Kind Sound

ล่ามไร้เสียง: ภารกิจส่งต่อความสนุกในเทศกาลดนตรี สู่กลุ่มผู้บกพร่องทางการได้ยิน


หลายคนอาจจะคุ้นตากับบุคคลในช่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ บริเวณมุมล่างจอเวลาดูข่าวทางโทรทัศน์ แม้ว่าเราจะไม่เข้าใจ หรือไม่ได้สนใจการเคลื่อนไหวของมือ หรือการแสดงท่าทางต่าง ๆ สักเท่าไร แต่หน้าที่ของพวกเขากลับมีความสำคัญอย่างมากต่อกลุ่มผู้บกพร่องทางการได้ยินประมาณ 3 แสนกว่าคนในประเทศไทย

เพราะโลกเราเปี่ยมไปด้วยความหลากหลาย ภาษาที่ใช้สื่อสารก็หลายหลากตามไปด้วย สำหรับสังคมของผู้บกพร่องทางการได้ยินหรือคน “หูหนวก” ก็มีภาษาสากลที่เราใช้ร่วมกันก็คือ “ภาษามือ”  

KiNd ชวนทุกคนเดินทางเข้าสู่โลกแห่งความเงียบ เพื่อทำความรู้จัก และเรียนรู้การใช้ชีวิตของกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมอย่างเข้าใจ 


ภาษามือ (Sign Language) เป็นอวัจนภาษาอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยการสื่อสารด้วยมือ การสื่อสารด้วยร่างกาย และการใช้ริมฝีปากในการสื่อความหมายแทนการใช้เสียงพูด การสื่อสารจะใช้ลักษณะของมือที่ทำเป็นสัญลักษณ์ การเคลื่อนไหวมือ แขนและร่างกาย พร้อมกับการแสดงความรู้สึกทางใบหน้า เพื่อช่วยในการสื่อสารความคิดของผู้สื่อสาร 

ปัจจุบันตามข้อมูลของสมาพันธ์คนหูหนวกโลก (World Federation of the Deaf) พบว่า มีจำนวนคนหูหนวกประมาณ 72 ล้านคนทั่วโลก และมากกว่าร้อยละ 80 อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา


โดยแต่ละเขตประเทศจะใช้ภาษามือแตกต่างกันออกไปกว่า 300 ภาษา เนื่องจากภาษามือมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับภาษาต่าง ๆ ที่ใช้พูดกัน คือมีคำศัพท์ ไวยากรณ์ และกฎระเบียบการเรียงคำแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นภาษามือจึงไม่ได้เป็นภาษาสากลที่คนหูหนวกทุกชาติใช้สื่อสารกันได้ เช่น ความแตกต่างระหว่างภาษามือสากลกับภาษามือไทยนั้น กล่าวคือ ภาษามือไทยการแสดงท่ามือจะสะกดมากกว่าภาษามือสากล เพราะภาษามือไทยจะมีสระและวรรณยุกต์ ส่วนการใช้อักษรภาษาอังกฤษ A-Z ก็จะใช้ตามแบบของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

เนื่องจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการรับรองและส่งเสริมการใช้ภาษามือ ให้ความสำคัญกับภาษามือว่ามีสถานะเท่าเทียมกับภาษาพูด พร้อมกำหนดให้รัฐภาคีต่าง ๆ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ภาษามือ และส่งเสริมเอกลักษณ์ทางภาษาของชุมชนคนหูหนวก โดยทางสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) ได้ประกาศให้วันที่ 23 กันยายนของทุกปี เป็น “วันภาษามือสากล” (International Day of Sign Language) เพื่อสร้างความตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนของคนหูหนวกอย่างเต็มที่


ล่ามภาษามือ: ภารกิจเงียบที่ต้องทำให้ดัง
และสนุกไปพร้อม ๆ กัน 

ถ้าเราต้องการฟังดนตรี คนหูหนวกก็ต้องการเหมือนกัน

“ดนตรี” เป็นศาสตร์และศิลป์อย่างหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์มีความสุข และสนุกไปกับเสียงเพลง อาจจะบอกได้ว่า “ดนตรีไม่มีกำแพงภาษา” เพราะใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ เรียกได้ว่าเป็นการเชื่อมความรู้สึกผ่านจังหวะ ท่วงทำนอง และเนื้อเพลง ทว่าผู้บกพร่องทางการได้ยินที่ต้องการเสพดนตรี แม้ว่าเขาจะสามารถรับรู้ และรู้สึกได้โดยการฟังเพลงผ่านครื่องมือช่วยฟัง หรือความดังของเพลง และแรงสั่นสะเทือนจากเครื่องขยายเสียงก็ช่วยให้รับรู้ดนตรีได้มากขึ้น แต่การจะเข้าถึงเนื้อหาของเพลงที่ศิลปินตั้งใจจะถ่ายทอดออกมานั้นนับว่าเป็นเรื่องยาก

