Kind Dine

รู้จักเวียดนามผ่าน “เฝอ”

“ชาวเวียดนามกินเฝอเป็นอาหารเช้า เพลิดเพลินกับการกินเฝอในตอนเที่ยง เลือกเฝอเป็นอาหารว่างรองท้องหลังเลิกงาน และแวะกินเฝอร้อน ๆ กับเพื่อนฝูงในยามค่ำคืน”


เมื่อเอ่ยถึง “เฝอ” เรามักนึกถึงอาหารเมนูเส้นที่ดูเรียบง่าย แต่เฝอกลับมีรสชาติอันซับซ้อนอย่างน่าทึ่ง ในประเทศเวียดนาม ตั้งแต่เช้าตรู่เราจะเห็นร้านริมทางเท้าตั้งเรียงรายจนสุดสายตา พ่อครัวจะทำเฝอแบบชามต่อชาม วางเส้นบะหมี่ลงไปแล้วราดด้วยน้ำซุปเดือด ๆ ตบท้ายด้วยเนื้อสัตว์สไลด์บางวางลงไป โรยหน้าด้วยกุยช่ายเพิ่มความหอม คนเวียดนามชอบกินเฝอเป็นอาหารเช้า กลางวัน และเย็น ด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ราคาที่สมเหตุสมผล และรสชาติที่ยอดเยี่ยม ทำให้เฝอเป็นที่นิยมไปทั่วโลก เราสามารถเห็นร้านเฝอได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในแถบโซนยุโรป

“เฝอ” สัญลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และความทรงจำ
_

ประวัติศาสตร์มักถูกแต่งแต้มด้วยเฉดสีต่าง ๆ ตามผู้เล่า ความเป็นมาของเฝอจึงมีเพียงแค่ความเชื่อของผู้คนเท่านั้น บ้างเชื่อกันว่าเฝอมีต้นกำเนิดมาจากริมถนนในกรุงฮานอย บ้างเล่าว่าเป็นที่รู้จักตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 ในช่วงสงครามโลก มีการนำเข้ามาโดยประเทศฝรั่งเศส และผ่าน การหลอมรวมวิธีการทำอาหารระหว่าง ฝรั่งเศส จีน และเวียดนามเข้าด้วยกัน แม้ว่าความเป็นมาของเฝอจะไม่แน่ชัด แต่เฝอก็นับเป็นอาหารที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเวียดนามมาโดยตลอด

แอนเดรีย เหงียน เจ้าของผลงานหนังสืออย่าง Into the Vietnamese Kitchen และ The Pho Cookbook กล่าวว่า ต้นตำรับของเฝอเดินทางมาพร้อมกับการอพยพหนีคอมมิวนิสต์ของชาวเวียดนามทางตอนเหนือ ในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 แน่นอนว่าวัฒนธรรมได้เดินตามผู้คนไปทุกที่ เฝอจึงเป็นที่รู้จักได้รับความนิยมในที่สุด

ด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง ในปี ค.ศ. 1954 ประเทศเวียดนามถูกแบ่งแยกเป็น 2 ฝั่ง เป็นเหตุให้เฝอถูกพัฒนาเป็น 2 สูตร ในสูตรแรก คือสูตรต้นตำรับจากเวียดนามเหนือ (เมืองฮานอยในปัจจุบัน) ยังคงความหวานและรสชาติของวัตถุดิบเอาไว้ ไม่มีการปรุงแต่งเพิ่มเติมจากซอสแต่อย่างใด ทั้งยังมีสมุนไพรอย่างกานพลู อบเชย และโป๊ยกั๊ก ที่ช่วยชูรสชาติให้กลมกล่อม ด้วยกรรมวิธีเหล่านี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ และความเรียบง่ายของชาวเวียดนามทางตอนเหนือได้เป็นอย่างดี ในสูตรที่สอง คือสูตรของชาวเวียดนามใต้ (เมืองโฮจิมินห์ในปัจจุบัน) เส้นบะหมี่จะมีความบางมากยิ่งขึ้น มีการเติมผักและสมุนไพรหลากชนิดเพิ่มลงไป ในส่วนของรสชาติจะมีการเติมซอส Hoisin และซอสพริกลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ เฝอจึงมีความหวานจากซอส และเผ็ดจัดจ้านจากเครื่องเทศมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

คุณประโยชน์ที่มากกว่าความอร่อย
_

เฝอไม่เพียงแต่มีความอร่อย ในด้านโภชนาการอาหาร เฝอมีคุณประโยชน์ครบครัน เส้นบะหมี่ที่ทำจากข้าวเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตชั้นดี น้ำซุปที่เคี่ยวด้วยกระดูกของเนื้อวัว ไก่ หรือหมูนั้นดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เฝอจะเสิร์ฟพร้อมกับผักหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น หัวหอมที่มีสรรพคุณป้องกันโรคมะเร็ง ผักชีช่วยเรื่องระบบการทำงานของกระเพาะอาหาร แก้หวัด แก้บิด ไปจนถึงช่วยเรื่องโรคริดสีดวง สะระแหน่ช่วยขับลม ถอนพิษไข้ และโหระพาช่วยขับเสมหะ ทั้งยังทำให้รสชาติที่ได้อร่อยกลมกล่อม เป็นต้น ด้วยคุณค่าทางโภชนาการอาหารสูง เฝอจึงเป็นที่ชื่นชอบของชาวเวียดนามเป็นอย่างมาก ร้านขายอาหารส่วนใหญ่มักจะเป็นร้านตามข้างถนน รถเข็นคันน้อยใหญ่ถูกเรียงรายตามขอบฟุตพาท โดยเปิดขายตั้งแต่เช้าตรู่จนถึงเที่ยงคืน เราจะเห็นชาวเวียดนามกินเฝอเป็นอาหารเช้า เที่ยง หรือเย็นได้เป็นปกติ ชาวเวียดนามเชื่อว่า “การกินเฝอเป็นเหมือนการจิบชา” เพราะสามารถบรรเทาความกระหาย ทั้งยังช่วยฟื้นฟูสุขภาพกายและใจได้

จากอาหารประจำชาติสู่ ความนิยมทั่วโลก
_

ประเทศเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลก ส่งผลให้มีการเข้ามาของนักลงทุนและนักธุรกิจเป็นอย่างมาก อีกทั้งชาวเวียดนามเริ่มมีการเดินทางออกนอกประเทศ บ้างไปเป็นแรงงาน บ้างไปตั้งหลักปักฐาน จึงเป็นเหตุให้วัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ของชาวเวียดนามเริ่มเป็นที่รู้จัก รวมไปถึงอาหารที่เป็นความภาคภูมิใจอย่าง “เฝอ” ได้ถูกถ่ายทอดสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเมืองหนาวอย่างแถบยุโรปและอเมริกา

ในปี ค.ศ. 2002 เฝอได้รับการเสนอชื่อให้เป็น “next Asian dish of the day” โดย Los Angeles Times และได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งใน 40 อาหารที่ต้องลองที่สุดในโลกโดยนิตยสาร Business Insider อีกด้วย


“เฝอ” อาหารธรรมดาที่แฝงไปด้วยความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวเวียดนาม เอกลักษณ์เหล่านี้ทำให้เฝอกลายเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมทั่วโลกในที่สุด


อ้างอิง

เรื่องโดย

ภาพโดย