Kind Kitchen

“ขนมปัง” กับ “เยอรมัน” ความผูกพันที่สะท้อนผ่านสังคม การเมือง และความรัก

“Fehlt das Brot im Haus, zieht der Frieden aus
สันติภาพหายเมื่อบ้านไร้ขนมปัง


“ขนมปัง” หรือ “Brot” ในภาษาเยอรมัน ถือเป็นอาหารที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณของยุโรป และมีบทบาทเกี่ยวข้องกับชีวิตของชนเผ่าเยอรมันดั้งเดิมมาอย่างยาวนาน หลักฐานแรกที่เห็นได้ชัดคือ มรดกทางภาษาที่สะท้อนให้เห็นว่าคนเยอรมันให้ความสำคัญกับขนมปังอย่างมาก เนื่องจากรากศัพท์คำว่า Brot ที่แปลว่า ขนมปัง มักปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของคำศัพท์ และสำนวนสุภาษิตที่ใช้ทั้งในอดีตและปัจจุบันอยู่จำนวนมากเฉกเช่นคำพังเพยที่ยกมาข้างต้น 

นอกจากนี้ขนมปังยังถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งการดำรงชีวิต สื่อถึงคุณค่าที่มีความหมายต่อชีวิตของชาวเยอรมัน ซึ่งผูกพันอยู่กับวิถีความเป็นอยู่ในสังคม ทั้งด้านความเชื่อ อาทิ เรื่องความรัก จวบจนบทบาททางการเมืองและสภาพเศรษฐกิจของประเทศเยอรมันในสมัยก่อน ว่าแต่ประวัติศาสตร์แห่งความผูกพันระหว่าง “ขนมปัง” กับ “ประเทศเยอรมนี” นี้จะเป็นอย่างไร KiNd ใคร่ชวนผู้อ่านเข้าครัวไปค้นหาคำตอบพร้อม ๆ กัน

ขนมปังกับสังคมเยอรมัน
 ■ □ 

ชนเผ่าเยอรมันดั้งเดิมเรียนรู้ศิลปะการทำขนมปังมาจากหลายชนชาติ เช่น ชนเผ่าโกเทน (Goten) เรียนรู้มาจากชาวกรีก และชนเผ่าฟรังเคน (Franken) ได้รับอิทธิพลจากชาวโรมัน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเยอรมันถึงรู้จักขนมปังช้ากว่าชาติอื่น 

หลักฐานเกี่ยวกับการผลิตขนมปัง สู่การเป็นอาชีพที่สำคัญของคนเยอรมัน ปรากฏเด่นชัดในคริสต์ศตวรรษที่ 9 สมัยการปกครองของจักรพรรดิคาร์ลมหาราช (Karl der Große) แห่งเผ่าฟรังเคน เพราะพระองค์ชอบเสวยขนมปังขาวมาก ตั้งแต่นั้นมาการผลิตขนมปังก็ไม่ใช่เฉพาะงานของผู้หญิงอีกต่อไป กลับกลายมาเป็นงานของคนทำขนมปังที่มีฝีมือ จนเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง 

เนื่องจากอาชีพทำขนมปังเพิ่มความสำคัญขึ้นในสังคมของเยอรมันช่วงตั้งหลักปักฐาน จึงมีการอบรมเกี่ยวกับการทำขนมปังให้แก่คนรุ่นใหม่ เมื่อมาถึงยุคกลางซึ่งชนเผ่าเยอรมันนับถือศาสนาคริสต์ ระเบียบที่ออกมาเกี่ยวกับการทำขนมปังจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรมทางสังคม ซึ่งหมายถึงคนทำขนมปังต้องไม่เอารัดเอาเปรียบผู้กินขนมปัง 

ในสมัยนั้นคนทำขนมปังแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1. คนขายขนมปัง คือ ผู้ที่รับซื้อธัญพืชแล้วมาบดเองหรือไม่ก็จ้างบด จากนั้นนำมาทำขนมปัง และขายตามราคา 2. คนรับอบขนมปัง คือ ผู้ที่รับจ้างอบขนมปังที่นวดและเตรียมมาแล้วจากชาวบ้าน และ 3. คนทำขนมปังตามบ้าน คือ ผู้ที่ไปตามบ้าน รับทำขนมปัง แล้วนำไปอบในเตาอบของตนหรือเตาอบประจำหมู่บ้าน จะเห็นได้ว่าคนทำขนมปังเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของชาวเยอรมันยุคกลางทุกครัวเรือน ความซื่อตรงจึงเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของคนทำขนมปังนั่นเอง

