Kind Dine

จากราเมนสู่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เบื้องหลังการสร้างชาติของญี่ปุ่น

“บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เมนูฮิตประจำช่วงสิ้นเดือนที่มนุษย์เงินเดือนคงคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะมีราคาถูก ทำง่าย และยังอิ่มท้องอีก ถือเป็นเมนูทางเลือกแทนอาหารมื้อหลักที่ใครหลาย ๆ คนกินเพื่อให้ต่อชีวิตพออยู่รอดก่อนเงินเดือนจะออก

แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีที่มาอย่างไร และทำไมถึงกลายเป็นมิตรแท้ของชาวกระเป๋าตังค์แห้ง วันนี้ KiNd จะพาไปรู้จักบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างเจาะลึกกัน!

ก๋วยเตี๋ยวจีนตำรับญี่ปุ่น
_

ช่วงศตวรรษที่ 17 ญี่ปุ่นได้ทำการปิดประเทศ เนื่องด้วยนโยบายการต่างประเทศของโชกุน โทคุกะวะ อิเอมิทสึ (徳川 家光) ที่ต้องการปกป้องประเทศจากการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก และเพื่อหลีกเลี่ยงการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของมิชชันนารีชาวสเปนและโปรตุเกสที่เคยเข้าประเทศมาก่อนหน้านี้ นอกจากจะป้องกันไม่ให้คนเข้ามาแล้ว ยังป้องกันไม่ให้คนในประเทศออกไปด้วย ระยะเวลาในการปิดประเทศกินเวลานานกว่า 200 ปี และสุดท้ายญี่ปุ่นได้ทำการเปิดประเทศอีกครั้งในปี ค.ศ. 1858 ทำให้มีวัฒนธรรมจากนานาประเทศทะลักเข้ามาที่ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือวัฒนธรรมอาหารจีน ผนวกกับมีนักศึกษาชาวจีนเข้ามาร่ำเรียนที่ญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้มีภัตตาคารร้านอาหารจีนผุดขึ้นจำนวนมาก ราวกับดอกเห็ดเลยทีเดียว


เดิมทีราเมนนั้นเป็นอาหารจีนที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า “ชูกะ โซบะ (中華そば)” หรือ ”ชินะ โซบะ (支那そば)” ซึ่งทั้งสองชื่อนี้แปลเป็นไทยได้ว่า ก๋วยเตี๋ยวจีน นานวันเข้าก๋วยเตี๋ยวจีนก็ถูกปรุงแต่งด้วยตำรับอาหารญี่ปุ่น จนในต้นศตวรรษที่ 20 ได้มีร้านราเมนร้านแรกเกิดขึ้น นามว่า “ไรไรเคน (来々軒)” ทางร้านได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนมียอดขายกว่า 3,000 ชามต่อวัน! ราเมนได้รับความนิยมเรื่อยมาจนช่วงปี ค.ศ. 1923 ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติจากแผ่นดินไหว ตึกรามบ้านช่องเสียหาย จึงมีการพยายามตั้งร้านขายอาหารสตรีทฟู้ดอย่างง่ายเพื่อประทังชีวิตกันไปก่อน โดยเรียกร้านเหล่านี้ว่า “ยะไต (屋台)” คล้ายกับซุ้มอาหารตามฟู้ดคอร์ทและรถเข็นสตรีทฟู้ดของประเทศไทย ด้วยความที่มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้สามารถจัดสรรพื้นที่ขายอาหารได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ร้านยะไตเหล่านี้จะเปิดขายเพียงไม่กี่เมนู เพื่อให้สะดวกต่อการทำอาหารและสะดวกต่อตัวพ่อค้าเอง ทำให้ร้านยะไตส่วนใหญ่หันมาขายราเมน เนื่องจากใช้วัตถุดิบน้อยนั่นเอง

มาถึงตรงนี้คงอดกล่าวถึงวัตถุดิบของราเมนไม่ได้ ที่ชาวญี่ปุ่นว่ากันว่าราเมนทำง่าย ทำมาจากอะไรกันบ้าง? ส่วนประกอบหลักมี 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ เส้นราเมน น้ำซุป ซอส เครื่องเคียงอย่างหมูและไข่ และปิดท้ายด้วยน้ำมัน

