Kind Journey

ป่าเขาทำให้หายเหงาได้จริงหรือ? เมื่อชาวเยอรมันตัดสินใจเข้าป่า ลดความเครียดในโมงยามวิกฤต



แม้เยอรมนีจะเป็นหนึ่งในประเทศอุตสาหกรรม แต่แนวคิดเรื่องการเข้าป่ายังคงเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของพวกเขา


Waldeinsamkeit วันหนึ่งชาวเยอรมันเดินเข้าป่า…
▲△

“Waldeinsamkeit (วอลด์ไอน์ซามไคท์)” เป็นคำศัพท์ภาษาเยอรมันที่ไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษโดยตรง แต่พอแปลคร่าว ๆ ได้ว่า “ความรู้สึกเสมือนอยู่คนเดียวในป่า” ซึ่งเป็นการรวมกันของคำว่า “Wald (วอลด์)” หมายถึง ป่า และ “Einsamkeit (ไอน์ซามไคท์)” หมายถึง ความเหงา

คำศัพท์ดังกล่าวเป็นกระแสฮอตฮิตขึ้นมาในช่วงที่เยอรมนี (และทั่วโลก) เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้เยอรมนีต้องปิดประเทศ และคนเยอรมันเองก็ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เว้นระยะห่างระหว่างกัน จนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว จิตวิญญาณของ Waldeinsamkeit ที่ฝังอยู่ในก้นบึ้งจิตใจของชาวเยอรมันจึงทวีความรุนแรงขึ้น

เมื่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้น หรือต้องอยู่ในสถานะว่างงาน ความกดดันก็มากขึ้นเช่นกัน แม้แต่ความสนใจที่จะทำงานอดิเรกก็น้อยลง ชาวเยอรมันจึงแสวงหาความสงบอย่างสันโดษและพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างป่าไม้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความโหยหาธรรมชาติมากขึ้น


ความเหงาในป่า แนวคิดฝังรากลึกของชาวเยอรมัน
▲△

งานวิจัยโดย European Forest Institute ในกรุงบอนน์ (Bonn) พบว่า มีชาวเยอรมันเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงที่ประเทศเยอรมนีประกาศปิดล็อกการเดินทางเข้าออก การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เผยให้เห็นว่าชาวเยอรมันกลับมาโอบกอดความสันโดษในป่าอีกครั้ง และป่าไม้ยังคงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสังคม

Jeanne-Lazya Roux นักวิจัยของ European Forest Institute เปิดเผยว่า “จากการศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นว่า การได้พบกับความเงียบสงบเป็นแรงจูงใจอันดับหนึ่งในการเข้าป่า ส่วนอีกงานวิจัยที่เรากำลังศึกษาใหม่นี้แสดงให้เห็นว่า นี่คือยุคที่ให้คุณค่าป่าไม้”

สำหรับเมืองที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ Baiersbronn (ไบเออร์สบรอนน์) หนึ่งในกว่า 300 เมืองที่ได้รับการรับรองจากเยอรมนีว่าเป็น Luftkurorts (ลูฟคูออเทอส์) หรือสถานที่ที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมันว่าเป็นเมืองที่มีอากาศบริสุทธิ์ น้ำบริสุทธิ์ และมีเส้นทางเดินป่าเป็นระยะทางหลายร้อยไมล์


งานวิจัยทั่วโลกยอมรับ เดินป่าลดความเครียดได้
▲△

ไม่ได้มีเพียงการศึกษาของเยอรมันเท่านั้นที่ระบุว่า การเดินเข้าป่าจะช่วยลดความเครียดได้ เพราะการศึกษาเรื่องผลกระทบทางสรีรวิทยา Shinrin-yoku (การอาบน้ำในป่า) ของประเทศญี่ปุ่น พบว่า การเดินป่าคนเดียวช่วยลดความเครียดได้ คือลดความดันโลหิตและระดับคอร์ติซอล (Cortisol) หรือฮอร์โมนแห่งความเครียด ซึ่งสอดคล้องกับเทคนิคการฝึกสติของงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Scandinavian Journal of Forest Research ที่ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้ที่ใช้เวลาอยู่ในป่าจะทำการทดสอบทางปัญญาได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มคนที่เดินเข้าป่ายังรู้สึกผ่อนคลายและสบายใจมากกว่าคนที่เดินในสภาพแวดล้อมของเมือง ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford ที่พบว่า ผู้ที่เดินเป็นเวลา 90 นาทีในพื้นที่ธรรมชาติจะช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้


