ยอมรับว่าโดยส่วนตัวเลี้ยงเจ้าหมาเป็นหลัก ครั้นได้มาสนิทชิดใกล้แมวเหมียวก็ตอนทำงานแล้วนี่เอง ด้วยออฟฟิศที่พำนักอยู่มีพนักงานแมวอยู่หลายคน ไล่เรียงตั้งแต่อาวุโสขนหงอกฟันแท้เริ่มร่วง ไปจนถึงเด็กเล็กจอมซนฟันน้ำนมเพิ่งหลุด จึงมีโอกาสได้เห็นนิสัยฉบับแมวเหมียวหลายอย่าง ทั้งการชอบย่องเบาขึ้นที่สูง ปีนป่ายส่องนกชมไม้ด้วยท่าทีคล้ายสายลับสวมหน้ากาก แอบจินตนาการลึก ๆ ว่าหากมีสายลับแมวจริง ๆ จะเป็นอย่างไร ไม่รอช้าให้เวลาเดินเอื่อย ลงมือเสาะหาเรื่องเล่าเก่าแก่จนได้พบกับโครงการลับในอดีต อาจต้องพาย้อนเวลาไปไกลไปยังปี 1960 ขณะที่สงครามเย็นคุกรุ่นร้อนรุ่มไปทั่วหนแห่ง อันเป็นจุดเริ่มต้นของแมวเหมียวสายลับตัวจริงเสียงจริง!
*ก่อนอื่นขอยกมือสุดแขนชี้แจ้งไว้ก่อน เราไม่มีความตั้งใจสนับสนุนการทดลองใด ๆ ที่เกี่ยวโยงกับสิ่งมีชีวิตบนโลกทั้งสิ้น เพียงหยิบยกเรื่องราวเมื่อครั้งเก่ามาบอกเล่าให้รับทราบโดยทั่วกัน
แมว สาย ลับ
‷
Photo Credit: Dennis Rowe | BIPs | Hulton Archive | Getty Images Leia mais em
หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อเกิดเป็นความตึงเครียดระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ด้วยความต้องการเดียวกันคือแย่งชิงความเป็นหนึ่งของโลก ทั้งแนวคิดทางการเมือง ความก้าวหน้าด้านอวกาศ รวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ แน่นอนว่าการล่วงรู้ข่าวสารความเป็นไปของอีกขั้ว ย่อมส่งผลดีในการวางแผนรับมือต่อไป สำนักงานวิจัยเทคนิคและพัฒนาของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐอเมริกา (CIA) จึงคิดค้นโครงการลับสุดยอดขึ้นในชื่อ ‘Acoustic Kitty’ ฝึกแมวเหมียวธรรมดาให้กลายเป็นสายลับ
Photo Credit: ededchechine
อาจดูเป็นแนวคิดล้ำสมัยเกินยุค แต่การฝึกฝนสัตว์สายลับในช่วงสงครามถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเห็นว่าสัตว์สามารถทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ อย่างการฝึกฝนนกพิราบให้กลายเป็นกองทัพทิ้งระเบิดของนักจิตวิทยาและนักประดิษฐ์ BF Skinner ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ถูกผลักดันจนนำไปสู่การใช้งานจริงก็ตาม แต่ก็ช่วยเพิ่มความหวังให้เหล่านักพัฒนาได้เป็นอย่างดี วัตถุประสงค์หลักของ CIA คือการสร้างทีมสอดแนม สรรหาสายลับสัตว์ที่ชาญฉลาด สามารถแฝงตัวกลมกลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้อย่างแนบเนียน จึงต้องคัดสรรสัตว์หลากประเภทอย่างถี่ถ้วน คิดคำนวณทวนซ้ำหลายหนจนเหลือตัวเลือกที่ดีที่สุดคือแมวเหมียว ด้วยหูชั้นในสามารถการรับรู้เสียงได้เช่นเดียวกับมนุษย์ ผนวกกับสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็น ชอบสนใจใคร่รู้สิ่งต่าง ๆ เป็นนิสัย ทั้งยังปราดเปรียว ว่องไว ซ่อนตัวเก่งกาจ เรียกได้ว่าคุณสมบัติครบตรงใจทุกข้อ
Photo Credit: shallow-focus-shot-cute-brazilian-shorthair-cat-outdoors | wirestock
