12 Angry Men เรื่องราวของคณะลูกขุน 12 คน ผู้มีสิทธิ์ในการลงคะแนนตัดสินความผิดในคดีเด็กชายวัย 19 ที่แทงพ่อตัวเองเสียชีวิตในบ้านพัก จากคำให้การของพยานที่หนักแน่นและหลักฐานที่แน่ชัด คดีสะเทือนขวัญนี้น่าจะปิดลงโดยง่าย ภายในห้องประชุมคณะลูกขุนระหว่างการลงคะแนนว่าผู้ต้องหามีความผิดหรือไม่มีความผิด เรื่องราวที่ควรจบลงกลับเริ่มขึ้นด้วยหนึ่งเสียงที่แตกต่างของลูกขุนหมายเลข 8
ภาพยนตร์เรื่องนี้จัดเป็นหนังขึ้นหิ้งหรือถึงขั้นต้องดูก่อนตายของใครหลาย ๆ คน เหตุผลไม่ใช่แค่เพราะได้คะแนน IMDb 8.9 กับ Rotten Tomatoes 100% แต่รวมไปถึงวิธีการถกเถียงที่เป็นศิลปะมีชั้นเชิงและประเด็นปัญหาในสังคมที่ทำให้ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่าเรามีความเป็นมนุษย์มากพอแล้วหรือยัง?
การถกเถียงและการโน้มน้าวคือเรื่องเดียวกัน
⋯
เสน่ห์อันดับแรกที่ทำให้ 12 Angry Men ที่ดึงดูดให้ใครหลายคนนั่งดูเรื่องราวในห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ได้ตลอด 96 นาทีคงหนีไม่พ้นวิธีการถกเถียงของตัวละครภายในเรื่อง การนำเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นมักเป็นตัวเลือกแรกเมื่อเริ่มต้นการถกเถียงทั่ว ๆ ไป เช่นเดียวกันกับตัวละครลูกขุนทั้ง 11 ต่างคนต่างพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของตัวเองเพื่อโน้มน้าวให้ลูกขุนหมายเลข 8 เห็นด้วยและเปลี่ยนโหวต ประเด็นที่น่าสนใจคือวิธีการโต้ตอบของตัวละครเอกที่ไม่ได้ใช้วิธีเดียวกัน เขาเลือกที่จะตั้งข้อสงสัยกลับไปว่าข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเหล่านั้น เป็นความจริงและน่าเชื่อถือพอหรือไม่?
Photo Credit: IMDB.com
การโน้มน้าวให้ “เชื่อ” ในสิ่งเดียวกันนั้นยากกว่าการโน้มน้าวให้ “สงสัย” ในสิ่งเดียวกัน แน่นอนว่าลูกขุนหมายเลข 8 ก็มีจุดยืนเหมือนกันกับลูกขุนทั้ง 11 เพียงแต่ไม่ได้ใช้วิธีนำเสนอความคิดของตัวเองแค่อย่างเดียว ตัวละครเอกเลือกรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของคนอื่นก่อน แล้วค่อยมองหาช่องโหว่และโยนคำถามกลับไปแทน เมื่อความสงสัยที่เหมือนกันเกิดขึ้น การหาคำตอบร่วมกันก็ตามมาได้ไม่ยาก
ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนที่สมควรได้รับความเห็นใจจากผู้อื่น
⋯
ภาพยนตร์สะท้อนภาพความจริงของสังคมมนุษย์ ปัญหาการเหมารวมและการแบ่งแยกผ่านการตัดสินของลูกขุนทั้ง 11 “เด็กจากสลัมก็เป็นพวกสร้างปัญหาให้สังคมอยู่แล้วนี่…” ลูกขุนหมายเลข 4 กล่าวขณะโต้เถียงกันเรื่องความผิดของผู้ต้องหา ‘เพราะมาจากชุมชนแออัดจึงไม่แปลกที่จะเป็นอาชญากร’ (จริงหรือ?) ตัวบทหลอกล่อผู้ชมด้วยความผิดร้ายแรงที่สังคมยอมรับไม่ได้อย่างปิตุฆาต (ตามหลักศาสนาพุทธความผิดนี้จัดเป็นระดับอนันตริยกรรมที่ผู้กระทำต้องตกนรกมหาอเวจีขุมที่ลึกที่สุดเลยทีเดียว) ด้วยปูมหลังและข้อกล่าวหาล้วนเสริมแรงอารมณ์ให้ผู้ชมเข้าใจ (เผลอ ๆ อาจจะเห็นด้วย) กับคณะลูกขุนทั้ง 11 ว่าผู้ต้องหาคนนี้ไม่สมควรได้รับความเห็นใจใด ๆ จากใครเลย
Photo Credit: IMDB.com
เราเห็นใจผู้อื่นเพราะเราเป็นมนุษย์
⋯
“ไม่มีความผิด” โหวตเดียวจากลูกขุนหมายเลข 8 นำไปสู่การตั้งประเด็นข้อสงสัยตลอดทั้งเรื่อง ในขณะที่ตัวละครอื่น ๆ เชื่อสนิทใจว่าการตัดสินนี้ถูกต้องสมควรแล้ว ตัวละครเอกได้ตั้งคำถามกลับไปว่า “จะให้ส่งเด็กคนหนึ่งไปตายโดยไม่ได้คิดอะไรก่อนเลย?”
ลูกขุนหมายเลข 8 ไม่เพียงโน้มน้าวลูกขุนคนอื่น ๆ แต่โน้มน้าวผู้ชมไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่การเปลี่ยนผู้ต้องหาให้เป็นผู้บริสุทธิ์ แต่เป็นการหยิบยื่นความยุติธรรมที่โลกใบนี้ไม่เคยให้ มอบความเห็นใจในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่สังคมไม่เคยมองเห็น
“นี่… เด็กคนนี้โตมาในสลัม เสียแม่ไปตั้งแต่เก้าขวบ ต้องไปอยู่บ้านเด็กกำพร้าอีกปีครึ่งระหว่างรอพ่อติดคุกเพราะปลอมเอกสาร มันไม่ใช่วัยเด็กที่ดีเลย เป็นสิบหกปีที่แย่จนดูไม่ได้ด้วยซ้ำ ผมคิดว่าเราต้องชดใช้ให้เขาบ้าง ก็แค่นั้น”
12 Angry Men กำลังบอกกับเราว่าหน้าที่ของมนุษย์ไม่ใช่การตัดสินว่าใครควรหรือไม่ควรได้รับความเห็นใจ แต่หน้าที่ของมนุษย์คือการเห็นใจและเห็นความเป็นคนอย่างเท่าเทียมของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยเล่าผ่านการถกเถียงของตัวละครคณะลูกขุนทั้ง 12 คน ระหว่างการร่วมหาคำตอบตลอดหนึ่งชั่วโมงครึ่งนี้ ก็ได้แต่หวังว่าจาก 12 Angry Men จะเปลี่ยนเป็น 12 Kind Men ในท้ายที่สุด
ที่มา
- Reginald Rose. 12 Angry Men Movie Script. Submitted by acronymous on March 21, 2016. www.scripts.com/script/12_angry_men_58