Kind Journey

ครบรอบ 109 ปี โอนิซิม ปันคราตอฟ: ชาวรัสเซียคนแรกที่ ปั่นจักรยานรอบโลกสำเร็จ!


โอนิซิม ปันคราตอฟ

จักรยานคู่ใจ ความพยายาม ความสำเร็จ
ที่ท้ายที่สุดกลับนำมาซึ่งความตายอันน่าเศร้า
 ⊗


เรื่องราวชีวิตของ “โอนิซิม เปโตรวิช ปันคราตอฟ” (Onisim Petrovich Pankratov, Онисим Петрович Панкратов) นักปั่นจักรยานชาวรัสเซียคนแรกที่ปั่นจักรยานรอบโลกสำเร็จ ชายผู้พาตัวเองและจักรยานคู่ใจไปสู่อีกซีกโลก ความพยายามและความสำเร็จอันน่าทึ่ง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่นักปั่นจักรยานทั่วโลกมาเป็นเวลากว่าร้อยปี แต่จะมีสักกี่คนที่โลกจดจำเขามิใช่ด้วยความสำเร็จ แต่เป็นความตายและการสูญเสีย

โอนิซิม ปันคราตอฟ ปั่นจักรยานคู่ใจไปรอบโลก ไม่มีแม้แต่หนังสือเดินทางเข้าประเทศ ภาษาต่างประเทศก็ไม่รู้จัก พูดได้เพียงภาษาบ้านเกิดเพียงภาษาเดียวเท่านั้น เส้นทางชีวิตของนักปั่นน่องเหล็กที่เข้าออกคุกและโรงพยาบาลเป็นว่าเล่น เนื่องจากการเข้าประเทศผิดกฎหมาย และการหักโหมปั่นจักรยานอย่างไม่หยุดหย่อน นอกเหนือจากปั่นจักรยานรอบโลกแล้ว ความฝันอีกอย่างที่เขาอยากทำ คือ “การบินรอบโลก” แต่ความฝันก็ต้องพังทลายลงไป ท่ามกลางสถานการณ์สงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กำลังเปิดฉากร้อนระอุไปทั่วโลก สงครามที่นำมาซึ่งความสูญเสียและดับฝันของเขาเสียจนสิ้น!


แรงบันดาลใจจากผู้เป็นพ่อ

โอนิซิม ปันคราตอฟ เกิดที่จังหวัดเพนซา (Penza) แคว้นเพนเซนสกายา (Penzenskaya oblast) ประเทศรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1888 จากครอบครัวชาวนาที่ค่อนข้างมีฐานะ ต่อมาในปี ค.ศ. 1896 เขาได้เข้าศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนที่เน้นด้านวิชาการโดยเฉพาะ เมื่อตอนโอนิซิมยังเด็ก บิดาของเขา ปีเตอร์ ปันคราตอฟ (Pyotr Pankratov: Петр Панкратов) ได้อ่านเจอข่าวในหนังสือพิมพ์ว่าทางสมาคมการปั่นจักรยานนานาชาติจะมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่สามารถปั่นจักรยานรอบโลกตามเส้นทางที่กำหนด เนื่องจากบิดาของเขาชอบเล่นกีฬาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นแฟนตัวยงของ อีวาน แมกซิโมวิช โปดดูฟนู (Ivan Maximovich Poddubny, Иван Максимович Поддубный) นักกีฬามวยปล้ำมืออาชีพอีกด้วย จากความหลงใหลในกีฬาเขาจึงผลักดันลูกชายให้ชื่นชอบในกีฬาเช่นกัน เริ่มจากการให้โอนิซิมออกกำลังกายเป็นประจำเมื่อตอนเขายังเด็ก

ต่อมาในปี ค.ศ. 1908 โอนิซิม ย้ายไปที่เมืองฮาร์บิน (Harbin) ประเทศจีน ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่พบหลักฐานว่าทำไมเขาถึงตัดสินใจย้ายไปยังประเทศที่อยู่ห่างไกลบ้านเกิดของเขาคนละซีกโลกอย่างฮาร์บิน เขาใช้ชีวิตในเมืองแห่งนี้สมกับความพยายามของบิดาผู้ปลูกฝังให้รักกีฬามาตั้งแต่เด็ก ที่นี่เขาเป็นหัวหน้าองค์กรกีฬาท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะนักผจญเพลิงผู้กล้าหาญ ประจำหน่วยดับเพลิงฮาร์บินอีกด้วย 

ในปีเดียวกัน หลังจากที่เก็บหอมรอมริบมาเป็นเวลานาน ในที่สุดเขาก็มีเงินมากพอที่จะซื้อจักรยานเสือหมอบแบรนด์ Gritzner ของตัวเองเป็นครั้งแรก ความฝันที่จะปั่นจักรยานรอบโลกเริ่มขยับเข้าใกล้ความจริงขึ้นอีกขั้น แต่เส้นทางการผจญภัยเพียงคนเดียวดูจะโดดเดี่ยวจนเกินไป เขาจึงได้ชักชวนเพื่อนร่วมทางอีกสองคนมาร่วมผจญภัยรอบโลกที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ชาติ และแล้วเส้นทางการผจญภัยก็เริ่มขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1911 จาก Voroninov, Sorokin ไปจนถึง Zeiberg แต่แล้วเพื่อนร่วมทางของเขาก็ได้ถอนตัวออกจากการเดินทางเนื่องจากปัญหาสุขภาพ แม้จะไม่มีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ แต่ก็ไม่อาจหยุดความฝันของโอนิซิมลงไปได้ เขาเริ่มต้นเดินทางอีกครั้งที่เมือง Chita 