ในปี 1962 แมวเหมียวขนสีเทาปนขาวถูกรับเลือกเข้าสู่ Acoustic Kitty ในยุคนั้นยังไม่มีไมโครชิปหรืออุปกรณ์ดิจิทัลเช่นปัจจุบัน CIA จึงต้องคิดหาวิธีติดตั้งไมโครโฟน เสาอากาศ เครื่องส่งสัญญาณ และแบตเตอรีอย่างแนบเนียน หลบเลี่ยงการเป็นเป้าสายตามากเกินไป หลังจากลองผิดลองถูกหลายครั้ง ในที่สุดก็ได้สูตรสำเร็จสำหรับการทดลอง โดยจะฝังเครื่องส่งสัญญาณขนาด 3/4 นิ้วไว้ที่ฐานกะโหลก เสียบไมโครโฟนไว้ในใบหูทั้งสองข้าง และซ่อนเสาอากาศไว้ใต้ขนหนานุ่ม ปรับเปลี่ยนให้เป็นแมวไซบอร์กเต็มตัวเพื่อรอรับการฝึกในขั้นต่อไป
Photo Credit: Ich, dein großer ana loger Bruder, sein verfickter Kater und du Theaterstück von Felicia Zeller
เพราะแมวเท่ากับอิสระ
‷
แม้แมวเหมียวจะถูกฝังเครื่องมือล้ำสมัยในตัว แต่แมวก็ยังเป็นแมวอยู่ร่ำไป ตลอดการฝึกฝนมักจะทิ้งตัวนอนงีบหลับ เดินหนีจากผู้ฝึกเมื่อเบื่อหน่าย ร้องเรียกกินอาหารบ่อยครั้ง และมักจะไม่ตอบสนองต่อคำสั่ง หลังจากเตรียมความพร้อมมายาวนานกว่า 5 ปี แมวเหมียวสายลับก็ต้องลงสู่สนามจริง รถตู้ไร้ป้ายทะเบียนนำแมวเหมียวไปส่งยังถนนวิสคอนซิน เลือกสถานที่ไม่ไกลไม่ใกล้กับสถานทูตโซเวียต ก่อนจะปล่อยแมวเหมียวลงมือสอดส่อง ล็อกเป้าหมายเป็นชายสองคนบนม้านั่งในสวนสาธารณะ ท่ามกลางความพลุกพล่านของเมือง ขณะแมวเหมียวกำลังมุ่งหน้าไปยังเป้าหมาย กลับเฉไฉสนใจสิ่งอื่นแทนตามประสา ก่อนจะวิ่งพรวดไปบนถนน เคราะห์ซ้ำถูกรถแท็กซี่ชนเข้าอย่างจัง ภารกิจปิดจบเร็วเกินคาด เกิดข่าวลือแพร่สะบัดเป็นวงกว้างว่าแมวเหมียวเสียชีวิตในทันที แต่ถูกยืนยันในภายหลังว่ารอดชีวิตเฉียดฉิว แถมยังบาดเจ็บไม่มากนักสมฉายาแมว 9 ชีวิต หลังจากทำการรักษาเสร็จสิ้น แมวเหมียวก็ได้ชีวิตแสนสงบสุขคืนมาอีกครั้ง พร้อมกับโครงการลับที่ถูกพับเก็บในเวลาต่อมา
Photo Credit: Pixabay-Erik Karits
ทาง CIA ประกาศยุติโครงการอย่างเป็นทางการในปี 1967 ด้วยเหตุผลที่เห็นพ้องต้องกันว่า ‘แมวต้องการทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการให้มันทำ’ แม้ต้องสูญงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาไปมากถึง 20 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็นับเป็นความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ อันนำมาสู่ความก้าวหน้าในปัจจุบันได้ไม่น้อย
ที่มา
- Which animal is a better spy—a pigeon or a cat? We actually know the answer. Christian Elliott. www.nationalgeographic.com/premium/article/animal-spy-cat-pigeon-cia-acoustic-kitty-columba-tacana
- The Acoustic Kitty History Thread. Christopher Saunders. https://the-avocado.org/2020/07/28/the-acoustic-kitty-history-thread/
- The Acoustic Kitty Project. Andrei Tapalaga. https://historyofyesterday.com/the-acoustic-kitty-project/
เรื่องโดย
