“เมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน”
จู่ ๆ กราฟิกสาวชาวโคราชก็รัวตัวอักษรส่งมาไม่ทันให้เราตั้งตัว แต่ดูเหมือนแอปพลิเคชันจะไม่ทันใจเธอเสียเท่าไหร่ ไม่นานหน้าจอโทรศัพท์เราก็ขึ้นชื่อคู่สนทนาในโลกออนไลน์ เธอทวนคำพูดที่เธอพิมพ์มาอีกครั้ง แม้ว่าเธอจะท่องคำขวัญโคราชอย่างตะกุกตะกัก แต่ก็ครบถ้วนทุกกระบวนความ พร้อมกำชับว่า
“เธอต้องเขียนเรื่องเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนให้ได้!”
“เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน?” ด้วยความรู้ทางภูมิศาสตร์ประเทศที่ติดลบอย่างเราต้องบอกเลยว่าไม่รู้จักจริง ๆ แต่เพียงประโยคสั้น ๆ แค่นี้ก็กระตุ้นต่อมความสนใจของเราได้เต็ม ๆ แม้ว่าบทสนทนาของเราทั้งคู่จะไม่เห็นหน้าค่าตา แต่เราก็รับรู้ได้ถึงความจริงจังในน้ำเสียงที่ส่งมาของหญิงสาววัย 20 ต้น ๆ คนนี้ได้อย่างเต็มเปี่ยม
และในวันนี้ KiNd มีโอกาสได้สัมภาษณ์ “คุณทศพร คลังบุญครอง” หรือ “พี่อ๋อย” ผู้สืบทอดกิจการรุ่นที่ 2 ของโรงงานเครื่องปั้นดินเผา “โคราช แสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่”
ทายาทรุ่นสอง
โรงงานเครื่องปั้นดินเผาโคราช แสงสุวรรณ พ็อตเทอร์รี่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นเวลา 25 ปีแล้ว ที่โรงงานแห่งนี้เปิดตัวขึ้น
“ตั้งแต่เปิดโรงงานมาโดยมีม๊าและป๊าคอยขับเคลื่อน เริ่มจากใช้เวลาว่างหลังการทำงาน ทำเครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพเสริม แล้วม๊าก็ทดลองรับเครื่องปั้นดินเผาจากชาวบ้านในพื้นที่แล้วนำไปเสนอที่กรุงเทพดู ปรากฎว่าผลตอบรับค่อนข้างดี พอทำธุรกิจก็เริ่มรู้จักคนเพิ่มขึ้น ด้วยความที่ม๊าจบทางด้านภาษา เลยเริ่มรู้ช่องทางการส่งออกสินค้า และเห็นว่าตลาดต่างประเทศเป็นตลาดที่น่าสนใจ ก็เลยตัดสินใจตั้งบริษัทและโรงงานขึ้นมา” พี่อ๋อยในฐานะทายาทรุ่นสองและสะใภ้กล่าว
จากอาชีพเสริมเริ่มนำมาทำเป็นงานหลัก ใช้เวลาตั้งหลักเล็กน้อยแล้วลุยต่อ
“เราใช้เวลาตั้งแต่เริ่มทำเป็นอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังเลิกงาน นับแล้วก็ประมาณ 2-3 ปี แล้วธุรกิจเราก็เริ่มโตขึ้น แรก ๆ เราไปตระเวนเลือกสินค้าเอง คัดเอง แล้วก็ขนใส่รถกระบะไปนำเสนอลูกค้าที่กรุงเทพเองด้วย ทำให้เราเห็นว่าความต้องการในตัวสินค้าเริ่มมีมากขึ้น เลยกลายเป็นว่า จากเดิมที่เราใช้เวลาว่างหลังเลิกงาน ตอนนี้มันไม่ได้แล้ว เราต้องให้เวลากับมันมากขึ้น ต้องหยุดงานไปทำแบบจริงจัง”
เครื่องปั้นดินเผาดินด่านเกวียนที่อยู่ในตลาดต่างประเทศมา 25 ปี กับการผลักดันของทายาทรุ่นสองเพื่อเจาะตลาดในประเทศ
“ต้องยอมรับเลยว่าเราเน้นตลาดส่งออกร้อยเปอร์เซ็นต์ตั้งแต่เปิดมาประมาณยี่สิบกว่าปี อย่างตลาดยุโรปและอเมริกาก็ประมาณแปดสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว แต่เราก็เห็นว่าตลาดในประเทศก็น่าสนใจไม่น้อย ปีนี้เราก็เลยเริ่มเข้ามาทำในไทยดูบ้าง”
เพราะผลจากโควิด-19 หรือเปล่าคะ? เรายิงคำถามไปแบบโต้ง ๆ
“ส่วนของการส่งออกไม่ได้มีผลกระทบจากโควิดเลยค่ะ ยังคงส่งออกและผลิตได้ตามปกติ” พี่อ๋อยตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
“แต่เพียงแค่ว่าจากช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ม๊าเป็นคนบริหารงาน พอประมาณปี พ.ศ. 2559 ก็เริ่มเปลี่ยนรุ่นบริหาร เลยมีทีมทำงานเข้ามามากขึ้น เลยมีเวลาใส่ใจตลาดในประเทศมากขึ้น”
