Kind Planet

“ป่าพรุควนเคร็ง” ลมหายใจแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ต้นแบบ Carbon Sink ภาคพื้นทวีป

  • ป่าพรุ (Peat Swamp Forest) เป็นป่าดิบชื้นประเภทหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม มีประโยชน์ในการชะลอการไหลของน้ำลงทะเล และเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญของโลก

  • ป่าพรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่ในอำเภอเชียรใหญ่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง มีเนื้อที่ประมาณ 195,545 ไร่ พื้นที่พรุมีประมาณ 86,942 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 29,682,787 ตันต่อเฮกตาร์ สูงกว่าป่าประเภทอื่นถึง 10 เท่า

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) เลือกป่าพรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่นำร่องโครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุ เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน


ในภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ป่าพรุทำหน้าที่เป็นคาร์บอนซิงค์ (Carbon Sink) หรือแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญของโลก นอกจากจะช่วยปรับปรุงสภาพอากาศ รักษาความสมบูรณ์ของดินและน้ำ ป่าพรุยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นแนวกันชนจากภัยธรรมชาติ ป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดิน ป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง และเป็นแหล่งอาหาร แหล่งทำกิน สร้างอาชีพให้กับชุมชนรอบผืนป่า 

ในประเทศไทย ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งมีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุง นับเป็นป่าพรุขนาดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รองจากป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส จากรายงานโครงการสำรวจสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทพรุของประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พบว่า ป่าพรุควนเคร็ง มีลักษณะเป็นพรุน้ำจืดที่ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มริมทะเลสาบ มีบทบาทสำคัญทางธรรมชาติในการกักเก็บน้ำฝน เป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น มีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน เป็นแหล่งวัตถุดิบของงานหัตถกรรม การประมง และการเลี้ยงสัตว์

ด้านนิเวศวิทยาพบพรรณไม้ในป่าพรุรอบทะเลน้อยรวมทั้งสิ้น 260 ชนิด เช่น เสม็ด ทุ้งฟ้า เที๊ยะ สมอทะเล กระท่อมขี้หมู กง ผักกระเฉด และกระจูด เป็นต้น

พบสัตว์ 131 ชนิด จำแนกเป็น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 10 ชนิด เช่น นกกระสาแดง นกยางโทนใหญ่ นกยางโทนน้อย และนกยางควาย, นก 77 ชนิด เช่น นกกระเต็นใหญ่ นกเปล้าคอสีม่วง นกกาเหว่า และนกทึดทือมลายู, สัตว์เลื้อยคลาน 32 ชนิด เช่น เต่าเหลือง ตะพาบ เต่าหับ และจิ้งจกหางหนาม และพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด เช่น กบนา เขียดจะนา กบหนอง และเขียดจิก เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังพบสัตว์ในสถานภาพมีแนวโน้มสูญพันธุ์ 8 ชนิด สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ 2 ชนิด และสถานภาพถูกคุกคามในแหล่งธรรมชาติ 1 ชนิด



สำหรับความสำคัญของป่าพรุคือ สามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสูงกว่าป่าเขตร้อนทั่วไป เนื่องจากมีดินพีต (Peat) หรือดินชั้นหนาที่เป็นแหล่งสะสมของซากพืช ที่มีความหนาตั้งแต่ 1 – 10 เมตร หรือมากกว่านั้น ทำให้สามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าทั่วไป โดยป่าพรุที่มีดินพีตหนา 10 เมตรขึ้นไป จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 5,800 ตันต่อเฮกตาร์ ส่วนพื้นที่ป่าเขตร้อนทั่วไปกักเก็บคาร์บอนได้เพียง 300 – 800 ตันต่อเฮกตาร์‬‬‬

ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme: UNDP) ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุ เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของป่าพรุและมุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของป่าพรุที่มีต่อระบบนิเวศให้แก่ประชาชน 


โดย สผ. และ UNDP เลือกป่าพรุควนเคร็ง เป็นพื้นที่นำร่อง ครอบคลุมเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบ่อล้อ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย พื้นที่รอยต่อเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร พื้นที่พรุในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินสาธารณะ และพื้นที่ป่าชุมชน 3 แห่ง ได้แก่ ป่าชุมชนควนเงิน ป่าชุมชนสวนสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ และป่าชุมชนไสขนุน จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 964,769 ไร่ 

จากผลการประเมินปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บในมวลชีวภาพเหนือผิวดิน และปริมาณคาร์บอนในดิน พบว่า ปริมาณกักเก็บคาร์บอนในป่าพรุควนเคร็ง 464,769 ไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 29,682,787 ตันต่อเฮกตาร์ แบ่งเป็น คาร์บอนในดิน 22,103,431 ตันต่อเฮกตาร์ และคาร์บอนเหนือผิวดิน 7,579,356 ตันต่อเฮกตาร์ ซึ่งถือว่ามีการกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าประเภทอื่นสูงถึง 10 เท่า


ดังนั้น การทำลายพื้นที่ป่าพรุที่มีศักยภาพดูดซับคาร์บอนจะส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศเทียบได้กับการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าพรุควนเคร็งมากกว่า 88 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2562 นั้น สูญเสียพื้นที่ป่าไปเกือบ 5,000 ไร่ ซึ่งการเกิดขึ้นของไฟป่าพรุก่อความเสียหายและลุกลามรวดเร็วกว่าไฟป่าทั่วไป ด้วยลักษณะของป่าพรุที่มีต้นเสม็ด และใบไม้ที่ทับถมจนลึก ทำให้บริเวณผิวดินยังคงมีเชื้อไฟที่พร้อมจะกลับมาปะทุได้ อีกทั้งการดับไฟป่าพรุมีความยากลำบากกว่าการดับไฟป่าทั่วไป เพราะเจ้าหน้าที่ต้องเผชิญกับไฟทั้งในแนวราบและแนวดิ่ง คุกรุ่นคืบคลานไปเรื่อย ๆ 

ดังนั้นการรักษาระบบนิเวศของป่าพรุให้สมดุลและป้องกันไม่ให้พื้นที่ป่าพรุที่เหลืออยู่ถูกทำลายลง จึงเป็นการต่อลมหายใจให้ป่าพรุกลับมาฟื้นฟูคงอยู่เป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้แก่ชีวิตคนในชุมชนลุ่มน้ำต่อไป


ที่มา

  • รายงานโครงการสำรวจสถานภาพพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทพรุ ของประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
  • แฟนเพจชมรมเยาวชนรักษ์ป่าพรุควนเคร็ง. www.facebook.com
  • พื้นที่ชุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ. http://chmthai.onep.go.th

เรื่องโดย

ภาพโดย