Kind Journey

Baldur: การไม่รู้สึกเจ็บปวดเป็นพรหรือคำสาป?



ตำนานเทพนอร์ส (Norse Mythology) อาจเป็นที่คุ้นเคยของใครหลายคนโดยเฉพาะสายเกมเมอร์ หากยังไม่รู้สึกคุ้น แต่อย่างน้อยต้องเคยได้ยินชื่อ ธอร์ (Thor) เทพเจ้าสายฟ้า และ โลกิ (Loki) เทพเจ้าแห่งการหลอกลวง สองตัวละครจากจักรวาลภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ชื่อดังของค่าย Marvel Studios ที่หยิบเอาตำนานเทพเจ้าจากยุโรปเหนือ มาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวผู้พิทักษ์โลกนั่นเอง

แน่นอนว่าในกลุ่มเทพนอร์สไม่ได้มีแค่เทพเจ้าสายฟ้าและน้องชายไม้เบื่อไม้เมา KiNd WORDS จะพาไปรู้จักกับหนึ่งในเทพองค์สำคัญของตำนานยุโรปเหนือผู้ไม่ได้มาจาก Avengers แต่เป็นเกมชื่อดังอย่าง God of war (2018) ที่หยิบปกรณัมนอร์สมาตีความและสร้างเป็นเรื่องราวในเกม นั่นคือ น้องชายอีกคนของเทพเจ้าสายฟ้า บัลเดอร์ (Baldur) เทพแห่งแสงสว่างและความงาม และปมความเจ็บปวดของเขาที่สำคัญกับมนุษย์อย่างเรา ๆ เช่นกัน

Baldur: Norse Mythology

ตามปกรณัมนอร์ส บัลเดอร์เป็นบุตรของ โอดิน (Odin) และ ฟริกก์ (Frigg) ราชาและราชินีแห่งแอสการ์ด บัลเดอร์เป็นเทพในอุดมคติ คือมีรูปโฉมงดงาม ผู้ใดอยู่ใกล้ก็มีความสุข เป็นที่รักยิ่งของเหล่าทวยเทพในแอสการ์ด ตำนานของเทพผู้สมบูรณ์แบบเริ่มจากการที่บัลเดอร์เริ่มฝันเป็นลางถึงความตายของตนเอง จึงนำไปปรึกษาโอดินและฟริกก์ เพื่อหยุดความตายที่จะมาถึง ฟริกก์ได้ขอคำสัตย์สาบานจากทุกสิ่งบนโลกว่าจะไม่ทำอันตรายต่อบุตรชายของเธอ

ยกเว้นก็แต่ต้นมิสเซิลโท (Mistletoe) เพราะเป็นเพียงไม้กาฝากเล็ก ๆ และบอบบางเกินกว่าจะทำอะไรได้

คนเฉลยเรื่องจุดอ่อนของบัลเดอร์ให้ผู้อ่านได้รู้ จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากโลกิ เทพแห่งการหลอกลวง ผู้ล้วงความลับจากฟริกก์ และสร้างหอกที่ทำจากมิสเซิลโทให้กับโฮดอร์ (Hodr) เทพตาบอดผู้ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ไม่ได้เข้าสังคมกับเทพองค์อื่น ๆ

ในขณะที่เหล่าเทพต่างร่วมเฉลิมฉลองกับความเป็นอมตะของบัลเดอร์ด้วยการขว้างปาสิ่งของและอาวุธไปยังร่างกายของเทพผู้เป็นที่รักเพื่อพิสูจน์และตอกย้ำว่าทุกสิ่งบนโลกไม่สามารถทำอันตรายต่อเขาได้ ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องด้วยความสุข หอกมิสเซิลโทจากโฮดอร์ เทพตาบอดที่แค่อยากจะเข้าสังคมด้วย ก็แทงทะลุอกบัลเดอร์ ปิดตำนานเทพในอุดมคติตามปกรณัมนอร์ส และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามสุดท้ายของเหล่าเทพหรือ แร็กนาร็อก (Ragnarök)

Baldur: God of War (2018)


God of War (2018) ตีความเทพผู้เป็นที่รักแตกต่างออกไปจากตำนานเดิม ตัวเกมไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ของบัลเดอร์กับเทพองค์อื่น ๆ มากนัก บัลเดอร์ฉบับเกมเพลย์สเตชัน 4 ใช้ชีวิตอยู่กับพรจากคำสัตย์สาบานของทุกสิ่งบนโลกมานานมากแล้ว และเขาไม่ได้พอใจกับพรวิเศษข้อนี้สักเท่าไร กลับกัน บัลเดอร์กระหายความรุนแรงและโหยหาการรู้สึก เขาต้องการที่จะรู้สึกถึงความเจ็บปวด (ทางกายภาพ) เพราะการไม่รู้สึกอะไรเช่นนี้เหมือนกับว่าเขาไม่ได้มีชีวิตเลย ด้วยเหตุผลดังกล่าว บัลเดอร์จึงเกลียดผู้เป็นแม่ของตนเองมาก (ถึงขั้นอยากฆ่าให้ตายกันเลยทีเดียว) ที่เป็นต้นเหตุของเรื่องนี้


