Kind Journey

ชายผู้ขับเรือมากว่าสามสิบปีกับเรื่องราวชะตาชีวิตที่พลิกผัน เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19



ท้องทะเลสีคราม หาดทรายนุ่มละเอียดสีขาว สายลมที่พัดพาความร้อนของเดือนเมษายน มาปะทะผิวกายผู้คนที่เดินเล่นอยู่ริมหาดอย่างไม่ขาดสาย พร้อมหอบเอากลิ่นไอทะเลขึ้นมาแตะปลายจมูกนี่คือสัญญาณหน้าร้อนที่คนไทยหลายคนคงคุ้นเคย เพราะต้องเผชิญกับอากาศร้อนระอุของเมืองไทยมาตลอดทั้งปี

แต่เดือนเมษายนของทุกปีกลับมีอะไรพิเศษมากกว่านั้น เพราะนี่คือเดือนที่ครอบครัวจะได้กลับมาใช้เวลาร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นเวลานานนับสัปดาห์ แม้ว่าจะเป็นวันหยุดยาวที่มาพร้อมกับอากาศไม่น่าพิสมัย แต่ในปีนี้ดูเหมือนฟ้าฝนจะเห็นใจเลยกระหน่ำสายฝนลงมาไม่ขาดสาย คลายความร้อนกายร้อนใจของใครหลายคนลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ครอบครัวส่วนใหญ่ เลือกใช้เวลาร่วมกันคือ “ทะเล” KiNd Journal อาสาพาคุณไปล่องทะเลกระบี่ อีกหนึ่งทะเลสวยที่ได้รับความนิยมทั้งกับชาวไทยและชาวต่างชาติ และหากจะมาทะเลกระบี่ทั้งที “อ่าวนาง” ก็เป็นจุดท่องเที่ยวที่ห้ามพลาดเด็ดขาด ถ้าพร้อมแล้ว เตรียมชุดว่ายน้ำตัวโปรด โบกครีมกันแดดหนา ๆ แล้วอย่าลืมหยิบแว่นกันแดดสุดชิคติดมือมาด้วย เพราะวันนี้คุณจะต้องขยับขาก้าวออกจากห้องแอร์มาสัมผัสอากาศเมืองไทยในเดือนเมษายนเต็ม ๆ!


การมาเที่ยวเกาะเล็กเกาะใหญ่กลางท้องทะเลกระบี่แห่งนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับไกด์นำเที่ยวมืออาชีพที่อยู่ในวงการนานกว่าสามสิบปีมาช่วยเล่าประสบการณ์ของการเป็น “คนขับเรือ” จนผันตัวเป็น “นายหัว” เจ้าของเรือสี่ลำ แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เดินทางมาเยือน ก็ต้องยอมปล่อยเรือหนึ่งลำให้คนอื่นไปอย่างน่าเสียดาย

ซึ่งอันที่จริงแล้ว เราบังเอิญเจอ “บังบ่าว” ผู้กำลังนั่งอยู่บนเก้าอี้หินอ่อนริมทางเดิน คอยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา (เรียกลูกค้านั่นแหละ) เราก็เป็นหนึ่งในคนที่บังชวนคุย ขณะที่เรากำลังทำหน้าที่เป็นยูทูปเบอร์จำเป็นอยู่

“ไปเที่ยวเกาะมาแล้วเหรอ? เป็นยังไงสวยมั้ย” บังเอ่ยถามเราด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้นในเวลาเที่ยงวัน แน่นอนว่าคำตอบก็คงไม่เกินจากที่บังเคยได้ยินมาตลอด เพราะทะเลกระบี่สวยมากจริง ๆ แม้เราจะเหนื่อยล้าจากคลื่นทะเล แต่ความสวยงามของท้องทะเล ทั้งน้ำที่ใสแจ๋ว ปะการังหลากสี และฝูงปลาตัวจิ๋วที่คอยว่ายน้ำมาทักทายนักดำน้ำหน้าใหม่ไม่ขาดสาย ก็คลายความเหนื่อยล้าของเราลงไปได้เยอะ

เราตอบพร้อมส่งยิ้มตาหยีไปให้บัง ผ่านแมสก์ที่บังรอยยิ้มไปจนหมด และขณะที่กำลังเดินไปขึ้นรถเพื่อหนีอากาศร้อน หลังจากเต็มอิ่มกับทัศนียภาพของเกาะเล็กเกาะน้อยมาเต็มที่แล้ว แต่ดูเหมือนว่าบังจะยังคงรั้งเราด้วยคำพูดอารมณ์ดีอยู่ไม่ขาดสาย เราเลยยุติบทบาทการเป็นยูทูปเบอร์ แล้วผันตัวมาเป็นเพื่อนคุยเล่นของบังชั่วคราว


