูมิภาค พร้อมหยิบยกตัวอย่างจังหวัดมา 3 อันดับแรก ดังนี้
ภาคเหนือ
ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 60,048,349.14 ไร่ พบพื้นที่ป่าไม้ 38,422,185.10 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 63.99 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัดมากที่สุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 85.51) รองลงมาคือ ลำปาง (ร้อยละ 70.04) และเชียงใหม่ (ร้อยละ 69.59)
ภาคตะวันตก
ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 34,038,210.43 ไร่ พบพื้นที่ป่าไม้ 20,134,123.90 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 59.15 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัดมากที่สุด ได้แก่ ตาก (ร้อยละ 71.98) รองลงมาคือ กาญจนบุรี (ร้อยละ 61.92) และเพชรบุรี (ร้อยละ 57.71)
ภาคกลาง
ครอบคลุมพื้นที่ 22 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 56,912,645.90 ไร่ พบพื้นที่ป่าไม้ 12,221,308.19 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 21.47 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัดมากที่สุด ได้แก่ อุทัยธานี (ร้อยละ 51.43) รองลงมาคือ พิษณุโลก (ร้อยละ 37.29) และเพชรบูรณ์ (ร้อยละ 32.52) โดยมี 3 จังหวัดที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 104,823,709.22 ไร่ พบพื้นที่ป่าไม้15,751,998.42 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 15.03 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัด มากที่สุด ได้แก่ มุกดาหาร (ร้อยละ 33.00) รองลงมาคือ เลย (ร้อยละ 32.21) และชัยภูมิ (ร้อยละ 31.36)
ภาคตะวันออก
ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 21,550,883.56 ไร่ พบพื้นที่ป่าไม้ 4,726,696.64 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 21.93 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัดมากที่สุด ได้แก่ จันทบุรี (ร้อยละ 32.36) รองลงมาคือ ตราด (ร้อยละ 31.36) และปราจีนบุรี (ร้อยละ 28.57)
ภาคใต้
ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 46,154,901.40 ไร่ พบพื้นที่ป่าไม้ 11,227,760.46 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 24.33 จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัดมากที่สุด ได้แก่ ระนอง (ร้อยละ 53.45) รองลงมาคือ สตูล (ร้อยละ 40.14) และยะลา (ร้อยละ 32.51)
จากข้อมูลการจำแนกพื้นที่ป่าไม้ข้างต้น สรุปได้ว่า ภูมิภาคที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่ภาคมากที่สุดคือ “ภาคเหนือ” ร้อยละ 63.99 รองลงมาคือ “ภาคตะวันตก” ร้อยละ 59.15 ถัดมาคือ “ภาคใต้” ร้อยละ 24.33 “ภาคตะวันออก” ร้อยละ 21.93 “ภาคกลาง” ร้อยละ 21.47 ตามลำดับ และ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มีพื้นที่ป่าไม้เบาบางที่สุด เพียงร้อยละ 15.03
ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้เทียบกับพื้นที่จังหวัดมากที่สุดคือ “แม่ฮ่องสอน” ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ถึงร้อยละ 85.51 รองลงมาคือ “ตาก” ร้อยละ 71.98 และอันดับที่ 3 คือ “อุทัยธานี” ร้อยละ 51.43
ทั้งนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 ได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ที่ควรมีคือ ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ร้อยละ 25 และพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพียงร้อยละ 31.68 เท่านั้น ถือว่ายังมีสัดส่วนไม่ตรงตามเป้าประสงค์
จากข้อมูลแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ได้แสดงข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มสิ่งแวดล้อมโลก ที่มากระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2573 ซึ่งเป็นทิศทางหลักในการพัฒนาของโลก โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยในอนาคต ทำให้ประเทศต้องมีการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาเพื่อรักษา ฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
_
*นิยามพื้นที่ป่าไม้: พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่า เป็นไม้ยืนต้นปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่อง มีขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัส หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และสวนปาล์ม
อ้างอิง
- ป่าไม้ มีประโยชน์กับโลกอย่างไร. www.northernforestalliance.org
- สำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมที่ดิน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. โครงการจัดทำข้อมูลสภาพื้นที่ป่าไม้ปี พ.ศ. 2560-2561. http://forestinfo.forest.go.th
- นโยบายป่าไม้แห่งชาติ โดยกองพัฒนายุทธศาสตร์ และติดตามนโยบายพิเศษ. http://forestinfo.forest.go.th