ส่วนคนทำขนมปังเองก็ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของอาชีพตนในสังคม จึงได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมหรือองค์กรคนทำขนมปังขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอาชีพ นอกจากนี้ชนเผ่าเยอรมันยังได้ออกกฎหมายปกป้องคนทำขนมปัง ดังเช่นปี 1220 เผ่าซักเซน (Sachsen) กำหนดไว้ในกฎหมายว่า ใครทำร้ายคนทำขนมปังต้องถูกปรับด้วยการจ่ายเงินมากกว่าทำร้ายคนธรรมดาถึง 3 เท่า  


ขนมปังกับบทบาททางการเมือง
■ □ 

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงที่ประเทศเยอรมันเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 1 ในระยะเริ่มแรกของสงคราม ประชาชนยังมีอาหารและธัญพืชเพียงพอสำหรับการบริโภค แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธัญพืชเริ่มขาดแคลนเพราะชาวนานำธัญพืชไปให้สัตว์เลี้ยงกินโดยที่ไม่สนใจว่าประเทศจะมีอาหารบริโภคเพียงพอหรือไม่ สถานการณ์เริ่มวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อกองทัพอังกฤษปิดกั้นการลำเลียงข้าวสาลีจากอเมริกามายังเยอรมัน จะเห็นได้ว่าอาหารหลักที่ชาวเยอรมันต้องการแม้ในยามศึกสงครามนั่นก็คือ ขนมปังคุณภาพดี ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากแป้งข้าวสาลี แต่ในภาวะบ้านเมืองวิกฤต การผลิตขนมปังจากแป้งข้าวสาลีกลับเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ 

ด้วยเหตุนี้ผู้นำประเทศจึงต้องมีนโยบายทางการเมืองอันเกี่ยวเนื่องกับการผลิตอาหาร ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงที่พรรคนาซีปกครองประเทศเยอรมัน ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) หัวหน้าพรรคนาซีได้ใช้วัฒนธรรมการกินและผู้ผลิตอาหารหลัก ซึ่งได้แก่ชาวนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอุดมการณ์ ในขั้นแรกฮิตเลอร์ออกกฎหมายบังคับให้องค์กรและสมาคมเกี่ยวกับเกษตรกรรมต่าง ๆ เข้ามาอยู่รวมกันในองค์กรการปกครองกลางของรัฐที่ดูแลเรื่องอาหารของชาติ ซึ่งดูแลจัดปันส่วนขนมปังและเบียร์ช่วงภาวะอดอยาก พร้อมทั้งออกกฎหมายปฏิเสธอาหารทุกสิ่งที่เป็นของคนต่างชาติ เพื่อสร้างความเป็นชาตินิยม

ต่อมาในปี 1936 สภาของพรรคนาซีได้ออกระเบียบว่าด้วย “อิสรภาพแห่งการกินอาหารและการต่อสู้” เข้าไว้เป็นแผนเป้าหมายของชาติ วางนโยบายทางการเมืองเรื่องขนมปัง (Brotpolitik) เพื่อส่งเสริมการกินขนมปังธัญชาติ (Vollkornbrot) แทนขนมปังที่ทำจากแป้งข้าวสาลีอย่างเดียว อันที่จริงการรณรงค์ให้ชาวเยอรมันหันมารับประมานขนมปังธัญชาตินี้เริ่มมีมาตั้งแต่ปี 1890 โดยกลุ่มชนที่เรียกตนเองว่า “นักปฏิรูปขนมปัง” พวกเขาคิดค้นวิธีผลิตขนมปังสุขภาพที่ทำจากธัญพืชล้วน ๆ เพื่อให้คนกินขนมปังมีสุขภาพแข็งแรง แต่ไม่ได้รับความนิยมในขณะนั้น

แต่พรรคนาซีกลับเห็นผลทางการเมืองจากแนวคิดนี้ จึงออกกฎหมายส่งเสริมการกินขนมปังชนิดใหม่ พร้อมมาตรการผลักดันในแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้เพราะพรรคนาซีเล็งเห็นว่าสงครามคงกินเวลานาน แป้งที่นำมาผลิตคงมีจำนวนไม่พอ และไม่มีชาติใดส่งธัญพืชมาช่วยเหลือ พรรคนาซีจึงเตรียมความพร้อมด้วยการฝึกให้ประชาชนชาวเยอรมันชินกับการบริโภคขนมปังที่ผสมแป้งข้าวไรย์และแป้งข้าวมันฝรั่งลงไปด้วย โดยดำเนินวิธีการผ่านการออกโฆษณาชวนเชื่อ เช่น ขนมปังธัญชาติทำให้สุขภาพดีเสริมสร้างร่างกายต่อต้านฟันผุและเป็นขนมปังของชาวเยอรมันอย่างแท้จริง (อ้างตาม Hirschfelder, 2001: 227) จากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าในช่วงระหว่างที่พรรคนาซีปกครองประเทศนั้น นโยบายเกี่ยวกับขนมปังมีความสำคัญมาก 

