Kind National

โควิด-19 ตัวเร่งทลายกันชนทางการเงิน พร้อมเสนอ 2 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

ดร. เดชรัตสุขกำเนิดนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์เผยผลสำรวจครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กันชนทางการเงินมีน้อยลงครัวเรือนรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนหากรัฐไม่เร่งพิจารณาพ.ร.บ. บำนาญแห่งชาติ 

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ พร้อมด้วย ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว “ทุกข์ถ้วนทั่ว ต้องอุดรอยรั่ว ด้วยรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า”  ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนในหัวข้อ “แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19” จากการรวบรวมข้อมูลสอบถามทางออนไลน์จากประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั้งสิ้น 1,998 คนทั่วประเทศ ในระหว่างวันที่ 14-24 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยมี 4 ประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

1. ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อกันชนทางการเงินของประชาชน

จากการสำรวจที่จัดทำโดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่มีงานทำมากถึงร้อยละ 70 มีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เป็นผู้ว่างงาน และเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน สำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,371 บาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายได้จากการทำงานร้อยละ 71 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้รายได้ของครัวเรือนผู้ตอบแบบสอบถามเทียบกับรายจ่ายในครัวเรือนลดลงมากถึงร้อยละ 25 ขณะที่ครัวเรือนร้อยละ 45 มีรายได้ใกล้เคียงกับรายจ่าย ครัวเรือนอีกประมาณร้อยละ 25 มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ และครัวเรือนร้อยละ 6 แทบไม่มีรายได้เลย 

ส่งผลกระทบต่อ “กันชนทางการเงิน” หรือสินทรัพย์ทางการเงินที่ครัวเรือนมีในการรองรับกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน เพื่อรองรับกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจกันชนทางการเงินของครัวเรือนร้อยละ 19 พบว่า อยู่ได้ไม่เกิน 1 เดือน ขณะที่ครัวเรือนร้อยละ 36 ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีกันชนทางการเงินรองรับไม่เกิน 1-3 เดือน ครัวเรือนร้อยละ 20 มีกันชนทางการเงิน 4-6 เดือน และครัวเรือนที่มีกันชนทางการเงินมากกว่า 1 ปี มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น นอกจากนั้นยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่ไม่ได้ประเมินกันชนทางการเงินอีกร้อยละ 18 

เมื่อนำสถานการณ์กันชนทางการเงินของครัวเรือน ผู้ตอบแบบสอบถามมาเทียบกับระดับรายได้พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 55 ที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/ เดือน มีกันชนทางการเงินเพียง 3 เดือน ส่วนครัวเรือนร้อยละ 40 ที่มีรายได้ 50,000 – 70,000 บาท/ เดือน มีกันชนทางการเงิน ตั้งแต่ 4 เดือนไปจนถึง 1 ปีขึ้นไป และครัวเรือนร้อยละ 60 ที่มีรายได้ 70,000 บาท/ เดือน มีกันชนทางการเงินมากกว่า 1 ปี ขึ้นไป

2. สวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้มีความเพียงพอเหมาะสมทั่วถึงในการรับมือกับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังกล่าวหรือไม่?

เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ครัวเรือนผู้ตอบแบบสอบถามมีรายได้ลดลงร้อยละ 51 ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการที่สถานที่ทำงานถูกปิดมากถึงร้อยละ 28 ขณะเดียวกันครัวเรือนอีกร้อยละ 26 นั้น ไม่สามารถไปทำงานเต็มเวลาได้ จากการที่สถานที่ทำงานถูกปิดตามช่วงเวลาที่รัฐบาลกำหนด ครัวเรือนร้อยละ 14 ถูกเลิกจ้างในช่วงการระบาดของไวรัส อีกทั้งยังพบว่าร้านค้าร้อยละ 10 คู่ค้าไม่สามารถส่งมอบสินค้ามาได้ และสำหรับผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

แม้ว่าสถานการณ์ของไวรัสจะเริ่มมีทิศทางดีขึ้น แต่ยังมีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างและสถานที่ทำงานถูกปิดอยู่ ดังนั้นเพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะยืดเยื้อไปอีกนานเพียงใด แต่ละครัวเรือนจึงได้พยายามลดค่าใช้จ่ายลงไปมากถึงร้อยละ 52 นอกจากนั้นยังได้พยายามหารายได้ทางอื่นเพิ่มเติม เช่น การขอความช่วยเหลือจากรัฐ (ร้อยละ 41) หารายได้เสริม (ร้อยละ 28) จำนำหรือขายสินทรัพย์ (ร้อยละ 22) ขอความช่วยเหลือจากญาติ พี่น้อง (ร้อยละ 13) และกู้เงินนอกระบบ (ร้อยละ 7) ขณะที่ผลสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติเผยว่า มีครัวเรือนที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในรูปแบบสวัสดิการ/ สินค้า และบริการต่าง ๆ เพียงร้อยละ 14 เท่านั้น