ความรู้สึกในทัศนะของบัลเดอร์ถือเป็นส่วนหนึ่ง (หรืออาจจะทั้งหมด) ของชีวิต การดำรงอยู่โดยไร้ซึ่งความรู้สึกไม่อาจนับว่าเป็นชีวิตได้ ความเกรี้ยวกราดของ Last Boss ในเกม God of War (2018) ได้สะท้อนความต้องการที่จะเป็นมนุษย์เช่นกัน อันที่จริง บัลเดอร์อาจไม่ต้องการความเจ็บปวด ทรมาน เลือดตกยางออก แต่เป็นความรู้สึกเล็ก ๆ น้อย ๆ เมื่อได้สัมผัสกับสิ่งอื่นรอบกาย ความอบอุ่นของแดดในฤดูร้อน หรือความหนาวเย็นยามหิมะตก รู้สึกเช่นเดียวกับที่คนอื่นรู้สึก พรวิเศษทำให้เขาแตกต่าง เกิดความรู้สึกแปลกแยก เป็นความเจ็บปวดรูปแบบหนึ่งที่บัลเดอร์เองก็ไม่รู้ตัว ความรู้สึกโดดเดี่ยวเปลี่ยนเป็นความโกรธแค้นที่มากขึ้นกว่าเดิมเมื่อผู้เป็นแม่ไม่เข้าใจความรู้สึกของเขาและพยายามย้ำถึงข้อดีของพรที่ได้รับ

ไม่รู้สึก ไม่เจ็บปวด ดีจริงหรือ?

แนวคิดเรื่องความรู้สึก โดยเฉพาะความเจ็บปวด ที่เป็นปมในใจของเทพนอร์สฉบับ God of War (2018) นั้นใกล้เคียงกับแนวคิดของนักปรัชญาสายอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ชาวเยอรมัน ฟรีดิช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) ที่มีทัศนะเกี่ยวกับความเจ็บปวดว่าเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ เป็นปัจจัยที่ทำให้เติบโต ก้าวข้ามอดีตของตนเอง และก้าวต่อไปข้างหน้า ประโยคยอดนิยมที่ไม่พูดถึงไม่ได้ในหัวข้อนี้คงไม่พ้น “What cannot kill me will make me stronger.” จาก The Twilight of the Idols ผลงานชิ้นเอกของนิทเช่ในปี ค.ศ. 1888

ความเจ็บปวดทำให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้ ทั้งกายภาพและจิตภาพ แน่นอนว่ามนุษย์คงไม่อยู่รอดมาถึงทุกวันนี้หากไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะมนุษย์ไม่ได้มีไฟเตือนแบบเดียวกับไฟกะพริบยามข้ามถนน หรือไฟเหลือง 3 วินาทีตามสี่แยก ความเจ็บปวดจึงจำเป็นต่อการเอาชีวิตรอด เป็นการส่งสัญญาณว่าสิ่งใดอันตรายและบอกสถานะร่างกายของเรา


อาการไร้ความรู้สึกเจ็บปวดบนโลกมนุษย์ ไม่ได้นับเป็นพรหรือคำสัตย์สาบานจากสิ่งใด แต่เป็น Congenital Insensitivity to Pain (CIP) โรคที่มักคร่าชีวิตผู้ป่วยตั้งแต่เยาว์วัย เนื่องจากไม่สามารถระบุอาการเจ็บปวดของตนเองได้ ส่งผลให้รักษาไม่ทัน เช่น ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการเล่นกีฬา แต่ไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดและเล่นกีฬาต่อไป ส่งผลให้อาการร้ายแรงกว่าเดิม รวมถึงกลายเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด หรือ Alexithymia (มาจากภาษากรีกที่แปลว่า No words for emotion; a = lack, lexis = word, thymos = soul, heart) คืออาการที่ไม่สามารถแสดงออก ไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถระบุความรู้สึกของตนเองได้ ส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของตนเอง โดยอาจมีสาเหตุมาจากภาวะออทิสติก โรคซึมเศร้า บาดแผลทางใจในอดีต รวมถึงภาวะสมองเสื่อม  

ปิตาธิปไตยกับความรู้สึกในใจของผู้ชาย

Normative Male Alexithymia (NMA) คืออาการที่ไม่สามารถแสดงออกหรือระบุความรู้สึกของตนเองได้ในผู้ชาย ซึ่งสาเหตุไม่ได้มาจากภาวะ โรค หรือบาดแผลทางใจใด ๆ แต่มาจากแรงกดทับทางสังคมของโลกปิตาธิปไตย (Patriarchy) หรือสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านค่านิยมความเป็นลูกผู้ชาย (Masculine) ที่ต้องแข็งแกร่ง (แมน ๆ ลูกผู้ชายไม่มีน้ำตา) การแสดงออกถึงความรู้สึก หรือยอมรับอารมณ์ของตนเองเป็นเรื่องของผู้หญิงเท่านั้น ด้วยค่านิยมที่ปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของตนเอง ส่งผลกระทบให้ผู้ชายบางคน (หรืออาจจะหลายคน) ต้องประสบปัญหาการแสดงออกด้านอารมณ์ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามความรู้สึกเจ็บปวดไม่ใช่เรื่องดีที่ใครจะอยากเจอ ด้วยสัญชาตญาณแล้ว เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องหลีกเลี่ยงเพื่อเอาตัวรอดเสมอมา แน่นอนว่ามนุษย์ไม่สามารถวิ่งหนีความเจ็บปวดไปได้ตลอดชีวิต ความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตในฐานะมนุษย์ เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้และก้าวผ่าน เพื่อเป็นตัวเองแบบฉบับที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้ และวันต่อ ๆ ไป

และดูเหมือนว่าการไร้ซึ่งความรู้สึกเจ็บปวด (หรือถูกห้ามไม่ให้แสดงออก) จะเป็นคำสาปสำหรับชาวมิดการ์ดเสียมากกว่า


อ้างอิง


เรื่องโดย