Kind National

เครือข่ายรัฐสวัสดิการฯ “หิ้วปิ่นโต” ทวงถามลายเซ็นนายกฯ กรณีความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ (ฉบับประชาชน)

เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 กลุ่มเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกว่า 200 คน จัดกิจกรรม “ปาร์ตี้ปิ่นโต” นัดกินข้าวหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามลายเซ็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้รับรองร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บำนาญแห่งชาติ พ.ศ. …. หลังจากที่นาย นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ส่งร่าง พ.ร.บ. บำนาญฯ ซึ่งเป็นการลงชื่อของประชาชนกว่า 13,000 รายชื่อ เพื่อให้รัฐพิจารณา แต่ยังคงไร้เสียงตอบรับจากรัฐบาลมานานกว่า 5 เดือน 

“หากเรามีบำนาญพื้นฐาน จะเป็นหลักประกันที่ไม่ทำให้ใครต้องล้มละลายจากการไม่มีกิน เมื่ออายุ 60 ปี เป็นเหมือนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในชีวิต เหมือนระบบหลักประกันด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นหลักค้ำทางสังคมอีกเสาหนึ่ง และหากเรามีรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน ก็หวังว่านายกฯ จะเซ็นรับรองกฎหมายนี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้ว่าจะทำบำนาญถ้วนหน้า ก็อยากให้เร่งทำร่างกฎหมายประกบคู่ไปกับร่างของประชาชน” นายนิมิตร์กล่าว

กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาเป็น “บำนาญแห่งชาติ” มอบให้แก่ผู้สูงอายุทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นหลักประกันทางรายได้แบบรายเดือนขั้นพื้นฐาน ผ่านการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการ “หิ้วปิ่นโต” ซึ่งปิ่นโตทั้ง 3 ชั้น จะเป็นการบ่งชี้ถึงความต้องการของประชาชน ดังนี้


ชั้นที่ 1 ข้าว – สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่อยู่คู่ปากท้องสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันปิ่นโตชั้นนี้เป็นอย่างมาก โดยมองวาหากประชาชนปราศจากข้าวตกถึงท้อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานนั้น เหมือนกับการที่ขาดบำนาญพื้นฐานที่ถือว่าเป็น “ฐานความคุ้มครองทางสังคม” ฉะนั้นปิ่นโตชั้นข้าวจึงเปรียบเสมือนบำนาญพื้นฐาน นั่นคือ ผู้สูงอายุทุกคนเมื่ออายุครบ 60 ปี จะต้องได้รับบำนาญพื้นฐานรายเดือนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน และมีการปรับเปลี่ยนตามภาวะเศรษฐกิจ

ชั้นที่ 2 กับข้าว – การรับประทานข้าวโดยปราศจากกับข้าวก็ดูกระไรอยู่ ดังนั้นปิ่นโตชั้นกับข้าวจึงเป็นการเพิ่มรสชาติของปิ่นโตชั้นข้าวให้มีความกลมกล่อมมากยิ่งขึ้น โดยปิ่นโตชั้นกับข้าวเปรียบเสมือนการเข้าสู่ระบบตลาดแรงงาน เป็นช่วงวัยทำงานที่มีรายได้เป็นของตนเอง และรัฐได้ออกกฎหมายให้ประชาชนบางกลุ่มต้องสะสมเงินเข้ากองทุนและรัฐร่วมสมทบ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นบำนาญรายเดือน เช่น การบังคับออมของข้าราชการเข้ากองทุน กบข. การบังคับออมในประกันสังคม และระบบกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ฉะนั้นเพื่อความมั่นคงในช่วงวัยเกษียณปิ่นโตชั้นกับข้าวจะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้รสชาติของชีวิตผู้สูงอายุมีสีสันมากยิ่งขึ้น

ชั้นที่ 3 ขนมหวาน หากทานคาวแล้วไม่ทานหวานปิดท้ายก็ดูเหมือนจะขาดอะไรไป ดังนั้นชั้นขนมหวานจึงเป็นการเสริมมื้ออาหารมื้อนั้นให้ครบรสมากยิ่งขึ้น ซึ่งปิ่นโตชั้นขนมหวานจะเป็นตัวแทนของความมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยการออมเพิ่มขึ้น “โดยตัวประชาชนเอง” เปรียบเสมือนกับการที่เมื่อมีรายได้เข้ามาก็สามารถแบ่งรายได้ส่วนนั้นไปเป็นเงินออมได้อีกทางหนึ่ง เพื่อเพิ่มความมั่นคงในช่วงวัยเกษียณ

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมารับหนังสือ ข้อเสนอบำนาญ จากภาคประชาชน ที่บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล โดยนายจุรินทร์ กล่าวว่า ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาล และอีกฐานะหนึ่งคือในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ความต้องการดังกล่าวของประชาชนสอดคล้องกับนโยบายพรรคมาโดยตลอด เพราะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็เริ่มในรัฐบาลของพรรคตน และจะรับเรื่องไปส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง ได้พิจารณาดำเนินการในกระบวนการต่อไป

ทั้งนี้การเคลื่อนไหวดังกล่าวของประชาชน จะสามารถส่งเสียงไปถึงนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ คงต้องรอติดตามต่อไป 


ที่มา


เรื่องและภาพโดย