ปั่นหนีโจรจนกว่าจะหมดแรง!
 ⊗

“ตอนที่ปั่นจักรยานผ่านมองโกเลียและแมนจูเรีย ผมได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้คนแถวนั้นเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่จะเป็นชาวบูเรียตและชาวมองโกล นอกจากการต้อนรับที่อบอุ่นแล้ว พวกเขายังมอบ ‘ขนมปัง’ ซึ่งเป็นอาหารมื้อพิเศษมาก ๆ ให้แก่ผมอีกด้วย ที่บอกว่าเป็นอาหารมื้อพิเศษ เพราะในพื้นที่แถบนั้นค่อนข้างขาดแคลนอาหารประเภทนี้เลยทีเดียว แต่พวกเขาก็ยังแบ่งให้ผม การเดินทางผ่านเส้นทางนี้ได้มอบประสบการณ์แสนวิเศษให้ผมเป็นอย่างมาก แต่เมื่อเดินทางเข้ารัสเซีย ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปเสียหมด ผมเพิ่งตระหนักได้ว่าการผจญภัยของผมเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง! ”

ระหว่างที่โอนิซิมเดินทางรอบโลก เขาพกหนังสือการเดินทางของเขาไปด้วย หนังสือเล่มนี้ช่วยชีวิตเขาจากชาวไซบีเรียมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เพราะในหนังสือเดินทางจะประทับตรานกอินทรีสองหัว ซึ่งเป็นตราสัญลักษณ์ของรัสเซียเอาไว้เป็นเครื่องยืนยันว่า เขาคือบุคคลที่ไม่ทำอันตรายแก่ใคร ทำให้อย่างน้อยชาวบ้านที่ไม่รู้หนังสือก็สามารถเข้าใจได้ในทันทีว่า ชายคนนี้คือบุคคลที่ทางการรับรอง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมในระหว่างทางหากเขาพบเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อใด ก็มักจะปรี่เข้าไปขอตรารับรองเสียทุกครั้ง แต่ก็ไม่ใช่ทุกครั้งไปที่ตรารับรองจากทางการจะทำให้เขารอดพ้นจากการถูกลอบทำร้าย

เขาจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะกำลังปั่นจักรยาน จู่ ๆ ก็ตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มโจรเสียอย่างนั้น แต่ยังดีที่สามารถเอาตัวรอดมาได้ แม้จะได้รับบาดแผลที่หลังมาก็ตาม เหตุการณ์ขวัญผวานี้ได้เกิดขึ้นอีกครั้งที่ครัสโนยาสค์ (Krasnoyarsk) เขาถูกกลุ่มโจรทำร้ายแต่ก็รอดกลับมาได้อีกเช่นเคย ไม่ใช่เพราะโชคช่วยหรือตรารับรองจากทางการแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะเขาไม่มีเงินแม้แต่รูเบิลเดียวให้โจรปล้น ทรัพย์สินมีค่าเพียงอย่างเดียวที่มีคือ จักรยานเสือหมอบที่นับวันก็เริ่มเสื่อมสภาพลงเรื่อย ๆ ซึ่งไม่ได้เป็นที่ต้องการของกลุ่มโจร เพราะในไซบีเรียไม่มีใครปั่นจักรยาน บางพื้นที่ไม่มีแม้กระทั่งเส้นทางปั่นจักรยานด้วยซ้ำ การถูกกลุ่มโจรดักทำร้ายครั้งนี้ทำให้ต้องใช้เส้นทางตามรางรถไฟ แต่ไม่วายถูกกลุ่มคนงานรถไฟออกมาโห่ไล่อยู่เรื่อย เขาจึงต้องออกมาปั่นจักรยานในตอนกลางคืนแทน

แม้เส้นทางการผจญภัยในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจะดูโหดร้ายไปเสียหน่อย แต่เมื่อเดินทางมาถึงกรุงมอสโก เขาก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากเหล่านักปั่นน่องเหล็กแห่งกรุงมอสโก ทางกลุ่มยังได้มอบอาหาร การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และเงินช่วยเหลือเพื่อให้เขาเดินทางไปยังที่ต่อไปอีกด้วย


