Kind Sound

เพลงโคราช: เพลงพื้นบ้านท่วงทำนองสุดเรียบง่าย สู่การเป็น “โคราชซิ่ง” ที่ปรับเปลี่ยนแนวคิดตามกระแสโลก

~โอ้โอมเอิงเอยเออเอ่ยโอไชย่าจะจิ๊ช๊าถ้าใครมาโคราชเรายินดีต้อนรับให้มาเป็นกองทัพจะต้อนรับอย่างดีไอ้เรื่องนักเลงล่ะทำเก่งวางก้ามคนโคราชไม่ทำเรื่องใจดำละไม่มี~

โคราชขอต้อนรับ – กำปั่น บ้านแท่น


บทเพลงพื้นบ้านถูกเปิดขึ้นกลบเสียงความวุ่นวายจากโลกภายนอกเสียจนสิ้น โดยมีสำเนียงที่ไม่คุ้นหูดังประกอบ ผ่านบทเพลง โคราชขอต้อนรับ ขับร้องโดย “คุณกำปั่น บ้านแท่น” ศิลปินแห่งชาติเพลงพื้นบ้านอีสาน ซึ่งหากคุณกำลังวางแผนจะมาเยือนจังหวัดนครราชสีมาหรือโคราช หมุดหมายที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ที่เว็บท่องเที่ยวมักแนะนำคือ “อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” หรือ “อนุสาวรีย์ย่าโม” อย่างที่หลายคนคุ้นหูกัน

หากใครไม่ได้แวะมากราบไหว้ อาจเรียกได้ว่ายังมาไม่ถึงโคราช จังหวัดที่มีอีกชื่ออย่าง (ไม่) ลับว่าเมืองย่าโมแห่งนี้เลยก็ว่าได้ แต่หากอยากสัมผัสให้ถึงแก่นของความเป็นโคราชแท้ ๆ (โดยไม่ต้องออกเดินทางไปถึงโคราช) และอยากเปิดโลกดนตรีเพลงพื้นบ้านที่ผ่านการขบคิดมาเป็นอย่างดีเพื่อให้เข้ากับโลกสมัยปัจจุบัน

ในขณะที่กำลังอ่านบทความนี้ KIND SOUND อยากแนะนำให้คุณลองเปิด “เพลงโคราชซิ่ง” คลอไประหว่างจมดิ่งอยู่ในโลกของตัวอักษรก็เป็นทางเลือกที่ไม่เลวนัก แม้ว่าท่วงทำนอง คำร้อง จะถูกปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของเวลา แต่สิ่งที่ยังคงเป็นแก่นหลักของเพลงพื้นบ้านที่ชาวโคราชภาคภูมิใจคงหนีไม่พ้น การดึงเสน่ห์ของภาษาถิ่นดั้งเดิมมาใช้ในการขับร้อง

เพลงโคราชเสน่ห์ทางภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวโคราช

ในแต่ละท้องถิ่นย่อมมีภาษาและเอกลักษณ์ของสำเนียงที่แตกต่างกันไป ซึ่งเพลงโคราชได้นำสำเนียงโคราชแท้ ๆ ที่ได้ผ่านการผสมผสานระหว่างภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน และภาษาเขมรเข้าด้วยกันอย่างลงตัว นำมาเรียงร้อยถ้อยคำผ่านคำร้องเพื่อใช้ในการแสดงเพลงพื้นบ้าน

อย่างเพลงโคราช หรือในภาษาโคราชจะเรียกว่า “เพลงก้อม” (ก้อม แปลว่า สั้น) มาเป็นเวลากว่าร้อยปี โดยเพลงโคราชได้มีการปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2456 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดนครราชสีมา 

จากในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยุคสมัยของเพลงโคราชได้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาแล้วถึง 3 ครั้งด้วยกัน โดยเพลงโคราชสมัยแรกหมอเพลงจะเป็นผู้ทำหน้าที่ขับร้องถ่ายทอดเรื่องราวเป็นบทกลอนหรือบทเพลงสั้น ๆ โดยเนื้อหาของเพลงมักจะเป็นการให้ข้อคิด คติสอนใจ และสอดแทรกแนวคิดของสังคมและศาสนา รวมไปถึงชีวิตประจำวัน ผ่านคำร้องที่เป็นภาษาสำเนียงเฉพาะกลุ่ม

นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว เพลงโคราชนับว่าเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์พื้นบ้านโคราชชิ้นสำคัญเลยก็ว่าได้ และนี่จึงทำให้เนื้อหาของเพลงได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คนและสภาพสังคมในสมัยก่อนได้เป็นอย่างดี

ต่อมาเพลงโคราชได้ถูกนำมาใช้สำหรับพิธีกรรมแก้บนแก่ท้าวสุรนารีหรือย่าโม จากความเชื่อที่ว่า เมื่อสมัยที่ท้าวสุรนารียังมีชีวิตอยู่ ในช่วงปี พ.ศ. 2314 –  2395 ท่านชื่นชอบการฟังเพลงโคราชเป็นอย่างมาก การนำเพลงโคราชมาใช้ในพิธีจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งทำให้เนื้อหาของเพลงมีความแตกต่างไปจากในอดีต

