Kind Words

“ไฮคิว” (Haikyuu) มังงะวอลเลย์บอล ที่เขย่าวงการกีฬาญี่ปุ่นยุคใหม่


อุ่นเครื่อง ฟิตร่างกายกันไปก่อนพลาง ๆ กับ “มังงะแนวกีฬา” ระหว่างรอการกลับมาอีกครั้งของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 (ซึ่งปีนี้เลื่อนจัดงานออกไปเป็นช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน ปี 2021 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19) โดยปีนี้กำหนดจัดงานที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ครั้งนี้ KiNd ขอเอาใจเหล่าโอตาคุที่ชื่นชอบกีฬาวอลเลย์บอล รวมถึงมือใหม่ที่เริ่มมีคำถามในใจว่ากีฬาประเภทนี้เป็นอย่างไรกันนะ? กับการเจาะลึกมังงะเรื่อง “Haikyuu” หรือชื่อภาษาไทย “ไฮคิว!! คู่ตบฟ้าประทาน” ผลงานของ “ฟุรุดาเตะ ฮารุอิจิ” ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารโชเน็น จัมป์รายสัปดาห์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2012 และต่อมาถูกสร้างเป็นอนิเมะซีซั่นแรก ออกฉายเดือนเมษายน ปี 2014 ในญี่ปุ่น แม้ว่ามังงะที่เกี่ยวกับกีฬาวอลเลย์บอลนั้นจะไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนักโดยเฉพาะวอลเลย์บอลชาย จนกระทั่งเรื่องไฮคิวได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกก็เรียกได้ว่าเขย่าวงการกีฬาในญี่ปุ่นได้ไม่น้อยทีเดียว



เรื่องราวโดยย่อของมังงะเรื่องนี้ เริ่มต้นจาก “ฮินาตะ โชโย” เด็กหนุ่มที่หลงเสน่ห์กีฬาตบลูกยางในรายการชิงแชมป์มัธยมปลาย และต้องการทำตามฝันเจริญรอยตามผู้เล่นของทีมโรงเรียนมัธยมปลายคาราสึโนะ ที่มีฉายาว่า “ยักษ์จิ๋ว” นักกีฬาตัวเล็กที่สามารถเล่นวอลเลย์บอลได้เก่งระดับเทพ (ซึ่งเขาเองก็ตัวเล็กเช่นกัน ความสูงเพียง 162 ซม.เท่านั้น) จนเข้าสู่เรื่องราวหลักของฮินาตะ ที่ได้เข้าโรงเรียนคาราสึโนะ พร้อมกับได้เจอคู่ปรับที่เป็นดั่งคู่หูอย่าง “คาเงยามะ โทบิโอะ” มือเซตอัจฉริยะที่มีความสามารถในการอ่านเกมส์ จากนั้นพวกเขาก็เดินหน้าพาโรงเรียนไปแข่งกับทีมจากโรงเรียนอื่น (ซึ่งได้เจอกับตัวละครอื่น ๆ ที่เป็นทีมคู่แข่งอีกหลายทีม) เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในระดับมัธยมปลาย และระดับประเทศ

มังงะกีฬาตบลูกยาง ที่สร้างนักกีฬารุ่นใหม่นับหมื่นคน!
●●

มังงะ หรือการ์ตูนญี่ปุ่น นับว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่มีรากฐานมั่นคงที่สุดของญี่ปุ่น และฝังรากลึกในประวัติศาสตร์ของแดนอาทิตย์อุทัยมาอย่างยาวนาน จึงไม่น่าแปลกใจว่าการ์ตูนนั้นมีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงในหลายสาขาของประเทศญี่ปุ่น และโดยเฉพาะวงการกีฬาที่การ์ตูนบางเรื่องสร้างแรงขับเคลื่อนความฝันให้กับเด็กชาวญี่ปุ่นได้หลายคน


นอกจาก “ไฮคิว” จะให้ความสนุกตื่นเต้นตามแบบฉบับการ์ตูนโชเน็นแล้ว ยังให้ความรู้ที่ถูกต้องของกีฬาวอลเลย์บอล รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่ได้อย่างมหาศาล ซึ่งในปี 2016 จากข้อมูลของสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ NHK ได้ทำผลวิจัยเกี่ยวกับความชื่นชอบกีฬาวอลเลย์บอล ปรากฏผลที่น่าทึ่งคือ ตั้งแต่ปี 2012 ที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์แบบรายสัปดาห์ จนมาถึงปี 2016 นักกีฬาวอลเลย์บอลหน้าใหม่โดยเฉพาะนักเรียนชายในระดับมัธยมต้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 36,000 คน เป็น 47,000 คน ภายในเวลาเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้น นั่นจึงทำให้มังงะเรื่องนี้ถูกยกให้เป็นการ์ตูนที่เปลี่ยนแปลงวงการวอลเลย์บอลระดับมัธยมไปสู่ยุคสมัยใหม่เลยทีเดียว