อยู่ในป่าอย่างไรในยุคเทคโนโลยี
▲△

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเดินเข้าป่าก็ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของตัวเองก่อนว่าต้องการอะไรกันแน่ Schutzgemeinschaft Deutscher Wald (SDW) สมาคมพิทักษ์ป่าแห่งเยอรมัน ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสานต่อความรักของชาวเยอรมันกับป่าไม้ ล่าสุดเปิดตัวแอปพลิเคชันฝึกสติ-สัมผัสป่าด้วยประสาทสัมผัสทั้งหมดของคุณ (SDW Achtsamkeitspfad) เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินเท้าในป่า

Thorsten Müller ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “แอปฯ นี้มุ่งเน้นไปที่การฝึกหายใจ และได้รับการออกแบบมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้ในป่าทุกแห่งในโลกไม่ใช่แค่ในเยอรมนีเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เยี่ยมชมจดจ่ออยู่กับการหายใจหรือการมองป่าในระดับมหภาค ให้ความสนใจกับสี โครงสร้างพื้นผิว และรายละเอียดเฉพาะของวัตถุ เป้าหมายคือการทำให้ผู้คนใส่ใจต่อสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น”

หลังจากเปิดตัวแอปพลิเคชันดังกล่าว ได้มีการสร้างเส้นทางป่าเพื่อสติอีก 9 เส้นทางทั่วเยอรมนี โดยมีป้ายบอกทางที่ผู้เยี่ยมชมสามารถสแกน QR Code เพื่อเรียนรู้วิธีโต้ตอบกับป่าไม้รอบ ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น เส้นทางเดินป่าใน Hentern พื้นที่สูงของที่ราบสูง Hunsrück ของรัฐ Rhineland-Palatinate เช่นเดียวกับเมือง Rottenburg ในรัฐ Baden-Württemberg และ เมือง Freiamt ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปในป่าดำ (Black Forest) ของเยอรมนี


อย่างไรก็ตาม การแสวงหาความสงบและการหลบหนีจากโลกอารยธรรรมด้วยสมาร์ทโฟนอาจดูเหมือนไม่เข้ากัน แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ดูจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการค้นหาความสุขสงบให้ตัวเอง

การเกิดขึ้นของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนมีเวลาใส่ใจตัวเองมากขึ้น หลายคนหลีกหนีความวุ่นวายค้นหาความสงบเพื่อทบทวนสิ่งต่าง ๆ ขณะที่หลายคนโหยหาการเดินทางเข้าป่าเพื่ออยู่คนเดียว เพราะเมื่อเราเดินลึกเข้าไปในป่าไม้ตามเส้นทางคดเคี้ยวห่างจากความศิวิไลซ์ เราจะตั้งใจฟังเสียงกระซิบของสายลมและใบไม้ที่เสียดสีกันอย่างนุ่มนวลภายใต้รองเท้าของเราเอง การสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัวนี้อาจไม่ใช่แค่การค้นพบป่าไม้ แต่เพื่อมองหาโลกที่ใหญ่ขึ้นภายในตัวเราเองต่างหาก เพราะในสถานการณ์อันไม่ปกติเช่นนี้ สิ่งที่เราควรยึดไว้ให้มั่นที่สุดคือสติ แล้วจึงจะแสวงหาความสุขสงบให้ตัวเอง


ที่มา


เรื่องโดย