Kind Eyes

From up on Poppy Hill (2011): เสียงของเยาวชน กับ “โตเกียว โอลิมปิก 1964”



หลังจากมีกระแสออกมาหนาหูว่า มหกรรมกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 อาจถูกยกเลิก คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียว จึงได้ออกมาประกาศสยบข่าวลือว่า จะไม่มีการยกเลิกงานกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 แน่นอน แต่อย่าเพิ่งดีใจไป เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ยกเลิก แต่ผู้ชมชาวต่างชาติจะถูกสั่งห้ามเดินทางเข้าญี่ปุ่น เพื่อชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกโตเกียวในฤดูร้อนนี้ เนื่องจากรัฐบาลยังคงเป็นกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในปี 2019 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นสูงถึง 31.9 ล้านคน ญี่ปุ่นจึงได้ทุ่มสุดตัวในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 แต่พอเจอสถานการณ์เช่นนี้ ญี่ปุ่นเองก็คงต้องถอยออกมาตั้งหลัก และเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันเช่นนี้ พร้อมทั้งเดินหน้าจัดงานกีฬาโอลิมปิก ที่แฟนกีฬาทั่วโลกต่างเฝ้ารอคอยต่อไปอย่างสมเกียรติ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพในการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก แต่เคยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพมาถึงสองครั้งด้วยกัน นั่นคือในปี 1940 และ 1964 แต่ก็ต้องขอถอนตัวไปในปี 1940 เนื่องจากสงครามฤดูหนาวระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย ทำให้การแข่งขันถูกยกเลิก

จนกระทั่งในปี 1964 ญี่ปุ่นก็กลับมาเป็นเจ้าภาพการจัดงานได้อีกครั้ง การกลับมาครั้งนี้ญี่ปุ่นตกอยู่ในสถานะผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และกำลังถูกนานาประเทศมองว่าเป็นตัวร้ายในสายตาชาวโลก แต่ญี่ปุ่นหลังสงครามก็สามารถกลับมาพลิกฟื้นภาพลักษณ์อันดำมืดให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง ผ่านวิทยาการล้ำสมัย ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ครอบคลุมทุกภาคส่วน และความมีระเบียบวินัยของประชาชนในประเทศที่หาใครเทียบได้ยาก

ครั้งแรกที่ได้ยินข่าวลือว่าญี่ปุ่นจะยกเลิกกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 2020 ก็พลันทำให้นึกถึงอนิเมชันเรื่อง From up on Poppy Hill (2011) ของสตูดิโอ จิบลิ (Studio Ghibli) กำกับโดยมิยาซากิ โกโระ (ลูกชายของมิยาซากิ ฮายาโอะ) ที่เคยฝากผลงานกำกับเรื่อง Tales from Earthsea ไว้เมื่อปี 2006 แต่ก็ได้รับกระแสตอบรับจากผู้ชมไม่ดีเท่าไหร่นัก

Photo Credit: From Up on Poppy Hill (2011)/ IMDb

จนกระทั่งในปี 2011 “From up on Poppy Hill” อนิเมชันที่ถ่ายทอดภาพสะท้อนของสังคมญี่ปุ่นในปี 1963 ซึ่งเป็นช่วงเวลา 1 ปีก่อนโตเกียว โอลิมปิกจะเปิดฉากขึ้น ก็ถูกปล่อยออกมาโลดแล่นในโลกแห่งภาพยนตร์อนิเมชัน แม้จะต้องหยุดชะงักไปบ้าง เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ ช่วงต้นปี 2011 ซึ่งผลงานกำกับครั้งนี้ของโกโระก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม

ตัวอนิเมชันมีการสอดแทรกประเด็นทางสังคมเอาไว้อย่างแนบเนียน ที่หากมองเผิน ๆ อาจจะคิดว่า นี่ก็แค่การ์ตูนโรแมนติกธรรมดา ๆ ไม่น่าจะมีอะไรต้องวิเคราะห์มากนัก แต่เมื่อพิจารณาการกระทำของแต่ละตัวละครอย่างถี่ถ้วน ก็พบว่า นี่ไม่ใช่การ์ตูนโรแมนติกเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการ์ตูนที่สอดแทรกประเด็นทางสังคม การเมือง และเสียงของเยาวชนที่ส่งไปถึงผู้ใหญ่ เอาไว้ให้ผู้ชมต้องกลับมาขบคิดการกระทำของพวกเขาอีกครั้ง แม้จะขึ้นหน้า End Credit ไปแล้วก็ตาม


