Kind Creations

มงกุฎเพชร คฑา สัญลักษณ์แห่งอำนาจของนางงาม

“มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2021 โกทรู…
MUT 27 แอนชิลี”
เฮ!!!


สิ้นเสียงประกาศชัยชนะของชื่อสาวงามผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2021 ทันใดนั้น ผู้ชมต่างแสดงความยินดีปลื้มปรีติแห่งชัยชนะ โดยสาวงามผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลมากมาย ไม่ว่าจะรางวัลเงินสด รถยนต์ คอนโด หรืออื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุนในปีนั้น ๆ แต่ที่ขาดไม่ได้คือ “มงกุฎเพชร” อันเป็นสัญลักษณ์ความงามที่สาว ๆ หลายคนใฝ่ฝันจะคว้ามาครอง

KiNd ชวนอ่านเรื่องราวของรางวัลอย่างมงกุฎเพชรและคฑา ที่นางงามในหลาย ๆ เวทีจะได้รับ ว่ามีที่มาอย่างไร ถึงได้รับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจความงามตั้งแต่ยุคแรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน

มงกุฎเพชร แสดงฐานะความเป็น “ราชินี” ของนางงาม

“มงกุฎ” ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์แสดงฐานะของราชาและราชินีเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่งสำหรับสาวสังคมชั้นสูง และเป็นรางวัลของการประกวดนางงามหลายเวที

สำหรับมงกุฎของเวทีมิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe) มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยตามการเปลี่ยนมือของผู้จัดการประกวด กว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยมงกุฎปฐมฤกษ์ของเวทีนี้คือ The Romanov Imperial Nupital Crown มงกุฎของราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย ที่มอบให้กับสาวงามผู้ชนะเลิศ ในปี ค.ศ. 1952 ให้เป็นตัวแทนของ “ราชินีแห่งความงาม”


ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงถึงการยกย่องมิสยูนิเวิร์สว่า เป็นราชินีจริง ๆ เพราะมงกุฎองค์นี้ไม่เพียงเป็นมงกุฎองค์แรกที่มอบให้นางงามจักรวาลเท่านั้น แต่หากนี่ยังเป็นมงกุฎที่มีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เกี่ยวเนื่องกับกษัตริย์ซาร์แห่งราชวงศ์โรมานอฟที่ล่มสลาย ซึ่งเตรียมเอาไว้ให้กับหญิงสาวที่กำลังจะมาแต่งงานกับราชวงศ์ด้วยเช่นกัน หากหญิงสาวเพียงผู้เดียวที่ได้สวมมงกุฎนี้กลับเป็นนางงามจักรวาลคนแรกจากประเทศฟินแลนด์นามว่า Armi Kuusela โดยตัวมงกุฎประกอบไปด้วยเพชรทั้งหมด 1,529 เม็ด รวมทั้งสิ้น 300 กะรัต

อย่างไรก็ตาม เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จากมงกุฎเพชรที่มาจากราชวงศ์เพื่อแสดงฐานะความเป็น “ราชินี” เปลี่ยนผ่านมาเป็นมงกุฎจากสปอนเซอร์หรือผู้สนับสนุนการประกวด ที่กลายเป็นกิจกรรมทางการตลาดสร้างมูลค่ามหาศาลบนเวทีสาวงาม ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎจากบริษัท Diamond International Corporation (DIC) ซึ่งได้รับฉายาว่า “มงกุฎเฟรนช์ฟราย” หรือมงกุฎจากแบรนด์ Mikimoto บริษัทไข่มุกชื่อดังของญี่ปุ่น ที่มีความประณีตงดงามตามมาตรฐาน ทั้งยังใช้อัญมณีแห่งท้องทะเลมาประดับมากกว่า 120 เม็ด จึงทำให้มงกุฎองค์นี้มีความพิเศษและแตกต่างจากมงกุฎนางงามทั่วโลก


สำหรับมงกุฎมิสยูนิเวิร์ส และมิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ 2022 ก็ยังคงมาจากบริษัท Mouawad แบรนด์จิวเวลรี ระดับโลก โดยมีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย โดยทุก ๆ ปี Mouawad จะรังสรรค์มงกุฎขึ้นด้วยความพิถีพิถันและใส่ใจในทุกรายละเอียดของทุกองค์ประกอบ

คฑา อาวุธแห่งความงาม

อีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่แสดงถึงฐานะของนางงามคือ “คฑา” ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงเวทีนางสาวไทย หรือมิสไทยแลนด์ (Miss Thailand) เพราะเป็นอีกหนึ่งเวทีที่สาวงามหลายคนใฝ่ฝัน โดยรางวัลที่สาวงามผู้ชนะเลิศจะได้ครอบครองคือ มงกุฎเพชร วชิรคฑา รางวัลเงินสด และอื่น ๆ อีกมากมาย


สำหรับ “วชิรคฑา” ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวชิราวุธ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า เป็นอาวุธของพระอินทร์ และยังเป็นตราประจำนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย โดยวชิราวุธมีความหมายว่า อาวุธที่แข็งแกร่งดุดสายฟ้า เมื่อนำมาใช้เป็นคฑาประจำตัวนางสาวไทย จึงนำมาตกแต่งให้วิจิตรสวยงามมากขึ้น โดยใช้พลอยสีชมพูเข้มประดับเพิ่มความอ่อนหวาน ส่วนตัวแฉกวชิราวุธทั้ง 4 ด้านฝังเพชรประดับเพื่อลดความเป็นอาวุธลง

นอกจากมงกุฎเพชรและคฑาแล้ว ยังมีรางวัลอื่น ๆ ที่สาวงามผู้ชนะเลิศจากเวทีการประกวดจะได้รับอีก ไม่ว่าจะเป็นรางวัลเงินสด รถยนต์ คอนโด โอกาสทางการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น รวมไปถึงโอกาสในการก้าวเข้าสู่อาชีพใหม่ ๆ ในวงการบันเทิง หรือแม้แต่การยกย่องจากสาธารณชนหลังจากได้รับตำแหน่ง ซึ่งล้วนแสดงให้เห็นว่า “เวทีนางงาม” เป็นพื้นที่หนึ่งของการรวมอำนาจของทุนนิยมและการตลาดที่ผลักดันให้ผู้ที่ต้องการเข้ามาช่วงชิงตำแหน่งอาจต้องปรับแนวคิดและพฤติกรรมเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของเวทีนั้น ๆ


อ้างอิง

เรื่องโดย