มุ่งสู่ยุโรป
 ⊗

การผจญภัยเริ่มต้นอีกครั้งผ่านเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก มหานครที่ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของทวีปยุโรปและโลก ผ่านเคอนิชส์แบร์ค (Königsberg) ปัจจุบันคือคาลินินกราด พุ่งตรงมาเรื่อย ๆ ถึงเบอร์ลิน และแล้วโอนิซิมก็ปั่นข้ามพรมแดนจักรวรรดิรัสเซียในวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1912 แต่เขาพบว่าเส้นทางที่ลงประกาศในหนังสือพิมพ์ปี ค.ศ. 1896 มีนักปั่นคนอื่นทำสำเร็จไปก่อนแล้ว แม้ดูเหมือนความฝันจะพังทลายลงไปต่อหน้า แต่โอนิซิมก็ไม่ได้ลดละความพยายาม ยังคงมุ่งมั่นปั่นจักรยานต่อไปจนกว่าจะพิชิตรอบโลกสำเร็จ ซึ่งเส้นทาง

แต่เส้นทางการเดินทางของโอนิซิมในยุโรปไม่ได้สวยงามอย่างที่หวัง ตอนอยู่ที่ตุรกีเขาถูกตำรวจควบคุมตัว เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเขาคือสายลับรัสเซีย เมื่อมาถึงอิตาลีก็ป่วยเป็นโรคมาลาเรีย โชคดีที่ได้รับความช่วยเหลือจาก เยคาเตรีนา เปซคาวา (Ekaterina Peshkova, Екатерина Пешкова) ภรรยาคนแรกของนักเขียนรัสเซียชื่อดัง แม็กซิม กอร์กี้ (Maxim Gorky, Макси́м Го́рький) หลังจากนั้นเขาก็ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษ และเพื่อที่จะเดินทางไปยังอเมริกาอีกครั้ง เขาได้เข้าร่วมการแข่งขันปั่นจักรยาน และแข่งมวยปล้ำเพื่อหาเงินไปขึ้นเรือกลไฟส่วนข้อมูลเรื่องที่พักของโอนิซิมในสหรัฐอเมริกาไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด มีเพียงบันทึกสั้น ๆ ว่า การเดินทางผ่านอเมริกาเป็นอะไรที่น่าอึดอัดและทรมานกว่าการเดินทางผ่านรัสเซียเสียอีก

โอนิซิมและจักรยานคู่ใจออกเดินทางจากซานฟรานซิสโก ปั่นผ่านญี่ปุ่น และเดินทางไปถึงจีนในวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1913 เขาใช้เวลา 2 ปี 18 วัน ในการปั่นจักรยานกลับไปยังฮาร์บิน ระหว่างทางได้เปลี่ยนยางจักรยานไปถึง 52 เส้น เปลี่ยนยางในจักรยาน 36 ครั้ง โซ่จักรยานอีก 9 เส้น คันเหยียบ 8 อัน อานจักรยาน 4 อัน แฮนด์ 2 อัน ไฟหน้า กระดิ่ง และชิ้นส่วนอื่น ๆ อีกนับครั้งไม่ถ้วน

สิ้นสุดตำนาน
 ⊗

หลังสิ้นสุดการเดินทาง โอนิซิมกลายเป็นคนดังระดับประเทศทันที หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ต่างโหมกระหน่ำเขียนบทความเกี่ยวกับตัวเขาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีแสงสปอร์ตไลท์สาดส่องมาที่เขาทุกหนแห่ง แต่จิตวิญญาณนักผจญภัยก็พร่ำเรียกร้องหา แต่อีกหนึ่งความฝันที่เขายังทำไม่สำเร็จคือ “การบินรอบโลก” ซึ่งตามจดหมายเหตุในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1914 โอนิซิมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนการบินทหารอากาศในเมือง Gatchina ประเทศรัสเซีย ต่อมาในเดือนสิงหาคม จึงได้เข้าประจำการกองพลที่ 12 ทำหน้าที่ขับเครื่องบินฟาร์แมนในสงครามโลกครั้งที่ 1 

ท่ามกลางสมรภูมิรบ โอนิซิมได้กำราบข้าศึกกลางเวหาจนอยู่หมัด ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1914 เขาถูกเครื่องบินฝั่งตรงข้ามยิงตก แต่ก็รอดชีวิตกลับมาได้ราวกับปาฏิหาริย์ ทำให้เขาได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ the Order of Saint George เครื่องราชฯ ทางการทหารที่ทรงเกียรติสูงสุดของจักรวรรดิรัสเซีย โดยได้รับมอบตั้งแต่ชั้นที่ 4 ชั้นที่ 3 และชั้นที่ 2 ตามลำดับ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1915 ได้รับการเลื่อนยศเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1916 เขาได้เข้าร่วมฝูงบินขับไล่ หลังจากนั้นหนึ่งเดือนขณะปฏิบัติภารกิจใกล้เมืองดวินส์ก (Dvinsk) คราวนี้เขาทำหน้าที่เป็นมือปืนประจำเครื่องบิน แต่โชคร้ายที่เขาถูกศัตรูฝั่งตรงข้ามไล่ต้อนยิงจนเครื่องบินเสียการควบคุมและตกลงในที่สุด ปิดฉากตำนานชายผู้พลิกชะตาชีวิตจากนักปั่นบนพื้นราบผู้พิชิตเส้นทางรอบโลก สู่นักบินกลางเวหา ชายผู้ไม่ละทิ้งความฝันแม้แต่ในวินาทีสุดท้ายของชีวิต


ที่มา


เรื่องโดย