ความท้าทายของทายาทรุ่นสอง กับการยกระดับคุณภาพสินค้าผ่านวิศวกรรมเซรามิกควบคู่กับภูมิปัญญาชาวบ้าน
“ความยากมันอยู่ตรงที่เราจบบริหารมา แต่การผลิตต้องใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรม เลยเป็นความท้าทายที่เราต้องปรับตัวค่อนข้างมาก เพื่อที่จะเข้าไปเรียนรู้กระบวนการที่เป็นเชิงเทคนิค เป็นเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมจริง ๆ เพื่อที่จะเอามาพัฒนาร่วมกันกับภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรามีอยู่ “
“ส่วนในเรื่องของเนื้อวัสดุ ทางโรงงานได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีแล้วว่า ถ้าเราเปลี่ยนกระบวนการที่ชาวบ้านเขาใช้กันมา เปลี่ยนมาเป็นวิธีการที่ถูกหลักทางวิศวะจะมีผลต่อชิ้นงานเรายังไงบ้าง ซึ่งผลการทดลองก็พบว่าไม่มีผลต่อชิ้นงาน แต่กลับได้ชิ้นงานที่คุณภาพดีขึ้น เป็นรูปแบบที่ถูกต้องขึ้น เนื้อดินก็ดีขึ้นด้วย”
“เมื่อเราเห็นความพยายามของเขา เลยกลายเป็นว่า นี่แหละคือ ‘เป้าหมายของโคราช แสงสุวรรณ’ ที่จะยกระดับแรงงานฝีมือ เพื่อพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานฝีมือให้ดีขึ้นไปด้วย”
งานศิลป
จากช่างปั้นผู้เริ่มจากศูนย์ สู่ช่างศิลปมืออาชีพผู้ส่งความละเมียดละไมไปยังชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของโคราช แสงสุวรรณ
“ชิ้นงานของเราทุกชิ้น เป็นการทำขึ้นมาโดยช่างปั้นที่มีฝีมือ แต่ละคนก็จะมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันไป เราให้โอกาสมาก ๆ ยินดีมาก ๆ ที่จะมีใครเดินเข้ามาแล้วบอกว่า ‘อยากลองทำ’ ทางเรายินดีมาก ๆ ค่ะ เราจะไม่ตัดสินจากครั้งแรกที่เห็น แต่จะให้โอกาสในการพัฒนาฝีมือไปเรื่อย ๆ ตอนนี้ก็เลยมีช่างฝีมือมากถึงร้อยคนแล้ว แต่ละคนก็จะมีความถนัดแตกต่างกันไป อย่างช่วงแรก ๆ อาจจะไม่ถนัดด้านนี้ แต่เมื่อร้อยวันผ่านไป ไม่แน่เขาคนนั้นอาจจะมีฝีมือพัฒนาก้าวกระโดดเลยก็ได้ เราจะตัดสินเขาจากครั้งแรกไม่ได้เลย”
“เหมือนกับว่ามันเป็นทักษะที่ต้องใช้เวลา เราเห็นความมุ่งมั่นของคนคนหนึ่ง เริ่มจากการที่ตอนแรกปั้นดินไม่เป็นทรงเลย จนมาถึงตอนที่เขาสามารถขึ้นรูปได้ภายใน 30 วินาที” พี่อ๋อยเล่าด้วยความตื่นเต้น
“เมื่อเราเห็นความพยายามของเขา เลยกลายเป็นว่า นี่แหละคือ ‘เป้าหมายของโคราช แสงสุวรรณ’ ที่จะยกระดับแรงงานฝีมือ เพื่อพัฒนาผลงานให้ดีขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานฝีมือให้ดีขึ้นไปด้วย”
เครื่องปั้นดินเผาที่ใคร ๆ ต่างก็มองว่ามันก็เหมือนกันหมด
“การเป็นสินค้าทำมือ ก็เปรียบเสมือนกับงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่มองเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนกันไปหมด แต่จริง ๆ แล้วในแต่ละชิ้นมีความแตกต่างที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละชิ้นงานซ่อนอยู่ ซึ่งจุดแข็งของแต่ละชิ้นของโคราช แสงสุวรรณ คือ เรื่องของลวดลายและสีสันที่มีความหลากหลายแบบไม่จำกัด”
“ถ้าได้มาเห็นจริง ๆ จะรู้ได้เลยว่าชิ้นงานแต่ละชิ้นทำมือทั้งหมด กระบวนการแต่ละกระบวนการมันมีเสน่ห์เฉพาะ เรารู้เลยว่าช่างฝีมือของเราต้องใช้เวลาและต้องใช้ทักษะส่วนตัวมากแค่ไหน จนได้มาเป็นชิ้นงานหนึ่งชิ้น ช่างฝีมือที่ขึ้นชิ้นงานของเรา เขาสามารถขึ้นชิ้นงานได้เร็วมาก และออกมาสมบูรณ์แบบด้วย” พี่อ๋อยกล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ
ขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผาแต่ละชิ้นนั้น ต้องบอกเลยว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 7-15 วันเลยทีเดียว เพราะใช้วิธีการดั้งเดิมจากชาวบ้านด่านเกวียนแท้ ๆ อีกทั้งยังต้องพึ่งพาธรรมชาติแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกด้วย
1. การเตรียมดิน – ที่ใช้ดินจากด่านเกวียนโดยเฉพาะ
Photo Credit: Nannapat Mongkolsirawat
2. การขึ้นรูปและการแกะลาย – ช่างปั้นมืออาชีพจากด่านเกวียน
Photo Credit: Nannapat Mongkolsirawat
3. การตากชิ้นงานและการอบชิ้นงาน – ใช้แสงแดดและสายลมตามธรรมชาติเข้ามาช่วยให้ชิ้นงานมีชีวิต
4. การเผา – เผาจากเตาที่ผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน
Photo Credit: Nannapat Mongkolsirawat Photo Credit: Nannapat Mongkolsirawat
5. การทำสีและตกแต่ง – ใช้สีน้ำตามมาตรฐานยุโรป พร้อมส่งต่อสู่มือผู้รักงานฝีมือจากทั่วทุกมุมโลก
Photo Credit: KORAT SANGSUWAN POTTERY
โรงปั้น
เราลองเปิดดูตำแหน่งที่ตั้งของโรงงานผ่านทางกูเกิลแมพ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้เราไม่น้อย เพราะที่ตั้งของโรงงานอยู่ห่างจากตำบลด่านเกวียนกว่า 40 กิโลเมตร ทำให้เราสงสัยว่า ต้องเหนื่อยขนาดไหนในการนำรถไปขนดินถึงด่านเกวียนกันนะ
“อ๋อ โรงงานที่เห็นน่าจะเป็นโรงงานสำหรับทำสีค่ะ” พี่อ๋อยเฉลย
“โรงงานของเราจะมีทั้งหมด 3 ที่ ที่แรกจะอยู่ที่ด่านเกวียนเป็นโรงงานปั้น ขึ้นรูป แกะ เผา และออกมาเป็นของพร้อมทาสี เพื่อส่งไปยังโรงงานแห่งที่สอง สำหรับเพนท์ติงและแพ็กกิง เพราะที่ตั้งโรงงานค่อนข้างสะดวกในการขนส่ง ส่วนโรงงานที่สาม คือ โรงงานที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นโรงงานที่ใช้เครื่องจักรมาทำในแต่ละขั้นตอน จากเดิมที่เราเอาดินมาหมักในหลุมเราก็จะใช้เครื่องมาเพื่อตีดิน เกลี่ย กรองกรวดออก นำมาใช้เพื่อให้วัตถุดิบมีคุณภาพดีขึ้น แต่ก็ยังขึ้นรูปด้วยมือจากช่างด่านเกวียน” พี่อ๋อยเล่า
เทรนด์ปลูกต้นไม้กำลังมา แล้วเครื่องปั้นดินเผามีผลตอบรับอย่างไรบ้างคะ?
“ด้วยกระแสการปลูกต้นไม้ที่มาแรงมากในตอนนี้ เลยทำให้วัยรุ่นหันมาสนใจในเครื่องปั้นดินเผาเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าก็เข้ามาที่โรงงานเข้ามาเยอะเหมือนกัน และโรงงานเราเริ่มเปิดตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย เลยเห็นว่าความนิยมเครื่องปั้นดินเผาในประเทศอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเลยค่ะ”
“บวกกับด่านเกวียนก็ถือได้ว่าเป็นแหล่งเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของประเทศทำให้เครื่องปั้นดินเผาจากด่านเกวียนกระจายไปทั่วประเทศได้ไม่ยาก แล้วยังสามารถเข้าถึงกลุ่มคนทุกกลุ่มได้ไม่ยาก เพราะเขาสามารถซื้อไปตกแต่งสวน ไปจนถึงนำไปประดับตู้โชว์”
ก่อนที่จะจบการสนทนาพี่อ๋อยแอบบอกเราถึงความฝันเล็ก ๆ ที่ดูไม่เล็กเลยทีเดียวสำหรับเรา
“ในอนาคตเราจะเปิดเป็นสตูดิโอเล็ก ๆ ที่จะเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมาลอง ปั้น เผา เป็นโปรเจกต์ของตัวเองขึ้นมา” เราสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงที่มีความสุขของพี่อ๋อย และรับรู้ได้ทันทีว่าในอนาคตสตูดิโอแห่งนี้จะต้องอบอวลไปด้วยมวลแห่งความสุขเป็นแน่
Photo Credit: KORAT SANGSUWAN POTTERY
Photo Credit: KORAT SANGSUWAN POTTERY