นอกจากนี้ในสารคดีความยาว 50 นาทีของ NHK เรื่อง “We became Strong Through Manga” ระหว่างในรายการนั้น มีนักกีฬาวอลเลย์บอลชาวญี่ปุ่นชื่อ “ยานางิดะ มาซาฮิโระ” ได้พูดถึงความชื่นชอบและแรงบันดาลใจจากการ์ตูนเรื่องไฮคิวไว้ด้วย อีกทั้งการสัมภาษณ์ทีมวอลเลย์บอลชายของโรงเรียนมัธยมหลายทีมก็ได้รับคำตอบที่น่าสนใจ เช่น “ฉันรักฮินาตะ!” และ “ทีมงานของฉันอ่านด้วยกันและเราหวังว่าจะได้อ่านทุกสัปดาห์” เด็กผู้ชายหลายคนที่ให้สัมภาษณ์ถึงกับบอกว่า พวกเขาและทีมอื่น ๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากเทคนิคในมังงะและพยายามใช้แนวทางของตัวละครในการแข่งขันของพวกเขาด้วย

ตัวละคร ความสัมพันธ์ และความสมจริงที่น่าประทับใจ
●●

สาเหตุที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมชมชอบภายในเวลาไม่นาน นอกจากจะเป็นเรื่องลายเส้นที่สวยงามของอาจารย์ฟุรุดาเตะ ฮารุอิชิแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือ ความสมจริงของชีวิตการเป็นนักวอลเลย์บอล พร้อมทั้งมีการพัฒนาตัวละครที่น่าสนใจ โดยตัวละครแต่ละตัวถือว่ามีบุคลิกหลากหลาย ไม่เพียงเฉพาะรายละเอียดของตัวเอกเท่านั้น แต่ตัวละครในแต่ละทีมที่แข่งขันกันนั้นต่างก็มีจุดเชื่อมโยง และความสัมพันธ์ที่น่าประทับใจ เช่น ความร่าเริง มุ่งมั่น และกระตือรือร้นของตัวละคร “ฮินาตะ โชโย” ความฉลาดรอบคอบของตัวละคร “ซึกิชิมะ เคย์ (ซึกกี้)” ความดื้อรั้น ไม่ยอมแพ้ของ “นิชิโนยะ ยู” และความสุขุม แข็งแกร่งของ “อุชิจิมะ วากาโทชิ”


ฟุรุดาเตะไม่ได้ยึดติดกับการมอบลักษณะเฉพาะให้กับตัวละครเอกเท่านั้น แม้แต่ตัวละครประกอบเองก็มีความคิดและเป้าหมายที่เชื่อมโยงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างทีมคู่แข่งกับทีมตัวเอกก็ยังแฝงไปด้วยมิตรภาพ และแรงบันดาลใจของการเล่นวอลเลย์บอลได้อย่างเต็มเปี่ยม อาจจะบอกได้ว่าทำเอาคนอ่านมังงะ หรือคนดูอนิเมะน้ำตาซึม และยิ้มตามไปพร้อม ๆ กัน

นอกจากนี้สถานที่ในเรื่องยังเกี่ยวข้องกับวงการลูกยางญี่ปุ่นในชีวิตจริง ไม่ว่าจะเป็น ยิมเนเซียมแห่งกรุงโตเกียว (Tokyo Metropolitan Gymnasium) ที่เขตชิบุยะ ซึ่งเป็นสนามแข่งวอลเลย์บอลสำคัญของประเทศญี่ปุ่น ที่ใช้จัดการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติระดับมัธยมปลาย และเป็นสนามหลักของการแข่งขันโอลิมปิกปี 2020 ด้วย รวมไปถึงศูนย์กีฬาชื่อดังอย่าง ศูนย์พัฒนากีฬาวอลเลย์บอลแห่งชาติอายิโนะโมโตะ ที่มีสมาคมวอลเลย์บอลญี่ปุ่นเป็นเจ้าของก็ปรากฏในการ์ตูนเรื่องนี้เช่นเดียวกัน


ทั้งนี้ไฮคิวยังแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ในรายละเอียดอย่างมาก ซึ่งได้รับการกล่าวขานทั้งในมังงะและอนิเมะ โดยในอนิเมะมีลักษณะมุมภาพที่สมจริงหลากหลายมุม และมีการใส่เอฟเฟกต์ที่มีสไตล์ เอฟเฟกต์เหล่านี้บางส่วนมีความแปลกใหม่และน่าประทับใจ เช่น มุมภาพการเคลื่อนที่ของตัวละครขณะรับลูก ฉายให้เห็นถึง 3 มุมมอง ทั้งมุมจากฝ่ายคู่แข่ง มุมคนดูข้างสนาม และมุมของตัวละครที่เป็นผู้เล่นเอง เป็นต้น ปัจจุบันมังงะเรื่องนี้ได้รับการติดตามอย่างรวดเร็ว โดยมียอดพิมพ์กว่า 38 ล้านเล่มแล้ว

แม้การ์ตูน “ไฮคิว” อาจถึงตอนจบ แต่เรื่องราวความมุ่งมั่นของตัวละครจะยังคงสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า


ที่มา


เรื่องโดย