จากเดิมเพลงโคราชจะมีเนื้อหาในเชิงคำสอน แต่เมื่อนำมาประกอบในพิธีกรรมแก้บนแล้ว หมอเพลงจึงได้ปรับเปลี่ยนเนื้อหามาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวถึงความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ของท้าวสุรนารีเสียมากกว่า จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากคุณเดินทางมาเยือนโคราชแล้วแวะมาไหว้สักการะย่าโม และหันไปเห็นการแสดงดนตรีพื้นบ้านบริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์ ซึ่งการนำเพลงโคราชมาประกอบพิธีนั้น ทำให้เพลงโคราชที่มีอายุหลายร้อยปีนี้ ยังคงได้รับการรำลึกถึงอยู่เสมอ โดยมีอนุสาวรีย์ย่าโม คุณหญิงผู้ปกป้องบ้านเมืองโคราชมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล ยังคงทำหน้าที่ปกป้องวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวโคราชมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

ปัจจุบันเพลงโคราชได้เดินทางมาถึงยุคของ เพลงโคราชซิ่ง เพลงโคราชยุคใหม่ที่ได้ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยได้อย่างลงตัว ผ่านการนำเครื่องดนตรีสากลมาประกอบในการขับร้อง

จากเดิมที่หมอเพลงให้จังหวะการขับร้องผ่านการปรบมือ แต่เมื่อมาถึงยุคเพลงโคราชซิ่ง การให้จังหวะประกอบเพลงจึงเปลี่ยนมาเป็นการใช้เครื่องดนตรีแทน และขยับจังหวะให้มีความรวดเร็วและสนุกสนานมากยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการปรับตัวให้เข้ากับโลกหลากวัฒนธรรมแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ไม่ละทิ้งรากเหง้าต้นกำเนิดทางภาษาแต่อย่างใด

 
“กำปั่นบ้านแท่นศิลปินแห่งชาติเพลงพื้นบ้านอีสานผู้เปลี่ยนเพลงพื้นบ้านท่วงทำนองเรียบง่ายสู่เพลงโคราชซิ่งจังหวะสนุก ๆ ที่พร้อมปรับเปลี่ยนสู่โลกสมัยใหม่แต่ไม่ละทิ้งจุดเริ่มต้น

แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนผ่านอีกกี่ครั้งก็ตาม แต่เพลงโคราชยังคงดำรงอยู่และไม่จางหายไปตามกาลเวลา ซึ่งการคงอยู่ของเพลงโคราชนับว่าเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญอันแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าโลกจะหมุนเปลี่ยนไปกี่ครั้ง แต่เอกลักษณ์ของเพลงจะยังคงอยู่ และคงไม่ใช่เรื่องกล่าวเกินจริง หากยกเพลงโคราชให้เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมท้องถิ่นทรงคุณค่า ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป 

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการจะสืบสานเพลงพื้นบ้านอย่างเพลงโคราชนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก ด้วยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้เอง เครื่องดนตรีสากลจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากเพลงพื้นบ้านท่วงทำนองสุดเรียบง่าย มาเป็น “เพลงโคราชซิ่ง”


โดยมี คุณกำปั่น ข่อยนอก (ปัจจุบันอายุ 67 ปี) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กำปั่นบ้านแท่น” ศิลปินแห่งชาติเพลงพื้นบ้านอีสาน ผู้ก่อตั้ง “คณะกำปั่น บ้านแท่น กาเหว่า โชคชัย” ที่ได้รวบรวมสมาชิกไว้กว่า 20 คน และได้ทำการชุบชีวิตเพลงโคราชขึ้นมาปรับโฉมใหม่และใส่จังหวะสนุก ๆ เข้ามา เพื่อเพิ่มความสนใจให้แก่คนรุ่นใหม่ได้ฟัง 

แม้ว่าเพลงโคราชจะไม่ได้เป็นที่นิยมเหมือนดั่งเช่นในอดีต แต่อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมท้องถิ่นอันทรงคุณค่านี้ KIND SOUND เชื่อว่าไม่ว่าเวลาจะผันเปลี่ยนไปอีกกี่ยุคกี่สมัย คุณค่าของเพลงโคราชจะยังคงอยู่ พร้อมเผยเสน่ห์เฉพาะและท่วงทำนองที่พร้อมทำให้คุณลุกขึ้นมาโยกตามจังหวะมัน ๆ  ของเพลงโคราชซิ่ง เพลงพื้นบ้านที่เป็นดั่งสะพานเชื่อมคนในโลกเก่ากับคนในโลกปัจจุบันเข้าด้วยกันผ่านเสียงเพลงได้อย่างแนบเนียน


อ้างอิง

  • ณัฐกฤตา นามมนตรี. (2560). วารสารช่อพะยอม ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 (มกราคม – พฤษภาคม). ตำนานเพลงโคราช: นัยยะความสำคัญของภูมิปัญญาไทยในบริบทสังคมไทยร่วมสมัย (ปี พ.ศ. 2557-2558). มหาสารคาม. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
  • นันท์ณภัส มงคลศิรวัฒน์. (2561). “โครงการออกแบบเลขนศิลป์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์จากอัตลักษณ์เพลงโคราช.” ภาคนิพนธ์ศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
  • เบญจพร เจ๊กจันทึก. (2557). “แนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูภูมิปัญญาการแสดงเพลงโคราชแบบดั้งเดิมของจังหวัดนครราชสีมา.” วิทยานิพนธ์ปริญญาหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  • เพลงโคราช. ich.culture.go.th/
  • เพลงโคราช. esanwisdom.kku.ac.th/

เรื่องโดย