นี่จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปรับตัวของประชาชนว่าไม่ได้รอความช่วยเหลือจากรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ยังพยายามหารายได้ทางอื่นเพิ่มเติมอีกเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามความช่วยเหลือจากรัฐที่มาในรูปแบบของสวัสดิการนั้นยังคงไม่ครอบคลุม ทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง

3. ความคิดเห็นต่อระบบสวัสดิการของรัฐในการช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 

รัฐบาลได้มอบสวัสดิการในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำประปา-ค่าไฟ การมอบเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาท การมอบอุปกรณ์ป้องกันโรค รวมไปถึงการแจกถุงยังชีพ และได้ทำการพักการชำระหนี้ลง พร้อมทั้งมอบเงินเยียวยาแก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ประชาชนได้รับการเยียวยาค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 47.2) ได้รับการมอบเงินเยียวยา 5,000 บาท (ร้อยละ 37.0) ได้รับการมอบอุปกรณ์ป้องกันโรค (ร้อยละ 27.3) ได้รับการแจกอาหารและถุงยังชีพ (ร้อยละ 18.8) ได้รับการพักชำระหนี้ (ร้อยละ 12.9) และเกษตรกรได้รับเงินเยียวยา (ร้อยละ 12.7) 

จากสถิติข้างต้นเป็นตัวบ่งชี้ว่า การได้รับสวัสดิการของรัฐในสถานการณ์โควิด-19 นั้น ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐมอบให้ได้เท่าที่ควร เพราะยังมีครัวเรือนไม่ถึงร้อยละ 50 ที่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ และสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการรับการเยียวยาจากรัฐบาล คือ ความยุ่งยากในการลงทะเบียน รวมไปถึงขั้นตอนขอรับความช่วยเหลือ โดยประชาชนร้อยละ 74 มองว่าขั้นตอนที่ใช้ลงทะเบียนมีความยุ่งยากจนเกินไป และหากต้องลงทะเบียนโดยใช้อินเทอร์เน็ตครัวเรือนผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 47 มองว่ายิ่งทำให้การเข้าถึงสวัสดิการของรัฐยากมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เงินเยียวยาที่ควรจะได้รับกลับไม่ได้รับ ทำให้ครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจริง ๆ ไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง 

จากความยุ่งยากในการรับสวัสดิการของรัฐที่มอบให้ในสถานการณ์โควิด-19 และการได้รับเงินเยียวยาอย่างไม่ทั่วถึงนี้เอง ทำให้แนวโน้มของผู้ตอบแบบสอบถาม ร้อยละ 34 ต้องการให้เกิดสวัสดิการถ้วนหน้าโดยมองว่ารัฐควรให้เงินเยียวยาอย่างครอบคลุมกับทุกคนมากกว่าการจำกัดว่าใครควรรับความช่วยเหลือหรือใครไม่ควรได้รับความช่วยเหลือ และประชาชนร้อยละ 47 ให้ความคิดเห็นว่าผู้ที่มีรายได้ประจำเท่าเดิมไม่จำเป็นต้องได้รับเงินเยียวยา ขณะที่ร้อยละ 14 ให้ความเห็นว่ารัฐควรให้การช่วยเหลือเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น มีเพียงร้อยละ 6 เท่านั้นที่เห็นว่ารัฐบาลควรเป็นผู้กำหนดว่าใครคือผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือ

4. การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในสถานการณ์โควิด-19 มีความเหมาะสมหรือไม่? ครัวเรือนผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยกับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพจากเดิมมอบให้ตามช่วงอายุเป็นมอบให้ผู้สูงอายุทุกคน 3,000 บาท/ เดือน