ขนมปังกับความรัก
■ □ 

ขนมปังเป็นสัญลักษณ์ของการผูกพันกันระหว่างชายหญิง ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาตั้งแต่ยุคโรมัน ส่วนประเทศเยอรมนีขนมปังมีบทบาทสำหรับความรักของคนหนุ่มสาวเยอรมันในอดีต ตัวอย่างเช่น กริมม์ (Grimm) นักประพันธ์ของเยอรมันได้บันทึกเกี่ยวกับขนมปังแห่งความรักในสมัยยุคกลางของเยอรมันไว้ว่า หากสตรีใดต้องการให้ชายหนุ่มรัก นางจะนำน้ำผึ้งมาทาทั่วตัวแล้วลงไปนอนเกลือกบนเมล็ดข้าวสาลี จากนั้นก็นำเมล็ดข้าวที่ติดร่างกายไปโม่เป็นแป้ง และนำแป้งนั้นไปทำขนม หนุ่มใดที่กินขนมปังนั้นจะไม่มีวันปฏิเสธรักนางได้ ส่วนในแคว้นชวาเบน (Schwaben) ของเยอรมัน เชื่อกันว่า หากภรรยาต้องการให้สามีของตนซื่อสัตย์ต่อตนตลอดไป นางต้องรับประทานส่วนหัว และส่วนท้ายหนา ๆ ของขนมปังทุกวัน 

นอกจากนี้ขนมปังยังนิยมใช้ในการประกอบพิธีแต่งงาน เช่น การประกาศแต่งงาน ชาวเยอรมันจะมีวิธีบอกฝ่ายบริหารบ้านเมืองว่าพวกเขาจะแต่งงานโดยการทำขนมปังที่เรียกว่า “ขนมปังแต่งงาน(Hochzeitsbrot) แล้วห่อกระดาษประทับด้วยขี้ผึ้งสีแดงรอบห่อส่งไปให้คณะผู้บริหารเขต และการส่งตัวเจ้าสาวยังมีประเพณีการมอบขนมปังให้เจ้าสาวจากพ่อแม่ คือ “ขนมปังคิดถึงบ้าน(Gwöhnbrot) ให้เจ้าสาวติดตัวไปด้วย เพื่อไว้ดูยามคิดถึงบ้านจะได้คลายความคิดถึง

และบางแห่งเวลาขึ้นบ้านใหม่ในพิธีแต่งงาน คนมักนิยมอบขนมปังและเกลือมาให้ ซึ่งเชื่อว่าสองสิ่งนี้ใช้ป้องกันอันตรายหรือเหตุร้าย ต่อมาได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกัน และเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ ความอ่อนน้อม และเป็นมิตร ส่วนในเขตอินน์เฟียร์เทล คนเชื่อว่าหากหญิงสาวต้องการพบเนื้อคู่ นางต้องเอามีดปักบนขนมปังเคล็ตเซ็น (Kletzen) ซึ่งเป็นขนมปังสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ แล้วเดินรอบบ้านในคืนผีอาละวาด ซึ่งมี 4 คืนคือ คืนวันเฉลิมฉลองสาวกโธมา คืนวันคริสต์มาส คืนวันขึ้นปีใหม่ และคืนวันฉลองสามกษัตริย์ จึงมีผู้เรียกขนมปังเคล็นเซ็นว่า “ขนมปังแห่งความรัก”

วัฒนธรรมทางการกินอาหารที่มีมาอย่างยาวนาน กลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งขนมปังเยอรมันที่ผูกพันกับวิถีชีวิตในมิติต่าง ๆ ทั้งสังคม ความเชื่อ และบทบาททางการเมือง ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน แม้ว่าอาหารการกินจะแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ “ขนมปัง” ก็ยังคงเป็นอาหารหลักที่เรียกว่าไม่อาจตายไปจากสังคมอย่างแน่นอน


อ้างอิง

  • ถนอมนวล โอเจริญ. (2548). ขนมอบในวัฒนธรรมยุโรป. (ขนมปังเยอรมัน: ภาพสะท้อนสังคมและวัฒนธรรม). กรุงเทพฯ
  • โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการคณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย