Kind Words

หนังสือเล่มหนึ่งในสงครามคาบสมุทร ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

หวนระลึกถึงธรรมชาติอันสามัญแห่งสรรพสิ่ง เมื่อ “หนังสือเล่มหนึ่ง” จากห้องสมุดในเกาหลีที่ได้รับการเก็บรักษาไว้ในช่วงสงครามคาบสมุทร ได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิพร้อมนำชีวิตและเรื่องราวแต่หนหลังมาเล่าสู่กันฟัง

ย้อนกลับไปในเดือนกันยายน ปี 1995 ตอนที่ผมอายุ 20 และยังเป็นทหารชั้นผู้น้อยประจำการอยู่ลอนดอน ในช่วง 2 อาทิตย์ก่อนก่อนจะปลดประจำการ จ่าสิบเอกท่านหนึ่งที่กำลังจะไปประจำการอีกที่ได้มาหาผมและเล่าเรื่องราวบางอย่างให้ฟัง

เขาถ่ายทอดความทรงจำในช่วงเดือนมกราคม ปี 1951 ขณะที่ตัวเขาและทหารใต้บังคับบัญชาได้ถูกกองกำลังจีนแดงรุกอย่างหนัก และพยายามถอยร่นออกจากเกาหลี โดยทั้งหมดได้เข้าไปหลบอยู่ในห้องสมุดแห่งหนึ่ง ไม่มีอาหาร ไม่มีน้ำ ส่วนอุณหภูมิภายนอกนั้นหนาวเย็นติดลบ 40 องศา มีเพียงความอบอุ่นของเปลวไฟที่เผาไหม้จากเฟอร์นิเจอร์และหนังสือของห้องสมุดที่ช่วยรักษาชีวิตของพวกเขา

เมื่อโอกาสหนีมาถึง พวกเขาก็พยายามตีฝ่าวงล้อมออกไปอย่างสุดกำลัง ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของการดวลปืนในความมืดสลัว จ่าสิบเอกท่านนี้คิดว่าตนคงไม่มีชีวิตรอดเป็นแน่ แต่ถ้าเขารอด เขาก็อยากจะมีอะไรติดมือไปให้คนอื่นรับรู้ถึงวีรกรรมในครั้งนี้ เขาจึงฉวยหนังสือเล่มหนึ่งติดไปขณะวิ่งหนี

เขารอดชีวิต หนังสืออยู่กับเขา แต่สี่ปีต่อมามันกลับกลายเป็นความทรงจำที่เขาอยากลืม

จ่าสิบเอกผู้นี้ยื่นหนังสือให้ผม ผมจึงเปิดดู: De Ratione communi linguarum & literarum commentarius Theodori Bibliandri (“Theodore Buchmann’s Commentary Concerning the Common Nature of All Languages and Letters”) : อรรถกถาของเธโอดอร์ บุ้คมันน์ เกี่ยวกับธรรมธรรมชาติอันสามัญของภาษาและตัวอักษร: นี่คือชื่อหนังสือที่ปรากฏบนปก ซึ่งพิมพ์ในซูริกในปี 1548 โดยมีคำจารึกว่าเคยเป็นสมบัติของดอกเตอร์ Du Doüet ในช่วงปี 1709 ในหน้าตรงกันข้ามเป็นตราประทับห้องสมุดซึ่งเป็นภาษาเกาหลีที่ผมไม่อาจเข้าใจ รวมถึงเลขทะเบียนหนังสือ 50690

ผมบอกจ่าสิบเอกว่าเขาควรนำหนังสือไปให้ผู้รู้ตีราคา เพราะมันอาจกลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ทำเงินมหาศาลก็ได้ แต่เขาปฏิเสธว่าไม่ได้สนใจเงินทองอะไรทั้งนั้น เขาแค่อยากให้หนังสือเล่มนี้ออกจากชีวิตเขาไป และถ้าผมไม่รับหนังสือนี้ไว้ เขาก็จะโยนมันทิ้ง ผมจึงรับไว้ โดยที่ไม่เคยรู้ชื่อผู้ให้ และไม่ได้เจอเขาอีกเลย

1 เดือนต่อมา หลังจากหมดพันธะทางทหารแล้ว ผมเริ่มเรียนภาษาละติน กรีก ปรัชญา และประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด

ผมนำหนังสือไปให้อาจารย์ของผมดู เขาสนใจ และบอกผมว่าเธโอดอร์ บุ้คมันน์ เป็นนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ชาวสวิสซึ่งเป็นผู้เรียบเรียงและปรับแก้คัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลามฉบับแปลภาษาละตินเล่มแรก อาจารย์ยังย้ำว่าหนังสือเล่มนี้หายาก ผมจึงควรเก็บรักษาให้ดี ดังนั้นผมเลยทำตามคำแนะนำของอาจารย์

วันเวลาล่วงเลยผ่านไปหลายปี ผมกลายเป็นนักเขียน และวันหนึ่งในปี 1974 บรรณาธิการของผมได้มาเยี่ยมพร้อมกับนักวิชาการชาวเกาหลีท่านหนึ่ง ซึ่งภายหลังเขาได้พำนักอาศัยอยู่ในอเมริกาอย่างถาวร ผมจึงนำหนังสือออกมาให้ดูและถามว่าจะส่งหนังสือคืนกลับไปห้องสมุดในกรุงโซลได้อย่างไร บรรณาธิการของผมตอบว่าหนังสือควรจะอยู่กับผม เพราะเขาไม่มั่นใจว่าสถานการณ์ในเกาหลีจะสงบเรียบร้อยพอที่หนังสือเล่มนี้จะอยู่รอดหรือไม่ ผมจึงเก็บหนังสือไว้กับตัวอีกครั้ง

ตอนนี้ผมอายุ 85 แล้ว และยังคงทำงานเขียนอยู่ ผมรู้ดีว่าแม้ถ้อยคำจะอยู่ยืนยง แต่สังขารของผมนั้นไม่ใช่เลย ผมต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งผ่านเข้ามาในชีวิตและเกือบถูกทำลายโดยน้ำมือของผู้ที่เก็บมันไว้ ผมจึงขอคำปรึกษาจากรูเพิร์ต โพเวลล์ รองประธานแห่ง Forum Auctions ซึ่งบอกผมว่าหนังสือเล่มนี้มีค่ามากจริง ๆ แต่เวลาก็ได้ผ่านมานานจนถึงปี 1974 แล้ว มันนานพอที่หนังสือเล่มนี้ควรได้กลับมาตุภูมิเสียที (หมายเหตุ: Forum Auctions เป็นบริษัทประมูลที่เชี่ยวชาญการประมูลหนังสือเก่า เอกสารโบราณ วรรณกรรมแห่งศตวรรษที่ 20 ภาพถ่าย ภาพวาด และงานเขียนประเภทต่าง ๆ มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ)

บทจะง่ายก็ง่าย

ผมแจ้งให้บริษัทขนส่งเดินทางมารับหนังสือ De Ratione communi linguarum & literarum commentarius Theodori Bibliandri ที่บ้านพักไกลปืนเที่ยงของผมในเชชเชอร์ และ 32 ชั่วโมงต่อมาหนังสือเล่มนี้ก็เดินทางถึงกรุงโซล และได้รับการจัดแสดงที่นิทรรศการครบรอบ 70 ปีของสงครามเกาหลี ซึ่งจัดที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ณ กรุงโซล

ที่สุดแล้วศรัทธาก็ได้รับการธำรง ความถูกต้องได้บังเกิด ผมรู้สึกมีความสุข พลางครุ่นคิดว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากสิ่งนี้ เราสามารถเอ่ยอ้างถือสิทธิ์ครอบครองมรดกแห่งวัฒนธรรมจริง ๆ หรือไม่  หรือเราทั้งหมดเป็นเพียงผู้ดูแลชั่วคราวเพื่อส่งต่อชีวิตและเรื่องราวของวัตถุเหล่านี้เท่านั้น 

ผมยกตัวอย่างดอกเตอร์ Du Doüet ที่ปรากฏนามบนปกหนังสือในช่วงเวลา 1709 ท่านคือใคร ท่านอยู่ที่ไหน แล้วหนังสือเล่มนี้เดินทางไปถึงเกาหลีได้อย่างไร ทำไมจ่าสิบเอกผู้นั้นถึงหยิบฉวยมันขึ้นมาจากความมืดมิด ผมเองได้กลายเป็นผู้ดูแลหนังสือเป็นเวลา 65 ปีเต็ม แล้วหลังจากนี้หนังสือจะไปตกอยู่ในมือใครหรือจะไปอยู่ที่ไหน ใครจะรู้…

และในขณะที่เรายังคงปลาบปลื้มแกมพิศวงกับสารพัดเรื่องราวหนังสือก็เดินทางต่อไปตามเส้นทางของมัน

__

*อลัน การ์เนอร์ เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ ผู้ประพันธ์หนังสือหลายเล่มรวมทั้งวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิก อย่าง The Weirdstone of Brisingamen และ The Owl Service


ที่มา