ความโศกเศร้าของผู้ที่รักเพศเดียวกันและไม่สามารถดำรงชีวิตตามรูปแบบการแต่งงานแบบดั้งเดิมได้นั้น ทวีคูณด้วยความผิดหวังของพ่อแม่ซึ่งมองว่าการแต่งงานคือจุดสูงสุดของความสำเร็จของผู้หญิง และยังได้รับความอับอายและดูถูกจากคนอื่น ๆ อีกด้วย
บทสนทนาไม่สั้นไม่ยาวจากเสี้ยวหนึ่งของเรื่องดอกไม้สีเหลือง หนึ่งในเรื่องสั้นจาก ‘ฮานะ โมโนกาตาริ’ (Hana Monogatari) ผลงานชิ้นเอกของนักเขียนหญิง ‘โนบุโกะ โยชิยะ’ (Nobuko Yoshiya) ผู้ท้าทายขนบเรื่องรักที่ไม่จำกัดขอบเขตไว้เฉพาะชายหญิง จนกลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจสำคัญของการสร้างโชโจมังงะ การ์ตูนสำหรับเด็กสาวที่ยังคงนิยมชมชอบตราบจนปัจจุบัน แต่กว่าจะได้รับคำชมชื่นมื่นนั้นต้องผ่านพ้นอุปสรรคใดบ้าง มาเปิดอ่านเรื่องเล่าเมื่อครั้งเก่าของเธอไปพร้อมกัน
ชีวิตแรกเริ่ม
✎
Photo Credit: © 2004 National Diet Library, Japan
โนบุโกะเกิดในยุคเมจิราวปี 1896 ลูกสาวคนเดียวจากพี่น้องทั้งหมดห้าคน เธอเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูลซามูไรในอดีต ชีวิตเมื่อยังเด็กไม่วายถูกตีกรอบด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยม พ่อและแม่ปลูกฝังอุดมการณ์ ‘ภรรยาที่ดี แม่ที่ฉลาด’ ตามบทบาทที่สังคมญี่ปุ่นคาดหวังไว้ ความต้องการของเธอไม่ว่าเรื่องใดมักไม่เป็นผล แตกต่างกับพี่ชายทั้งสี่ที่ใช้ชีวิตตามใจ ไหนจะความรักที่ได้รับมักเอนเอียงไม่เทียบเท่า เธอมีหน้าที่เดินตามเส้นชีวิตที่ครอบครัวขีดให้เพียงเท่านั้น
Photo Credit: © Creative Common
กระทั่งในปี 1915 โนบุโกะในวัย 19 ปี มุ่งหน้าสู่โตเกียว ก้าวสู่ชีวิตที่เลือกเองในโลกใบใหม่ มองหาสิ่งที่มากกว่าการเป็นภรรยาและแม่ที่ดี เริ่มตั้งแต่ร่วมผลักดันสิทธิและความเท่าเทียมกับนิตยสารเพื่อสตรีแห่งแรกอย่างเซโตะ (Seitō) จุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีของญี่ปุ่น ตีแผ่ประเด็นสังคมมืดดำอย่างไม่เกรงกลัว ตั้งแต่การค้าประเวณี บทบาทของผู้หญิงในชีวิตสมรส ความบริสุทธิ์ก่อนแต่งงาน ไปจนถึงปัญหาการทำแท้ง แน่นอนว่าโนบุโกะได้ผูกมิตรกับเหล่านักเขียนหญิงหัวสมัยใหม่ เธอเหล่านั้นใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องแต่งงาน ตื่นเช้ามาทำงาน ตกเย็นสังสรรค์บ้างตามประสา ชีวิตเฉกเช่นฝันเติมไฟให้เธอนับถือเป็นเยี่ยงอย่าง โนบุโกะตัดสินใจหั่นผมสั้นเช่นชายหนุ่ม สวมกางเกงและเสื้อผ้าใหญ่โคร่ง ดำรงชีวิตแบบไม่พึ่งพาชายใด
ก้าวสำคัญในงานเขียน
✎
นอกเหนือจากบทความเพื่อผู้หญิงแล้ว งานเขียนแรกเริ่มที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักคือเรื่อง ‘ฮานะ โมโนกาตาริ’ หรือในชื่อแปลไทย ‘เรื่องเล่าของดอกไม้’ รวมเรื่องสั้นจำนวน 52 เรื่อง โดยตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ระหว่างปี 1916 ถึง 1924 ในนิตยสารเซโตะ บอกเล่าเรื่องราวความรักระหว่างหญิงสาวหลากหลายรูปแบบ โดยไม่จำกัดไว้เพียงเรื่องราวโรแมนติกของคู่รัก แต่ยังครอบคลุมถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน รักบริสุทธิ์ของแม่กับลูกสาว ด้วยความตั้งใจสื่อสารกับเด็กสาวแรกรุ่น อาจไม่มีฉากลึกซึ้งอย่างการจับมือหรือกอดจูบ เพียงหวังว่าจะช่วยต่อเติมความฝันให้กว้างใหญ่ ราวกับเป็นคู่มือชีวิตบอกเล่าเรื่องรักในบริบทอื่น ๆ ในสังคม ที่ไม่จำเป็นต้องเดินตามขนบเสมอไป แม้ตอนท้ายในทุกเรื่องจะจบลงด้วยความไม่สมหวังก็ตาม
Photo Credit: © 2004 National Diet Library, Japan
