Kind Global

ลัตเวีย: เสรีภาพสื่อ-เสรีภาพประชาชน สิทธิที่ถูกจำกัดท่ามกลางความหวาดกลัว


ลัตเวีย – อดีตสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต ประเทศที่เคยถูกตั้งเป็นรัฐหุ่นเชิดโซเวียต จนกระทั่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1991 ลัตเวียได้รับเอกราชกลับคืนมาอีกครั้ง หลังพยายามทำการรัฐประหารในเดือนสิงหาคม (August putsch – Августовский путч) สหภาพโซเวียตจึงต้องออกมารับรองเอกราชของสาธารณรัฐลัตเวียในที่สุด

แต่ในปี ค.ศ. 2020 อิสรภาพที่พวกเขาได้รับกลับค่อย ๆ ถูกทำลายลงไปอย่างช้า ๆ เมื่อสถานทูตรัสเซียที่ตั้งอยู่ในริก้า (Riga) เผยเอกสารออกมาว่า ทางการรัสเซียพบการกระทำที่ถือเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ ในการนำเสนอข่าวอย่างเสรี หลังจากกองกำลังรักษาความปลอดภัยของลัตเวีย ดำเนินการจับกุมสื่อมวลชนของสำนักข่าว Baltnews และ Sputnik Latvia จากข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป


ทางการลัตเวียระบุว่า พวกเขาสามารถแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวได้ เนื่องจากบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดหรือสิทธิมนุษยชนในประเทศลัตเวีย ไม่ครอบคลุมถึงนักข่าวที่นำเสนอข่าวเป็นภาษารัสเซีย ดังนั้นการกระทำดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

จากประกาศของสถานทูตรัสเซียในริก้า เผยว่า การจับกุมนักข่าวที่นำเสนอข่าวภาษารัสเซียของเจ้าหน้าที่ลัตเวียนั้น ถือเป็นการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ และนี่ถือเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของเสรีภาพในการพูดอย่างแท้จริง โดยประกาศฉบับนี้ออกมาหลังจากนักข่าวของ Sputnik Latvia และ Baltnews ถูกตรวจค้นที่พักและจับกุม

“ดูเหมือนว่า การต่อสู้กับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ จะนำไปสู่การละเมิดหลักการพื้นฐานของเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก สิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้ว การกระทำดังกล่าวจะผลักลัตเวียให้ห่างไกลจาก ‘รัฐแห่งปัญญาชน’ ซึ่งการละเมิดเสรีภาพสื่อในลัตเวีย ยังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง” ข้อความส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์ของคณะทูตรัสเซียในริก้า

สถานทูตรัสเซียอธิบายต่อว่า หน่วยบริการรูปแบบพิเศษในระดับท้องถิ่นนั้น กำลังนำ “มาตรการปราบปรามเต็มรูปแบบ” มาใช้กับนักข่าวที่รายงานข่าวเป็นภาษารัสเซียอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการกักขัง การสอบสวน การค้นหา และการตั้งข้อหาทางอาญา

เห็นได้ชัดว่ารัฐบาลลัตเวียมีความพยายามที่จะเข้ามาควบคุมพื้นที่สื่อ โดยเฉพาะสื่อทางเลือก รัฐพร้อมที่จะเข้ามาปราบปรามสื่อกลุ่มนี้อย่างจริงจัง และพร้อมก้าวข้ามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ตราขึ้นมาทั้งหมด


เพื่อกำจัดสื่อทางเลือกให้หมดจากประเทศ ขณะที่เรา (รัสเซีย) กำลังเฝ้ามองดูปฏิกิริยาจากชาติพันธมิตรในสหภาพยุโรปของลัตเวีย และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องว่าพวกเขาจะมีท่าทีอย่างไร พวกเขาจะเข้ามาระงับการละเมิด ‘เสรีภาพสื่อ’ ของชาติพันธมิตรตนหรือไม่ ซึ่งเรากำลังจับตามองพวกเขาอย่างจริงจัง” แถลงการณ์ของสถานทูตระบุ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 2020 กองกำลังความมั่นคงแห่งลัตเวียได้เข้าควบคุมตัวและตรวจค้นบ้านพักนักข่าวทั้งสิ้น 6 รายด้วยกัน ได้แก่ อดีตหัวหน้าข่าว Andrei Yakovlev จากสำนักข่าว Baltnews นักหนังสือพิมพ์ Andrei Solopenko และ Alla Berezovskaya นักประชาสัมพันธ์และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึง Vladimir Linderman นักประชาสัมพันธ์ชาวลัตเวียและรัสเซีย

Sputnik Latvia กล่าวว่า นักข่าวที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด ล้วนทำงานอยู่ในสื่อทางเลือกที่นำเสนอข่าวในภาษารัสเซีย และบางรายทำงานอยู่ในหน่วยงานรัฐ


ด้าน Andrei Yakovlev กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลลัตเวียได้เข้ามาตรวจค้นบ้านและที่ทำงานของเขา ยึดอุปกรณ์ และสื่อบันทึกข้อมูลทั้งหมด หลังจากนั้นเขาก็ถูกสอบปากคำเป็นเวลาอีกหลายชั่วโมง

“ผมต้องไปสอบปากคำที่หน่วยบริการรักษาความปลอดภัยแห่งรัฐ แน่นอนว่ามันคือครั้งแรกของผม และมันเป็นเวลาที่ยาวนานมาก 8 ชั่วโมง… 8 ชั่วโมงที่ผมต้องนั่งอยู่ตรงนั้น” Andrei Yakovlev โพสต์ผ่าน Facebook

เขาได้กล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ได้รับเพิ่มเติมว่า เขามีความผิดเกี่ยวข้องในคดีอาญาด้านการละเมิดมาตรการแซงชัน (Sanction) “หลายเดือนก่อนผมได้รับเอกสารฉบับหนึ่งจากหน่วยงานรักษาความปลอดภัยแห่งรัฐ ซึ่งมีเอกสารสั่งฟ้องผมในคดีอาญามาตรา 84 (1) มีเนื้อหาเกี่ยวกับการละเมิดมาตรการลงโทษของลัตเวียและการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ เช่น การละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปต่อบุคคล และนิติบุคคลสัญชาติรัสเซีย และผมอาจถูกจำคุกเป็นเวลาสี่ปีด้วยกัน” เขากล่าว

ทางด้านของ Alla Berezovskaya เธอเองก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจค้นบ้านเหมือนกัน โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการตรวจค้นทุกซอกทุกมุมของบ้านเธอ จากนั้นพวกเขาก็นำตัวเธอไปสอบสวน หลังจากที่ยึดเครื่องมือสื่อสารของเธอทุกชิ้นหมดแล้ว

“ฉันหวังว่าช่วงเวลาที่มืดมนจะผ่านพ้นไปเสียที และเราจะได้อยู่ในลัตเวีย ประเทศที่มีประชาธิปไตย อิสรภาพ และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอีกครั้ง โดยไม่ต้องกังวลว่า เกสตาโป (หน่วยตำรวจลับในยุคนาซี) จะเข้ามาจับกุมเรา เพียงเพราะเราใช้สิทธิอันพึงมีในการพูดและแสดงความคิดเห็นออกมา สิทธิมนุษยชนของเราจะต้องไม่ถูกละเมิด และทุกความคิดเห็นของเราควรได้รับการเคารพ!”

Alla Berezovskaya โพสต์ผ่าน Facebook


กระทรวงต่างประเทศรัสเซียได้กล่าวถึงการกระทำของรัฐบาลลัตเวียครั้งนี้ว่า “นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการละเมิดสิทธิพลเมืองที่อยู่ภายใต้ประชาธิปไตย นั่นคือ การปิดกั้นเสรีภาพสื่อและการแสดงออกของประชาชน” พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะถูกนำเข้าไปพิจารณาต่อในองค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe – OSCE) และรัสเซียหวังว่า OSCE จะไม่เพิกเฉยต่อการกระทำครั้งนี้ของรัฐบาลลัตเวีย เพราะการโจมตีสื่อเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ในระดับสากล สื่อมีหน้าที่ตีนำเสนอความจริง เสรีภาพสื่อคือสิ่งที่ไม่ควรละเมิด และลัตเวียควรปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการรับรองเสรีภาพในการพูด

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เป็นผลมาจาก ‘กระแสความกลัวรัสเซีย’ (Russophobia) ซึ่งข้อกล่าวหาที่เราได้รับก็เป็นเรื่องที่ถูกกุขึ้นมาเท่านั้น” พวกเขากล่าว