หากพิจารณาตามเส้นความยากจน ซึ่งหมายถึงระดับรายได้ขั้นต่ำสุดที่ทำให้บุคคลหรือครัวเรือนสามารถดำรงชีพอยู่ได้ และหากบุคคลหรือครัวเรือนใดมีระดับรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะถือว่าเป็นผู้ยากจน ของปี พ.ศ. 2562 ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 2,710 บาท/ คน/ เดือน การมอบเบี้ยยังชีพตามช่วงอายุ คือ 600-1,000 บาท/ คน/ เดือน นั้น ดูเหมือนว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบันเท่าใดนัก ซึ่งเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับแบบสอบถามของ ดร. เดชรัต พบว่า ครัวเรือนร้อยละ 88 เห็นด้วยกับการให้รัฐบาลปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้สูงขึ้น

แต่ความคิดเห็นเรื่องการเพิ่มจำนวนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในอนาคตหากร่าง พ.ร.บ บำนาญแห่งชาติ ฉบับประชาชนผ่านนั้น ค่อนข้างมีความแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งครัวเรือนร้อยละ 25 เห็นด้วยกับจำนวนเบี้ยยังชีพที่รัฐบาลมอบให้ตามช่วงอายุ คือ 601-1,000 บาท/ เดือน ขณะที่ครัวเรือนร้อยละ 23 เห็นว่าอัตราเบี้ยยังชีพควรอยู่ในช่วง 1,001-2,000 บาท/ เดือน ครัวเรือนร้อยละ 24 เห็นว่าอัตราเบี้ยยังชีพควรเพิ่มขึ้นเป็น 2,001-3,000 บาท/ เดือน ครัวเรือนร้อยละ 16 เห็นว่าควรเพิ่มอัตราเบี้ยยังชีพเป็น 3,001-5,000 บาท/ เดือน และมีครัวเรือนเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น ให้ความเห็นว่าควรเพิ่มอัตราเบี้ยยังชีพเป็น 5,000 บาท/ เดือน 

ความคิดเห็นเรื่องการเพิ่มจำนวนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นยังสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอายุอีกเช่นกัน หากผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ร้อยละ 30  เห็นด้วยกับการเพิ่มจำนวนเงินเบี้ยยังชีพเป็น 2,001-3,000 บาท/ เดือน และผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี มีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่เห็นด้วยในอัตราดังกล่าว ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปีลงมา ร้อยละ 32  ให้ความเห็นว่าจำนวนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 600-1,000 บาท/ เดือน ซึ่งตรงตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่าจำนวนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามต้องการนั้น ผันแปรไปตามช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม

เสียงของประชาชนที่อยากให้รัฐได้ยิน

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนกลุ่มที่มีความเปราะบางทางการเงินอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/ เดือน ซึ่งมีมากถึงร้อยละ 80 และเป็นกลุ่มที่มีกันชนทางการเงินไม่เกิน 3 เดือน หากเทียบกับสัดส่วนของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีระดับรายได้แตกต่างกัน ตั้งแต่ 10,000 – 70,000 บาท ขึ้นไป และเป็นตัวบ่งชี้ว่าครัวเรือนไทยยังคงขาดความพร้อมในการรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น

จากผลการสำรวจของ ดร. เดชรัต ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ทั่วถึงในการเข้าถึงระบบสวัสดิการรัฐที่มอบให้แก่ประชาชน และนี่จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้เกิดระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าใครคือผู้ที่สมควรได้รับการเยียวยามากกว่ากัน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้นย่อมกระจายอยู่ทุกพื้นที่และแน่นอนว่าความเดือดร้อนที่ได้รับจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบต่อทุกครัวเรือนไม่ได้จำกัดแต่เพียงครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/ เดือนเท่านั้น และการได้รับสวัสดิการของรัฐจึงเป็นสิทธิขึ้นพื้นฐานของประชาชนทุกครัวเรือนที่ควรได้รับสิทธินี้

ทั้งนี้ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ยังชี้ว่า จากการสำรวจดังกล่าว ประชาชนต้องการสวัสดิการแบบถ้วนหน้า จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 2 ข้อ คือ 

1.มาตรการเยียวยาจากรัฐ ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว ควรเป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า 

2. เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งดำเนินการนำร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ซึ่งเป็นสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ ที่ภาคประชาชนเสนอให้เป็นสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เข้าสู่วาระพิจารณาของรัฐสภาโดยเร็ว

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียดผลการวิเคราะห์แบบสำรวจ เรื่องแนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 สามารถอ่านแบบสำรวจเพิ่มเติมได้ที่ คลิกที่นี่