บทบาทของ “ล่ามภาษามือ” ในเทศกาลดนตรีจึงกลายเป็นจุดสนใจไม่น้อยไปกว่านักร้องนำ และถือเป็นบุคคลที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษจริง ๆ เพราะต้องเป็นคนกลางที่ต้องซึมซับตัวตนของศิลปิน พร้อมทั้งถ่ายทอดอารมณ์และความหมายของบทเพลงอย่างมีอรรถรส ไปสู่แฟนเพลงที่บกพร่องทางการได้ยิน ตัวอย่างล่ามภาษามือต่างประเทศในเทศกาลดนตรีที่เป็นที่รู้จัก เช่น

“ฮอลลี มานิแอตตี้” (Holly Maniatty) ล่ามภาษามือชาวอเมริกัน ทุกครั้งที่เธออยู่หน้าเวทีคอนเสิร์ต จะเรียกความสนใจได้ไม่แพ้ศิลปินที่กำลังทำแสดงบนเวทีเลย เมื่อเธอสร้างจุดเด่นจากการใช้ศาสตร์แห่งการสื่อสารด้วยภาษามือ ผสานกับออกท่าทางตามจังหวะดนตรี กลายเป็นลีลาเฉพาะตัวที่ช่วยให้แฟนเพลงผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถสนุกสนานไปกับคอนเสิร์ต ได้ไม่ต่างจากแฟนเพลงทั่วไป ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เวทีมีสีสันกลายเป็นที่กล่าวขาน เธอจึงได้รับโอกาสจากศิลปินชั้นนำมากมาย ให้ร่วมแสดงคอนเสิร์ตในบทบาทของ “ล่ามภาษามือมือโปร” ไม่ว่าจะเป็น Marilyn Manson, U2, Waka Flocka, Snoop Dogg หรือแม้กระทั่ง Eminem

หน้าที่ของเธอคือการสร้างภาษาทางกาย ที่ทำให้ผู้บกพร่องทางการได้ยิน สามารถสนุกไปกับการแสดงคอนเสิร์ตให้มากที่สุด เพื่อที่จะช่วยให้ผู้ชมการแปลภาษามือ เข้าถึงเรื่องราวและความหมายที่คนแต่งเพลงเขียนมันออกมาได้มากขึ้น ฮอลลี มานิแอตตี้ กล่าวว่า

“ฉันต้องแน่ใจว่าฉันสามารถสื่อสารออกไปด้วยภาษามือได้ดีพอเท่าที่ทำได้ ซึ่งการที่ศิลปินหันมาทำงานร่วมกับล่ามภาษามือมากขึ้นในปัจจุบัน ถือเป็นการเปิดโลกให้ผู้ที่ไม่อาจได้ยินเสียงเหมือนคนทั่วไป สามารถเข้าถึงผลงานสร้างสรรค์ของพวกเขาได้มากขึ้นนั่นเอง”


อีกหนึ่งคนที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการภาษามือ คือ “แอมเบอร์ กัลโลเวย์ กัลเลโก” (Amber Galloway Gallego) ล่ามภาษามือชาวอเมริกันที่มีสไตล์ส่วนตัวในการแปลเพลงผ่านภาษามือ และยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ตของศิลปินดังหลายคน ทั้ง Coldplay, Adele, Lady Gaga, Twista และเธอยังนำเพลงดังของศิลปินต่าง ๆ มาแปลภาษามือในช่องยูทูปของตัวเอง เพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินมีโอกาสในการฟังเพลงมากขึ้น เธอได้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงทางอารมณ์ระหว่างเนื้อเพลง และดนตรี ผ่านการเคลื่อนไหวของมือได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้สังคมเห็นว่าไม่มีช่องว่างใด ๆ ที่ผู้บกพร่องทางการได้ยินจะทำร่วมกับคนทั่วไปไม่ได้

แม้จำนวนของล่ามภาษามือจะมีไม่มากนัก แต่จำนวนลูกค้าหูหนวกที่ซื้อบัตรเข้าชมการแสดงดนตรีสดก็ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแฟน ๆ ที่หูหนวกและพิการมากกว่า 3 ล้านคนเข้าร่วมกิจกรรมเทศกาลดนตรีทุกปี และยอดขายตั๋วสำหรับคนพิการก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 ส่วนในประเทศไทยแม้ว่าจะมีจำนวนผู้บกพร่องทางการได้ยินจำนวนไม่มาก ประมาณ 3 แสนกว่าคน ทว่าก็เป็นอีกสังคมหนึ่งที่เราควรตระหนักถึงเช่นกัน สำหรับการเข้าถึงดนตรีที่เป็นดั่งภาษาสากลภาษาหนึ่งของโลก


ที่มา

  • ล่ามภาษามือ-นักแปลของโลกแห่งความเงียบ. www.thai-translating.com
  • ‘ล่ามภาษามือในคอนเสิร์ต’ ช่วยสื่อสารให้คนหูหนวกสนุกกับคอนเสิร์ตได้มากขึ้น. www.fungjaizine.com
  • Richard Brooks. Sign Language Interpreting at Music Events. https://k-international.com/blog
  • ล่ามภาษามือ…นักสื่อสารแห่งโลกเงียบ. https://www.youtube.com
  • 4 ล่ามภาษามือ ผู้เชื่อมโลกแห่งเสียงเพลง สู่ผู้พิการทางการได้ยิน. www.aroundonline.com/sign-language-interpreter

เรื่องโดย