Vladimir Solovyov หัวหน้าสหภาพนักข่าวแห่งรัสเซีย (the Union of Journalists of Russia – UJR) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RT ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ลัตเวียเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และผิดกฎหมายอย่างเห็นได้ชัด

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มันเกิดมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งประเทศในกลุ่มบอลติกก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการละเมิดเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการตีแผ่ความจริงอย่างตรงไปตรงมา”


“นักข่าวที่รายงานข่าวเป็นภาษารัสเซียต้องทนแบกรับความกดดันที่รัฐบาลลัตเวียพยายามเข้ามาแทรกแซง นี่คือการกระทำที่ไม่อาจยอมรับได้ เรารับไม่ได้อย่างแน่นอน และไม่มีวันยอมรับ เรารู้สึกเจ็บปวด โกรธแค้น และเรากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของเราให้กลับมายืนหยัดในวงการสื่ออีกครั้ง เราขอรับรองว่า เราจะรายงานเรื่องนี้ต่อสมาพันธ์นักข่าวนานาชาติ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน” หัวหน้าสหภาพนักข่าวแห่งรัสเซียกล่าวย้ำ

การเลือกปฏิบัติและความกดดัน

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 เป็นต้นมา นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ออกมาเรียกร้องการระงับบัญชีธนาคารของนักข่าว และสิ่งพิมพ์ภาษารัสเซียทั้งหมด โดยธนาคารกลางไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนถึงการกระทำดังกล่าว ซึ่งเป็นการละเมิดคำสั่งของรัฐสภายุโรป เพราะตราบใดที่ผู้เป็นเจ้าของบัญชีมีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ย่อมมีสิทธิเปิดบัญชีในสหภาพยุโรป โดยเจ้าของบัญชีจะถูกปฏิเสธการเปิดบัญชีก็ต่อเมื่อเขาเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกง การฟอกเงิน หรือการจัดหาเงินทุนแก่ผู้ก่อการร้าย

ในปี ค.ศ. 2020 ลัตเวียได้เพิ่มแรงกดดันต่อสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวเป็นภาษารัสเซีย และสื่อรัสเซียที่เข้ามาทำข่าวในประเทศเพิ่มมากขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ หน่วยบริการรักษาความปลอดภัยแห่งรัฐลัตเวียได้ทำการตรวจค้นสำนักงาน Baltic Media Alliance ซึ่งเป็นสื่อระหว่างประเทศที่ทำข้อตกลงในรัฐบอลติก (ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย) กับสถานีข่าวของรัสเซีย และได้ทำการเผยแพร่ข่าวสารในภาษารัสเซียไปทั่วประเทศ โดยเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า การตรวจค้นดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางอาญา ซึ่งรัฐเห็นว่า Baltic Media Alliance ได้ทำการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป


ต่อมาในเดือนมิถุนายน สภาสื่ออิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติลัตเวียระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทั้งสิ้น 7 ช่องด้วยกัน ได้แก่ RT, RT HD, RT Arabic, RT Spanish, RT Documentary HD, RT Documentary และ RT TV พร้อมทั้งได้ลงโทษ Dmitry Kiselev หัวหน้าองค์กรของสำนักข่าวรัสเซีย RIA Rossiya Segodnya หรือที่ผู้คนรู้จักกันในชื่อ “Russia Today” หรือ “New Russia Today” โดยรัฐบาลลัตเวียมองว่า Dmitry Kiselev เป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด

Alexei Martynov ผู้อำนวยการสถาบันแห่งรัฐและนักรัฐศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RT โดยย้ำว่า สื่อระดับภูมิภาคที่ทำงานในลัตเวียเป็นเวลาหลายปี และได้รับการลงทะเบียนแยกต่างหาก พวกเขาจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตรส่วนบุคคล เช่นในกรณีของ Dmitry Kiselev

การกระทำของทางการลัตเวียต่อนักข่าวเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรม แต่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ลัตเวียมีบทบัญญัติเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดหรือสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะไม่มีผลต่อนักข่าวที่รายงานข่าวภาษารัสเซีย ดังนั้นพวกเขาสามารถใช้มาตรการลงโทษส่วนบุคคลได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“สิทธิมนุษยชนและสิทธิอื่น ๆ ย่อมหมายรวมถึงเสรีภาพในการพูดและการแสดงออก แต่เสรีภาพที่ประเทศแห่งนี้มอบให้จะพิจารณาถึงพื้นเพของผู้นั้นเป็นหลัก และจากมุมมองของลัตเวีย พวกเขามองว่า นี่ไม่ใช่หลักการที่ครอบคลุมและคนนอกก็ไม่ควรมีสิทธิอื่นใด ในประเทศแห่งนี้” นักรัฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกต


ในทางกลับกัน Stanislav Byshok ผู้อำนวยการบริหารองค์กรติดตามการเลือกตั้งในภูมิภาคยูเรเชีย CIS-EMO (Commonwealth of the Independent States – Election Monitoring Organization) กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์กับสำนักข่าว RT ว่า แนวคิดที่กำลังแพร่หลายในกลุ่มประเทศบอลติกคือ ข่าวที่เผยแพร่เป็นภาษารัสเซียส่งผลกระทบในแง่ลบต่อประเทศในภูมิภาคพวกเขา

“มีความเห็นพ้องต้องกันว่า การที่สื่อรัสเซียเข้ามาทำข่าวในประเทศตะวันตกและสหภาพยุโรป ข้อมูลที่เผยแพร่ออกไปสู่ประเทศอื่นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลในเชิงลบ ดังนั้นหากสื่อและนักข่าวเหล่านี้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานในยุโรป ผมต้องเรียนตามตรงว่า ยุโรปคงทำอะไรกับเรื่องนี้ไม่ได้” นักรัฐศาสตร์อธิบาย

ผู้สื่อข่าว: อาชีพที่ตกอยู่ในความเสี่ยง

นักข่าวที่รายงานข่าวในภาษารัสเซีย สำหรับประเทศนี้มองว่า พวกเขาไม่ใช่พลเมืองที่ต้องได้รับความช่วยเหลือใด ๆ Stanislav Byshok กล่าว

“ตอนนี้มีสองปัญหาคือ ปัญหาเล็กและปัญหาใหญ่ที่เราต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งปัญหาเล็ก ๆ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรก็แค่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและลัตเวียเอง ส่วนปัญหาใหญ่คือ ประเทศเหล่านี้ถูกการเมืองและสื่อของสหภาพยุโรปควบคุมอยู่ ทำให้ลัตเวียและสหภาพยุโรป ไม่จำเป็นต้องยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการละเมิดเสรีภาพสื่อรัสเซียที่เกิดขึ้นในลัตเวีย” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวสรุป


Luc Rivet นักข่าวอิสระตั้งข้อสังเกตในกรณีการปิดสถานีข่าว RT ว่า การกระทำของรัฐบาลลัตเวียต่อสื่อมวลชนที่เสนอข่าวภาษารัสเซียในลัตเวียนั้น เป็นไปตามลักษณะของประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย

“ทุกคนเข้าใจดีว่านี่เป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ล้วน ๆ” เขากล่าว “หากมองย้อนกลับไปดูประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป คุณจะเห็นว่ามีหลายประเทศในกลุ่มนี้ ไม่มีประชาธิปไตยเป็นของตนเอง ซึ่งรัฐบอลติกเองก็อยู่ในกลุ่มนี้เช่นกัน ‘พวกเขาไม่มีประชาธิปไตย’” เขาย้ำ

Luc Rivet กล่าวเพิ่มเติมว่า บรัสเซลส์ควรออกมาตอบโต้ต่อการกระทำดังกล่าว “นี่เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในริก้าหรือในทาลลินน์ (เอสโตเนีย) ไม่มีประเทศไหนในโลกยอมรับการละเมิดเสรีภาพสื่อกันอย่างแน่นอน สหภาพยุโรปต้องตอบสนองต่อการนำเสนอข่าวของสื่อต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นภาษาไหนก็ไม่ควรถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่ผมก็เข้าใจได้ว่า ลัตเวียอยู่ในสถานะของประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยอีกต่อไป เราต้องดับไฟที่กำลังโหมกระหน่ำ ไม่ให้มันลุกลามไปมากกว่านี้ และหาก EU ต้องการได้รับความเคารพนับถือจากเรา คุณต้องออกมาแสดงจุดยืน คุณต้องทำให้เราเห็นว่า คุณไม่เห็นด้วยกับการจับกุมสื่อ” เขากล่าวปิดท้าย


ที่มา


เรื่องโดย