ขณะเดียวกันก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการงานเขียนไม่น้อย ยิ่งเมื่อความนิยมแผ่ขยายกว้างไกลเท่าไร ย่อมตีคู่มากับคำวิพากษ์วิจารณ์หลายเสียงเข้าด้วยกัน บ้างกล่าวชื่นชม บ้างตำหนิติฉิน ผนวกกับชีวิตส่วนตัวของเธอถูกเปิดเผย โนบุโกะครองรักกับชิโยะ มอนมะ (Chiyo Monma) หญิงสาวในวัยใกล้เคียงกัน ทั้งคู่จัดงานเลี้ยงฉลองแต่งงานตามธรรมเนียมทั่วไป ก่อนจะรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมในเวลาต่อมา ชีวิตธรรมดาของเธอถูกตัดสินว่าผิดแปลกไปโดยปริยาย
จากเรื่องสั้นสู่โชโจมังงะ
✎
Photo Credit: Kokushokankokai Corporation Ltd. | Yoshiya Nobuko maiden novel Collection 2 | Juvunairu / girl novel | Yoshiya Nobuko
ในปี 1919 โนบุโกะเรียกเสียงฮือฮาอีกครั้งจากผลงานเรื่องสั้น ‘ยาเนอุระ โนะ นิโชโจ’ (Yaneura no Nishojo) แปลเป็นไทยเสนาะหูว่า ‘สองสาวพรหมจารีในห้องใต้หลังคา’ บอกเล่าเรื่องราวของสองเด็กสาวในหอพักหญิงล้วน หนึ่งคนไม่อาจปรับตัวกับคนอื่น ๆ ในหอพัก อีกคนรู้สึกแปลกแยกแตกต่างจากเด็กสาวทั่วไป ทั้งสองจึงใช้เวลาร่วมกันในห้องใต้หลังคารูปสามเหลี่ยม ก่อเกิดความรักบริสุทธิ์ไร้การนิยาม รวมถึงตอนจบของเรื่องที่จบลงด้วยการครองคู่กัน แม้จะมากล้นด้วยคำก่นด่าจากเหล่านักวิจารณ์ แต่กลับเป็นหนึ่งแรงบันดาลในการสร้างสรรค์การ์ตูนแนวโชโจสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
การ์ตูนโชโจฉบับแรก ๆ ปรากฏในช่วงหลังสงคราม แม้จะมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กสาว แต่กลับถูกวาดจากมุมมองศิลปินชายเป็นส่วนใหญ่ มีเส้นเรื่องชีวิตประจำวันดาษดื่นทั่วไป ปะปนกับมุกขำขันเป็นบางครา แต่นั่นก็ไม่อาจชักจูงเหล่าเด็กสาวได้มากนัก กระทั่งเรื่องสั้นของโนบุโกะได้เป็นที่นิยมอย่างล้นหลาม รูปแบบการเขียนโชโจมังงะจึงเริ่มแปรเปลี่ยนตามไป ทั้งการริเริ่มเล่าเรื่องชวนฝัน หรือเพิ่มเรื่องเศร้าเคล้าน้ำตาลงไปมากขึ้น รวมไปถึงแนวการวาดที่พูดถึงเรื่องรักระหว่างเด็กสาว อย่างผลงานของนักวาดการ์ตูนหญิงรุ่นใหม่ ‘คุนิโกะ ซึริตะ’ (Kuniko Tsurita) เล่าเรื่องผู้หญิงในสังคมปิตาธิปไตยในญี่ปุ่น อัตลักษณ์ทางเพศ บุคคลข้ามเพศ และการไม่ระบุเพศของตัวเอง ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเวลานั้นแล้ว ผลงานของเธอแหกขนบการ์ตูนโชโจอยู่ไม่น้อย แต่ก็นับเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนวงการไปอีกขั้น
หากสรุปจบแบบสั้นกินใจ งานเขียนของโนบุโกะกลายเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันงานเขียนสู่โลกกว้าง รวมถึงบอกเล่าแง่มุมชีวิตให้กับเด็กสาวแรกรุ่น ลบภาพเก่า ว่าผู้หญิงจะประสบความสำเร็จหลังจากเป็นภรรยาและแม่เท่านั้น ก่อนการเดินทางของโนบุโกะจะสิ้นสุดลงในปี 1973 นับจากนั้นบ้านหลังเล็กของเธอ ได้ถูกแปรเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ผู้คนเข้าไปเยี่ยมชมตราบจนปัจจุบัน
Photo Credit: Kamakura City Tourist Association Photo Credit: Kamakura City Tourist Association Photo Credit: Kamakura City Tourist Association
ที่มา
- Nobuko Yoshiya, Pioneer of Japanese Lesbian Literature. Clémence Leleu. https://pen-online.com/culture/nobuko-yoshiya-pioneer-of-japanese-lesbian-literature
- Nobuko Yoshiya: Stories of the Bonds Between Women. Bill Lipsky. https://sfbaytimes.com/nobuko-yoshiya-stories-of-the-bonds-between-women/
- Nobuko Yoshiya: 1920s Revolutionary Lesbian Novelist. Rachel Rosenberg. https://bookriot.com/nobuko-yoshiya/
เรื่องโดย