“ตั้งแต่เกิดโรคโควิด-19 นี้นะ นักท่องเที่ยวหายไปเยอะมาก เมื่อก่อนตอนที่ไม่เป็นโควิด ผมมีเรืออยู่ 4 ลำ แต่ตอนนี้เหลืออยู่ 3 ลำ แล้ว…” บังเล่าด้วยความอัดอั้นใจด้วยภาษากลางติดสำเนียงใต้ พลันทิ้งช่วงบทสนทนาไปชั่วขณะ มีแต่เสียงสายลมและคลื่นทะเล คอยทำหน้าที่ทำลายความเงียบระหว่างเราสองคนเอาไว้


“ผมดูแลมันไม่ไหวแล้ว เพราะว่าไม่มีงาน ดูแลไม่ไหวจริง ๆ” บังเล่า ระหว่างที่เรากำลังคุยอยู่ ก็มีพี่ผู้หญิงเข้ามาถามทางหายายสา หนึ่งในผลงานศิลปะของงาน THAILAND BIENNALE (ไทยแลนด์ เบียนนาเล่) ของคามิน เลิศชัยประเสริฐ ศิลปินชาวไทย ยังไม่ทันจบคำถามบังบ่าวก็บอกทางไปหายายสาอย่างชำนาญ

แต่ในฐานะเด็กกระบี่แท้ ๆ เราเลยเปลี่ยนจากพูดภาษากลางมาคุยภาษาบ้านเกิด ที่ถึงแม้ว่าใครหลายคนจะบอกว่าสำเนียงเรามันเด็กหาดใหญ่ชัด ๆ ก็เถอะ “คนใต้นิ? คนจังหวัดไหร” บังถามด้วยความตื่นเต้น พอเราบอกว่าเป็นคนกระบี่แท้ ๆ บังก็ยิ่งตกใจไปใหญ่ ทำเอาเราอดขำไม่ได้ และดูเหมือนว่าสายเลือดคนบ้านเดียวกันจะทำให้บทสนทนาของเราไหลลื่นมากยิ่งขึ้น

“เนี่ย ทริปที่ตัวเองไปมาฮัน มันเป็นสี่ชั่วโมงใช่มั้ย ของบังก็มีนะ แต่ถ้าวันธรรมดาก็แล้วแต่ลูกค้าเลยว่าอยากไปไหน ไปไหนก็ได้ บังพาไปหมด แต่ไม่เกินบ่ายสามนะ” บังกล่าวยิ้ม ๆ

“ตอนนี้บังไม่ได้ขับเรือแล้ว ให้ลูกน้องดูแลหมด คนขับเขาไม่ต้องลงทุนอะไรเลย บังลงทุนให้เหม็ด ให้เขาใช้แรงงานขับเรือไป ส่วนคนที่จะมาขับเรือได้ก็เป็นคนในเครือญาติพันนั้นแหละ คนที่ว่าเราดูแลได้พันนั้นแล ส่วนสัญญาจ้างฮัน เราไม่มี เราใช้สัญญาใจ” บังกล่าว พร้อมย้ำคำว่า “สัญญาใจ” อีกครั้ง


เราได้แต่นั่งพยักหน้าหงึก ๆ แต่ในหัวก็คิดตลอดว่า การปล่อยให้คนอื่นดูแลนี่ ต้องมั่นใจในตัวคนขับเรือมากแน่ ๆ แล้วถ้ามีอะไรเสียหายล่ะ บังจะรู้ได้ยังไง เหมือนบังรู้ว่าเราสงสัยอะไร บังมองหน้าเราแวบนึงแล้วชี้ไปที่เรือหางยาวเบอร์ 143 ที่ลอยอยู่กลางทะเล “เราปล่อยให้เขาดูแลทั้งหมดก็จริงนะ แต่พอครบสองสามเดือน บังก็ต้องรับภาระ พาเรือขึ้นมาทาสี ทำอะไรใหม่หมด ต้องทำเรือใหม่ในสามเดือนนั้น ต้องซ่อม เช็กเครื่อง เช็กเรืออะไรให้เรียบร้อยพันนั้นแหละ” บังกล่าว

“อย่างเรือของบังฮัน บังอยู่ในสหกรณ์เรือหางยาว สหกรณ์เรือหางยาวของเราจะใส่เสื้อสีเขียว” บังพูดพลางชี้ที่เสื้อแขนยาวสีเขียวเข้มสกรีนเบอร์ 143 เล็ก ๆ เอาไว้บนอกของตัวเอง “เรือในสหกรณ์มีทั้งหมด 151 ลำ คือ 151 ลำมันจะมาอยู่ตรงนี้ทั้งหมด (อ่าวนาง) ถ้าลำไหนมีลูกค้าก็ออกเรือไปเลย แต่ถ้าสมมติว่าลูกค้าจ่ายตังค์ที่คนเรือเอง บังก็จะโทรแจ้งสหกรณ์ว่า เรือของบังออกแล้ว บังจะจ่ายให้สหกรณ์ แต่ถ้าสมมติสหกรณ์เขาขายตั๋วเอง สมมตินะ ลำละ 2,200 บาท เขาก็จะคิดร้อยละ 5 พอครบปี เขาจะมีเงินปันผลให้กับคนขับเรือหลาว”