อนิเมชันดำเนินเรื่องโดยสองตัวละครหลัก “ยูมิ” สาวน้อยนักเรียนวัย 16 นางเอกของเรื่อง ที่มักจะตื่นเช้าก่อนคนในบ้านเสมอ เพื่อมาทำอาหารเช้าก่อนไปโรงเรียนให้พี่ ๆ น้อง ๆ จากนั้นก็จะออกมาเชิญธงขึ้นเสาที่อยู่หลังบ้าน เพื่อส่งสัญญาณ “ขอให้เดินทางปลอดภัย” ให้พ่อของเธอที่เป็นกัปตันเรือได้รับรู้ว่า เธอยังคงเฝ้ารอพ่ออยู่เสมอ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า พ่อไม่มีวันกลับมาแล้วก็ตาม จากนั้นจึงค่อยเดินทางไปโรงเรียน นี่คือกิจวัตรประจำวันที่เธอทำไปโดยไม่รู้ตัวเลยว่า มีเด็กหนุ่มพระเอกของเรื่องคอยตอบกลับข้อความจากธงของเธอเสมอ



“ชุน” หนุ่มนักกิจกรรมที่คอยตอบกลับข้อความจากธงของยูมิทุกวัน เด็กหนุ่มชมรมหนังสือพิมพ์ประจำโรงเรียน ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการทำลาย “ละติน ควอเตอร์” ซึ่งเป็นตึกเก่าแก่ที่เพื่อน ๆ ของเขาใช้ทำกิจกรรมชมรมมานาน หลังจากได้รับคำสั่งต้องรื้อถอนและสร้างตึกใหม่ทดแทน เพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับกีฬาโอลิมปิกโตเกียว 1964 ที่จะเกิดขึ้น



ขณะที่เรื่องกำลังดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ผ่านภาพบรรยากาศระหว่าง บ้าน โรงเรียน และท้องทะเล ทั้งภาพและเพลงประกอบก็พลอยทำให้เราใจสงบไปโดยไม่รู้ตัว แต่เมื่อตัดฉากไปที่โรงเรียน ก็ทำให้เราต้องหันกลับมามองระบบการศึกษาของประเทศเราอย่างจริงจังว่า ทำไมเด็กมัธยมปลายซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถึงมีความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาเรียกร้องประชาธิปไตย ในขณะที่พวกเขาเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยของโรงเรียนเท่านั้น
นี่คงเป็นการต่อสู้ที่ทั้ง “เด็ก” และ “ผู้ใหญ่” ต่างก็มีความยึดมั่นในความคิดของตน ขณะเดียวกันก็เป็นการหยิบยกประเด็นเรื่องการทำลายของเก่า เพื่อก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ แบบไม่เหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในอดีตไว้เลย

ซึ่งประโยคที่ทำให้เราต้องกลับมาตั้งใจดูอนิเมชันเรื่องนี้อย่างจริงจัง เกิดขึ้นหลังจาก ชุน พระเอกของเรื่องโต้กลับฝั่งเพื่อนร่วมชั้นที่สนับสนุนให้ทุบตึก กลางหอประชุมโรงเรียนว่า
อันที่จริงจะมองว่าชุนเป็นเด็กหัวอนุรักษ์นิยมหน่อย ๆ ก็คงไม่ผิดนัก แต่ชุนก็ไม่ได้เป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่งที่ไม่รับฟังความเห็นของเพื่อนร่วมโรงเรียนแต่อย่างใด เพราะหลังจากที่ ยูมิ เสนอให้ชุนและเพื่อน ๆ ลองทำความสะอาดตึกให้ดูน่าอยู่ สมกับเป็นตึกเก่าที่น่าอนุรักษ์ เพื่อที่ผู้ใหญ่จะได้เปลี่ยนใจไม่ทำลายตึกทิ้ง ชุนก็พร้อมทำตามความคิดเห็นของยูมิโดยทันที แม้ว่า ชุน จะมีความลังเลอยู่บ้างก็ตาม เพราะ ฝุ่นและสิ่งของที่กองระเกะระกะเป็นความภาคภูมิใจของเพื่อนทุกคน เขาไม่อยากปัดกวาดพวกมันทิ้งไป