กลายเป็นเมนูแก้ปัญหาปากท้อง
_

ในปี ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ฝ่ายอักษะและประเทศญี่ปุ่นต้องจำนนต่อความพ่ายแพ้ สงครามทำให้ตึกรามบ้านช่องเสียหายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า พื้นที่ทางการเกษตรก็เสียหายไปตาม ๆ กัน ยากที่จะฟื้นฟูในเร็ววัน ส่งผลให้ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาปากท้องอย่างหนัก ประชาชนขาดแคลนอาหารกันถ้วนหน้า ประเทศสหรัฐอเมริกาจึงยื่นมือมาช่วยโดยทำการส่งข้าวสาลีมายังญี่ปุ่น ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคขนมปังเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์

แต่ด้วยการขนส่งที่ล่าช้า ทำให้ทางการญี่ปุ่นต้องออกมาตรการห้ามค้าขายหรือจำหน่ายอาหารโดยเด็ดขาด โดยเกรงว่าจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอแจกจ่ายให้ทุกคน ส่งผลให้แป้งข้าวสาลีและการทำราเมนกลายเป็นเรื่องยาก จนได้กลายเป็นเมนูต้องห้ามถึงกับต้องนำไปขายในตลาดมืดเยี่ยงของผิดกฎหมายอื่น ๆ เลยทีเดียว หากทางการจับได้ว่าใครยังทำราเมนอยู่ละก็… เข้าคุกสถานเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง จึงมี “ยากูซ่า” เกิดขึ้น โดยพวกเขาจะปกป้องพ่อค้าจากพนักงานรัฐ แลกกับการที่พ่อค้าต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้ ต่อมาได้มีการยกเลิกมาตรการนี้ไป ทำให้ราเมนกลับมาเปิดขายอย่างถูกกฎหมายอีกครั้ง


การบริโภคขนมปังที่เพิ่มมากขึ้นของชาวญี่ปุ่นนี้ ทำให้นักธุรกิจชาวไต้หวัน-ญี่ปุ่นนามว่า โมโมะฟุกุ อันโด (安藤 百福) หรือเจ้าของผลิตภัณฑ์เครือ Nissin Foods มองว่า ไม่ว่ายังไงชาวญี่ปุ่นก็ยังคงนิยมทานเมนูเส้นอย่างราเมนมากกว่าขนมปัง เขาจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างมื้ออาหารที่จะดับความทุกข์ยากของปัญหาปากท้อง และได้ริเริ่มนำแป้งสาลีมาผลิตเป็นเส้น จากเดิมที่ชาวญี่ปุ่นบริโภคเส้นโซบะที่ทำมาจาก Buckwheat หรือเมล็ดธัญพืชบักวีท เขาลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง จนในปี ค.ศ. 1958 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกและได้รับเสียงตอบรับจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างดี ผนวกกับการที่ญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน จากช่วงแร้นแค้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สู่ยุคสมัยใหม่ที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นประเทศที่มีการเติบโตรวดเร็วแซงหน้าหลาย ๆ ประเทศ เมื่อเศรษฐกิจได้รับการพัฒนาจนก้าวกระโดดได้เช่นนี้ แน่นอนว่า วิถีชีวิตของผู้คนก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเพื่อตอบรับประเทศที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ และด้วยความที่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสามารถทำเองได้ง่าย แถมยังอร่อย และอยู่ท้อง ส่งผลให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกลายเป็นเมนูขวัญใจของมนุษย์เงินเดือนจากวันนั้นจนมาถึงวันนี้


ถึงแม้ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะขึ้นชื่อว่าเป็นเมนูที่อร่อยและอยู่ท้อง แต่หลาย ๆ คนก็มองว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่มีสารอาหารน้อยเมื่อเทียบกับอาหารทั่วไป ประเด็นนี้ทาง WINA (World Instant Noodles Association) หรือสมาคมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโลกได้ประกาศไว้ในการประชุมเมื่อปี ค.ศ. 2018 ว่าจะพัฒนาให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีโภชนาการที่เหมาะสมและจะตระหนักถึงประเด็นความยั่งยืนมากขึ้น ฉะนั้น ในอนาคตเราจะได้ทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ทั้งอร่อย อิ่มท้อง มีประโยชน์ต่อร่างกาย และเป็นมิตรต่อโลกอีกด้วย!


อ้างอิง

เรื่องโดย

ภาพโดย