Kind Health

“สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร” ตัวการสร้างความเสียหายต่อ ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ


ความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยองค์กรโรคภูมิแพ้โลก หรือ World Allergy Organization (WAO) ประเมินว่า มีประชากรจำนวนไม่ต่ำกว่า 240 ล้านคน จาก 7,500 ล้านคน หรือประมาณ 3.2% เป็นโรคภูมิแพ้ 

ขณะเดียวกัน “สารก่อภูมิแพ้ในอาหาร” (Food Allergen) เป็นหนึ่งในปัญหาการถูกเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Recall) มากที่สุด โดยสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถิติการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศต่าง ๆ ในปี 2562 พบว่า สาเหตุที่มีการเรียกคืนผลิตภัณฑ์อาหารมากที่สุดคือ อันตรายจากฉลากไม่ถูกต้อง คิดเป็นสัดส่วน 49% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการไม่แสดงสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก 

สำหรับสินค้าที่พบสารก่อภูมิแพ้ในอาหารมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อาหารพร้อมทาน อาหารแช่แข็ง และกลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม ซึ่งปี 2562 ไทยถูกเรียกคืนสินค้า 6 รายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การพบสารก่อภูมิแพ้ในผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป โดยผลกระทบทางธุรกิจที่จะเกิดตามมาคือ อาจทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นถูกดำเนินการจากกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศผู้นำเข้า เช่น นำสินค้าออกจากตลาด ตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำลายหรือส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อธุรกิจได้

สินค้าที่พบสารก่อภูมิแพ้ในอาหารมากที่สุด 

  • อันดับ 1 อาหารพร้อมทาน 
  • อันดับ 2 อาหารแช่แข็ง
  • อันดับ 3 กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์นม



รายชื่ออาหารก่อภูมิแพ้ของประเทศต่าง ๆ 

ประเทศไทยสหรัฐอเมริกาสหภาพยุโรปออสเตรเลียญี่ปุ่น
ธัญพืชที่มีกลูเตนธัญพืชที่มีกลูเตนธัญพืชที่มีกลูเตนธัญพืชที่มีกลูเตนธัญพืชที่มีกลูเตน
นมและผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์นมและผลิตภัณฑ์
กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์กุ้ง กั้ง ปู และผลิตภัณฑ์
ปลาและผลิตภัณฑ์ปลาและผลิตภัณฑ์ปลาและผลิตภัณฑ์ปลาและผลิตภัณฑ์ถั่วลิสง
ถั่วลิสงถั่วลิสงถั่วลิสงถั่วลิสงถั่ว Tree nuts
ถั่วเหลืองถั่วเหลืองถั่วเหลืองถั่วเหลืองไข่
ถั่ว Tree nuts ถั่ว Tree nutsถั่ว Tree nutsถั่ว Tree nutsโซบะ
ไข่ไข่ไข่ไข่
สารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppmสารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppmสารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppmสารกลุ่มซัลไฟต์ เท่ากับหรือมากกว่า 10 ppm
หอยและผลิตภัณฑ์หอยและผลิตภัณฑ์
ถั่วลูพินถั่วลูพิน
งาและผลิตภัณฑ์
มัสตาร์ด
ขึ้นฉ่ายและพืชตระกูล


CODEX มาตรฐานจัดการสารก่อภูมิแพ้
เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

สำหรับประเทศไทยมีการกำหนดให้ระบุอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้บนฉลาก โดยกำหนดให้ระบุบนฉลากสินค้าทั้งกรณีที่มีการใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร และกรณีที่มีการปนเปื้อนระหว่างกระบวนการผลิต ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ไว้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2557 เรื่อง การแสดงฉลากอาหารในภาชนะบรรจุ

ด้านรายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า จากการประชุม CODEX Alimentarius Commission 2020 ครั้งที่ 43 มีประเด็นเกี่ยวกับการยกระดับการจัดการความปลอดภัยด้านอาหารที่ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอาหาร ได้แก่ ผู้ผลิตขั้นต้น โรงงานแปรรูป ร้านค้าปลีก และร้านอาหาร โดยเตรียมประกาศมาตรฐานใหม่ เรื่อง “หลักปฏิบัติสำหรับการจัดการสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร” คาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ประมาณปลายปี 2563 หลังจากร่างมาตรฐานใหม่นี้ถูกเสนอให้มีการจัดทำมาตั้งแต่ปี 2560 

โดยสารก่อภูมิแพ้ที่ CODEX ระบุไว้มี 8 กลุ่ม ได้แก่ ธัญพืชที่มีกลูเตน นมและผลิตภัณฑ์นม ไข่ เมล็ดถั่ว (Tree Nuts) ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่มีเปลือกแข็ง (เช่น กุ้ง ปู) รวมถึงสารซัลเฟอร์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า 10 มก./กก.

สำหรับมาตรฐาน CODEX จะแตกต่างจากข้อกำหนดที่เคยมีอยู่ในระบบ GMP/HACCP หรือ Good Manufacturing Practice และ Hazard Analysis and Critical Control Point ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับระดับโลก คือ จากเดิมอันตรายที่กำหนดไว้จะได้แก่ อันตรายทางกายภาพ เคมีและจุลินทรีย์ แต่มาตรฐานใหม่ของ CODEX จะเพิ่มสารก่อภูมิแพ้และกำหนดวิธีการควบคุมสารก่อภูมิแพ้ เช่น การพิจารณาสารก่อภูมิแพ้ในทุกกิจกรรม การกำหนดวิธีการทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องจักร การอบรมพนักงาน ตลอดจนพิจารณากฎหมายของแต่ละประเทศและกลุ่มประชากรที่แพ้สารก่อภูมิแพ้ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การจัดการสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นและครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหาร

อย่างไรก็ตาม แม้ CODEX จะไม่ได้เป็นข้อบังคับทางกฎหมาย แต่หากเกิดกรณีพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ มาตรฐาน CODEX ก็จะถูกหยิบยกมาเป็นเกณฑ์ในการระงับข้อพิพาท นั่นหมายความว่า ผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตอาหารจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์

ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกอาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทาน จึงเป็นกลุ่มที่จะต้องเตรียมรับมือจากประเด็นนี้ เนื่องจากตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อาจจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นต่อการจัดการด้านการปนเปื้อนสารก่อภูมิแพ้ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอาหารส่งออกของไทย อาจไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรฐาน CODEX มากนัก เนื่องจากมีการปฏิบัติตามเกณฑ์ GMP และ HACCP อยู่แล้ว ซึ่งประโยชน์ของมาตรฐานนี้น่าจะตกไปอยู่ที่ผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เนื่องจากจะได้รับการดูแลด้านอาหารปลอดภัยมากขึ้น สะท้อนจากการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารมาจำหน่ายในประเทศ ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ โดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ที่จะทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่นำเข้าจากต่างประเทศให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ทั้ง GMP HACCP รวมถึงมาตรฐาน CODEX ที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย


เรื่องโดย

ภาพโดย