“นายก็เหมือนคนแก่ที่บริหารประเทศนี้ ปิดหูปิดตาประชาชน ถ้าอยากทำลายอะไรก็ทำลายหัวตัวเองสิ ทำลายของเก่าเท่ากับทำลายความทรงจำในอดีต ไม่สนใจผู้คนที่อยู่และตายมาก่อนเราเหรอ ไม่มีอนาคตสำหรับคนที่บูชาแต่อนาคตแล้วลืมอดีตหรอก ประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าจะละเลยคนส่วนน้อยได้นะ”

อีกหนึ่งในความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ ชมรมต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในละติน ควอเตอร์ ทั้งชมรมดาราศาสตร์ ชมรมโบราณคดี ชมรมวิทยาศาสตร์ ชมรมปรัชญา และชมรมหนังสือพิมพ์ ซึ่งชมรมที่ดึงความสนใจจากเราเข้าอย่างจังคือ ชมรมปรัชญา เพราะต้องสารภาพตามตรงเลยว่า ตอนอายุ 15-16 ก็ไม่ค่อยได้สนใจวิชาปรัชญาอะไรเท่าไหร่นัก แต่ในโรงเรียนแห่งนี้กลับมีชมรมปรัชญา ที่ถึงแม้จะมีสมาชิกสอง (หรือสาม?) คนอยู่ในชมรมก็ตาม แต่หัวหน้าชมรมก็ได้พูดเชื้อเชิญยูมิให้เข้าชมรมด้วยการเปิดหัวข้อว่า “เธอไม่สนใจเข้าชมรมปรัชญาหรอ? หรืออยากจะพูดถึงแนวคิดอัตถิภาวนิยมดีล่ะ หรือจะเป็นแนวคิดทางปรัชญาของนิทเช่ เราคุยได้หมดเลยนะ” เพียงแค่คำพูดสั้น ๆ ก็ทำให้เราตาลุกวาวได้แล้ว


หรือแม้แต่ตอนที่ผู้ใหญ่เข้ามาถามว่า ชมรมดาราศาสตร์ ได้ค้นพบอะไรที่น่าสนใจบ้างหรือยัง ตลอดเวลาที่ก่อตั้งชมรม ซึ่งพวกเขาก็ตอบกลับอย่างไม่ลังเลว่า “ไม่พบอะไรเลย แต่เราจะไม่หยุดค้นหา” แม้จะเรียกเสียงหัวเราะปนเอ็นดูจากผู้ใหญ่ แต่สีหน้าและแววตาที่จริงจังของเด็กหนุ่มเหล่านี้ ก็ทำให้เรารู้ว่า พวกเขาไม่ได้เข้าชมรมมานั่ง ๆ นอน ๆ แต่พวกเขากำลังใช้ความสนใจของตัวเอง มาค้นคว้าหาความรู้ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้ในอนาคต แม้ตอนนี้พวกเขาจะยังไม่ค้นพบเจออะไรเลยก็ตาม



From up on Poppy Hill ชวนให้เราคิดว่า การผลักดันประเทศให้เข้าสู่โลกสมัยใหม่ กับการรักษาของเก่าเป็นสิ่งที่สามารถทำควบคู่กันได้ และยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกคิดค้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งส่งเสริมให้การอนุรักษ์ของเก่าสามารถทำได้เร็วขึ้นกว่าเดิมมาก

แม้ว่าเนื้อเรื่องจะกล่าวถึง การเตรียมตัวสำหรับโตเกียว โอลิมปิก 1964 น้อยมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า อนิเมชันเรื่องนี้ได้ฉายภาพเยาวชน ความหวังของประเทศชาติได้อย่างทรงพลัง พวกเขาคือตัวแทนคนหนุ่มสาวที่ไม่ยอมแพ้ต่อคำสั่งจากเบื้องบน และพร้อมออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เชื่อมั่น ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนเช่นกัน นี่คืออนิเมชันที่ควรค่าแก่การรับชม หากคุณอยากจะเห็นความหวังที่กำลังเบ่งบาน ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความสิ้นหวัง From up on Poppy Hill ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย


เรื่องโดย