Kind Creations

ด้วยรักและการเต้น : ชวนชม 4 ศิลปะการเต้นรำสุดคลาสสิกของชาวอินเดีย

หากพูดถึงศิลปะการเต้นรำ อินเดียน่าจะติดท็อปลิสต์ในใจของใครหลาย ๆ คน เพราะทุกครั้งที่ชมหนังอินเดียต้องมีฉากเต้นอยู่เสมอ อีกทั้งการเต้นรำของอินเดียยังมีมากมายหลายรูปแบบ เพราะมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละรัฐ

วันนี้ KiNd จะชวนไปทำความรู้จักศิลปะการเต้นรำแบบดั้งเดิมของอินเดียที่ถูกยกย่องให้เป็นศิลปะประจำชาติที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น ไม่รอช้า… เตรียมกล้ามแขน ท้อง และขา พร้อมไปเต้นรำกันเลย!


Kathakali
เต้นรำทางสีหน้าและดวงตาในแบบเกรละ

เสียงกลองสอดประสานรับจังหวะกระทบเท้าอย่างฉับไวของนักแสดง ที่กำลังโชว์ลีลาหมุนตัวอย่างกระฉับกระเฉง และการแสดงอารมณ์ผ่านสีหน้าและดวงตา คือจุดเด่นของการแสดง Kathakali (กถักกฬิ) ซึ่งเป็นศิลปะการเต้นรำของรัฐเกรละทางตอนใต้ของอินเดีย โดยมีต้นกำเนิดอยู่ที่เมืองโคชิน (Cochin) หรือโคชิ (Kochi) เมืองเก่าแก่ของรัฐเกรละ 

หากเปรียบเทียบการเต้นรำของรัฐอื่น ๆ ในอินเดีย นับได้ว่าศิลปะ Kathakali นั้นแตกต่างออกไป เพราะจะเน้นศิลปะการแสดงออกด้วยสีหน้า ดวงตา และท่าทาง มากกว่าลีลาร่ายรำเคลื่อนไหวแบบระบำอินเดียส่วนใหญ่ ซึ่งแต่เดิมผู้แสดงจะต้องสวมใส่หน้ากาก แต่เนื่องจากต้องแสดงสีหน้าจึงเปลี่ยนมาเป็นการแต่งหน้าและแต่งกายสีสันฉูดฉาด อย่างสีเขียว แดง ดำ เหลือง และฟ้า โดยสีสันลวดลายบนใบหน้าเหล่านี้เป็นสิ่งบ่งบอกว่าตัวละครเป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายร้าย สีที่นำมาทาหน้านั้นล้วนเป็นสีธรรมชาติที่ได้จากการเอาหินสีมาฝนละลายในน้ำมันมะพร้าวตามสูตรโบราณ ส่วนเรื่องราวที่นำมาแสดงประกอบการเต้นรำมักเกี่ยวเนื่องกับเทพฮินดู ไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับบรรพบุรุษ เช่น รามายณะและมหาภารตะ เป็นต้น


Manipuri Raas Leela
บูชาความรักผ่านการเต้นรำสไตล์มณีปุระ

Manipuri Raas Leela (มณีปุรีราสลีลา) เป็นหนึ่งในรูปแบบการเต้นรำสุดคลาสสิกที่สำคัญของอินเดีย มีต้นกำเนิดมาจากรัฐมณีปุระในทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งรูปร่างหน้าตาของชาวอินเดียในแถบนี้จะเหมือนชาวมองโกล ทำให้การร่ายรำ Manipuri นั้นมีรูปแบบคล้ายการรำของชาวมอญ เมียนมา และทางภาคเหนือของไทย รวมไปถึงการประยุกต์การเต้นรำร่วมสมัยอื่น ๆ ด้วย แต่จะยังคงเอกลักษณ์ความเป็นชนชาติอินเดียอยู่

การร่ายรำสไตล์ Manipuri ส่วนใหญ่นิยมแสดงเรื่องมหาภารตะ โดยรูปแบบการร่ายรำเต็มไปด้วยการสักการะบูชาความรักของพระกฤษณะและพระนางราธา โดดเด่นด้วยดวงตาที่อ่อนโยนและการเคลื่อนไหวร่างกายที่สงบอย่างนุ่มนวล ส่วนเครื่องแต่งกายนั้นคล้ายชาวยุโรป คือ ผู้หญิงนุ่งกระโปรงบาน มีลวดลายสวยงาม สวมเสื้อกำมะหยี่แขนสั้น คาดเอวด้วยผ้าปัก สวมเครื่องประดับ ใช้ผ้าโปร่งคลุมหน้า ส่วนผู้ชายที่รับบทพระกฤษณะ จะแต่งชุดแบบเก่าของวรรณะกษัตริย์ ซึ่งเป็นชนชั้นนักรบ ทำหน้าที่ปกครองและต่อสู้เพื่อบ้านเมือง  