“แต่ตอนเมื่อก่อนนะ ตอนที่ว่าโรคนี้ยังไม่มา ค่าเสื้อนี้อยู่ที่ตัวละห้าแสน แต่ว่าเดี๋ยวนี้เหลือตัวละประมาณสามแสนสอง สามแสนสาม” บังกล่าวด้วยน้ำเสียงนิ่ง ๆ ในขณะที่เราได้แต่นั่งกะพริบตาปริบ ๆ เพราะไม่คิดว่าค่าเสื้อมันจะแพงขนาดนี้ แต่พอมานึกเปรียบเทียบกับเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ของ กทม. ก็แพงหูฉี่เหมือนกัน เราเลยลดความตกใจลงไปได้บ้าง


เรือหางยาวในจังหวัดกระบี่อยู่ในความดูแลของ 3 หน่วยงาน คือ สหกรณ์ ชมรม และออฟฟิศ “แต่ว่าเดี๋ยวนี้ฮัน เรือที่ไม่มีสังกัดเขาก็วิ่งกันได้แล้ว เขาขับได้ แต่ว่าความพร้อมของเรืออาจจะไม่เท่าเรา”

“ความพร้อมของเรือคือต้องมีทะเบียน ต้องมีใบขับขี่ของคนเรืออะไรให้เรียบร้อยเหม็ด ถ้าไม่อย่างนั้นจะโดนเจ้าท่าตรวจสอบ ส่วนเรือของบังไม่ต้องห่วง เพราะบังทำไว้หมดแล้ว ลูกค้าไม่ต้องกังวล เรามีประกันเรียบร้อย ประกันได้หมด เพราะว่าบังต้องต่อประกันทุกปี ปีนึงก็ตกประมาณสี่พันเหลือ ๆ ต่อลำด้วยนะ บังมีสามลำก็หมื่นสอง ถึงทะเบียนคนขับ ก็ต้องมีเหมือนใบขับขี่ เพราะว่ามันประกอบกันเหม็ดนิ ประกอบด้วยการที่ว่า เรือทะเบียนครบ คนขับมีใบขับขี่ แล้วก็ต้องมีประกัน พอมีประกันเขาก็ไม่แหลงไรแล้วใช่มั้ย ถึงทีนี้เราก็มีครบแล้ว” บังบ่าวเล่า

แต่ดูเหมือนว่าปัญหามันไม่ได้อยู่ที่การซ่อมบำรุงเท่าไหร่นัก เพราะเมื่อบังเอ่ยถึงมาตรฐานที่ผู้ประกอบการเรือหางยาวต้องมีแล้ว สายตาของบังกลับมีอะไรที่อยากพูดมากกว่านั้น

“แต่ว่าอันนั้นมันไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่ เพราะกว่าจะสร้างเรือมาได้มามันแพง ชุดหนึ่งของบังประมาณสามแสนกว่า เฉพาะค่าเรือไม่คิดอะไรเพิ่มนะ อย่างเปลือกเรือ ปาไปแสนสองถึงแสนสี่แล้ว เครื่องยนต์ก็ซื้อมาจากกรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณห้าหมื่นห้า หางเสือหมื่นสอง หลังคาห้าพัน บันได เสื้อชูชีพ รวม ๆ แล้วตกประมาณสามแสนกว่า”

“พอถึงคราวบำรุงครั้งหนึ่งก็แค่ห้าพันกว่าบาท แล้วก็ต้องซ่อมทุกสามเดือน มันเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องทำ ไม่ทำไม่ได้” บังบ่าวกล่าวทิ้งท้าย

หลังจบบทสนทนา ภาพความสวยงามของท้องทะเลกระบี่ที่ทำเอาเราใจเต้นทุกครั้งที่มาเยือน ทั้งภาพท้องทะเลสีคราม หาดทรายสีขาว ต้นมะพร้าว ต้นหูกวางที่พลิ้วไหวไปมา ค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยการมองลึกลงไปมากกว่านั้น เปลี่ยนเป็นภาพคนขับเรือหางยาว ชาวบ้านที่ออกมาประกอบอาชีพท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราใจหายไม่น้อย เพราะนักท่องเที่ยวที่เดินกันอยู่ริมหาดและบนเกาะมีน้อยจนนับจำนวนได้

นี่คือความจริงที่อาจจะไม่สวยงามทั้งหมด แต่หากมาเยือนท้องทะเลกระบี่เมื่อไหร่ ก็อย่าลืมพูดคุยกับคนขับเรือหางยาวดู ไม่แน่ว่าชายผิวดำแดงพลขับประจำเรืออาจจะมีอะไรที่น่าสนใจมากกว่าที่คิดก็เป็นได้

สำหรับผู้ที่สนใจโปรแกรมทัวร์ต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 086-2864178 (บังบ่าว)


เรื่องและภาพโดย