Bharatanatyam
ศิลปะนาฏกรรมโบราณจากรัฐทมิฬนาฑู

หนึ่งในศิลปะนาฏกรรมของอินเดียที่ถูกถ่ายทอดออกไปยังวัฒนธรรมอื่น ๆ มากที่สุดคือ Bharatanatyam (ภารตะนาฏยัม) จากรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นศิลปะการร่ายรำหลากหลายรูปแบบ สืบทอดมายาวนานกว่า 2,000 ปี และถือเป็นหนึ่งในนาฏศิลป์แขนงหลักของอินเดีย ที่พัฒนาไปสู่นาฏศิลป์แขนงต่าง ๆ ของอินเดีย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วย

Bharatanatyam เป็นนาฏศิลป์ที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีส่วนสำคัญในพิธีของศาสนาฮินดูสมัยโบราณ สตรีฮินดูจะถวายตัวรับใช้ศาสนาเป็น “เทวทาสี” ร่ายรำขับร้อง บูชาเทพในเทวาลัย ซึ่งการขับร้องของเทวทาสีเปรียบประดุจนางอัปสรที่ทำหน้าที่ร่ายรำบนสวรรค์ มีลีลาการใช้จังหวะเท้าที่รวดเร็ว การแสดงอยู่ในรูปแบบหมู่คณะ ประกอบไปด้วย นางรำหนึ่งคน นักดนตรี และนักร้อง การร่ายรำของนาฏศิลป์แขนงนี้ ปรากฏอยู่ในตำรานาฏยศาสตร์โบราณ รวมถึงตำราสันสกฤตและทมิฬหลายฉบับ 


Sufi Dance
เต้นละทิ้งอัตตาของมุสลิมอินเดีย

แม้อินเดียจะมีการเต้นรำหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่น แต่การเต้นรำ Sufi Dance (ซูฟีแดนซ์) ของนักบวชอิสลามในนิกายซูฟี ก็ยังคงได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน โดยชาวมุสลิมในอินเดียมีมากถึง 15 เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า 172 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับประเทศมุสลิมอื่น ๆ 

Sufi Dance คือการเต้นรำที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำสมาธิเพื่อยกระดับจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายซูฟี ที่เชื่อว่าเป็นการละทิ้งอัตตาการเข้าถึงพระเจ้า มีต้นกำเนิดมาจากตะวันออกกลาง สืบทอดมายาวนานกว่า 800 ปี หรือตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 ผู้เต้นจะแต่งกายด้วยชุดยาวคล้ายกระโปรงสีขาว สวมหมวกทรงสูงที่ทำมาจากขนอูฐ จากนั้นจะเริ่มการเต้นหมุนวนรอบตัวเอง และเคลื่อนตัวเป็นวงกลมไปรอบห้อง พร้อมกับเต้นประกอบกับเพลงที่มีทำนองสงบนิ่ง ชวนให้เข้าสู่ภวังค์เป็นเวลากว่าชั่วโมง โดยในประเทศอินเดียจะนิยมเต้น Sufi Dance กันมากในรัฐปัญจาบและรัฐราชสถาน

เป็นอย่างไรกันบ้างกับศิลปะการเต้นรำสุดคลาสสิก 4 สไตล์ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละท้องถิ่นของอินเดีย และแน่นอนว่ายังมีการเต้นรำอีกหลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงการเต้นแบบ Bollywood Style ที่เรามักเห็นในหนังอินเดีย ซึ่งเป็นการเต้นแบบสมัยใหม่ ผสมผสานทั้งป๊อปแดนซ์ ฮิปฮอป และลาติน เข้าด้วยกัน เรียกได้ว่า ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปอย่างไร การเต้นก็ยังอยู่ในจิตวิญญาณของชาวอินเดียเสมอ


อ้างอิง

  • Bharatanatyam. Cultural India.
  • Know Your Classical Dances: Manipuri Raas Leela, and its exploration of love. First Post. 
  • Sufi Dance Group. AAMAD Performing Arts Centre.
  • เสน่ห์เกรละ : ระบำคทากาลี. กรุงเทพธุรกิจ.

เรื่องโดย