Kind Places

ฟื้นฟูบ้านเก่าในชุมชนญี่ปุ่น ก่อนวัฒนธรรมจะเลือนหาย

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อไม่มีคนหนุ่มสาวเข้ามาอยู่ หมู่บ้านก็จะค่อย ๆ ตายไป บ้านของผู้คน สถานที่ที่เขาอาศัยอยู่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น และส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในทุกประเทศ และเมื่อบ้านเหล่านั้นหายไป วัฒนธรรมก็จะค่อย ๆ เลือนหายไปด้วย”

 – คาร์ล เบงส์ นักออกแบบสถาปัตยกรรมชาวเยอรมัน
ผู้อุทิศตัวให้กับการบูรณะบ้านแนวดั้งเดิมในญี่ปุ่นมากว่า 20 ปี –


ในญี่ปุ่นมีเขตเทศบาลราว 1,700 เขต แต่เพราะผู้คนย้ายจากเขตชนบทเข้ามาอยู่ในเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้เขตเทศบาลเกือบครึ่งหนึ่งมีประชากรเบาบางลง เหลือเพียงผู้สูงอายุในพื้นที่ และนั่นอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชุมชนเหล่านี้กำลังเสี่ยงที่จะเลือนหายไปอย่างช้า ๆ 

หมู่บ้านทาเกโทโกโระ ในเมืองโทกามาจิ จังหวัดนีงาตะ เป็นพื้นที่ชนบทซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการทำนาขั้นบันได ในช่วงทศวรรษที่ 1960 หมู่บ้านนี้เคยมีประชากร 200 คน แต่เมื่อคนรุ่นใหม่ย้ายเข้าเมืองไป ประชากรก็ลดจำนวนลงจนเหลือประชากรเพียงราว 30 คน 


ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ “คาร์ล เบงส์” (Karl Bengs)  นักออกแบบสถาปัตยกรรมชาวเยอรมัน ได้เดินทางมาญี่ปุ่นเพราะได้รับแรงบันดาลใจจากความงามของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น เบงส์ได้มีโอกาสมาที่ทาเกโทโกโระ เขาชอบบ้านดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น (Kominka*) ของหมู่บ้านนี้ เขากับภรรยาจึงตัดสินใจซื้อไว้อยู่ด้วยกันหลังหนึ่ง เขาตกใจที่บ้านอยู่ในสภาพทรุดโทรมตั้งแต่ตัวบ้านไปจนถึงฐานของบ้าน เขาจึงตัดสินใจที่จะซ่อมบ้านใหม่ทั้งหมดเอง เขาบอกว่า

“วิธีการของผมคือ ต้องรักษากลิ่นอายญี่ปุ่นไว้ให้ได้มากที่สุด ผมอยากคงโครงสร้างไว้แบบเดิม ผมอยากรักษาส่วนที่สำคัญที่สุดของโครงสร้างไว้ 100% ความตั้งใจของผมคือ ไม่จำเป็นต้องทำให้มันเป็นแนวยุโรปมากขึ้น แน่นอนผมเป็นคนยุโรป ดังนั้นในบางแง่ก็เลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผมคือการคงโครงสร้างเดิมไว้ และต้องปรับปรุงบ้านให้เข้ากับยุคสมัยด้วย ไม่งั้นคงไม่มีใครอยากอยู่”

Photo Credit: Building on tradition/ www.japan.go.jp


บริเวณนี้มีบ้านเก่าสไตล์ดั้งเดิมหลายหลัง เขาหวังว่าจะทำอะไรสักอย่างที่ช่วยป้องกันไม่ใช้ชุมชนจางหายไปมากกว่านี้โดยเฉพาะในกรณีของญี่ปุ่นซึ่งมีวัฒนธรรมที่แสนพิเศษรายล้อมรอบบ้าน มีทั้งมุมประดับแบบดั้งเดิม ตู้เก็บของ และโรงเก็บของ ซึ่งตอนนี้พื้นที่เหล่านั้นก็ค่อย ๆ หายไปจากญี่ปุ่น ตั้งแต่เบงส์ย้ายเข้าไปในชุมชนที่มีภาวะเสี่ยง เขาคิดว่าการบูรณะบ้านร้างเก่า ๆ สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะดึงให้ประชากรหนุ่มสาวใหม่ ๆ เข้ามาอยู่ได้

ผมอยากทำให้คนญี่ปุ่นเห็น อยากให้พวกเขาตระหนักว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น เพราะพวกเขามีสมบัติล้ำค่าเหล่านี้อยู่ ผมไม่อยากให้พวกเขาปล่อยมันไป และทิ้งสมบัติเหล่านี้ง่าย ๆ ครับ เบงส์กล่าว

เบงส์หลงใหลในบ้านดั้งเดิมของญี่ปุ่น เพราะว่ามันเป็นตัวอย่างของการแสวงหาพื้นที่ที่กว้างขวาง รวมถึงความสะดวกสบาย และการแสดงถึงทักษะช่างฝีมือระดับสูง จนกลายเป็นความงามที่ใช้งานได้จริง โดยทำจากวัสดุธรรมชาติแทบทั้งหมด

นี่ทำมาจากต้นเซลโควาญี่ปุ่น มันแข็งแรงมาก เซลโความีเนื้อแข็งและลายไม้สวย สีก็งดงามด้วยครับ 

“ผมคิดว่าถ้าบ้านเก่าแก่เหล่านี้ดูโดดเด่นออกมาก็น่าจะดี ผมคิดว่าเปลี่ยนสีน่าจะดีกว่า ผมอยากทำให้บ้านเหล่านี้ดูสวยงาม คุณต้องสร้างกลิ่นอายที่เป็นของมันเอง เมื่อเทียบกับโตเกียวหรือเมืองใหญ่ ๆ”


ฟื้นชีวิตให้หมู่บ้าน ด้วยการสร้างบรรยากาศอบอุ่นในพื้นที่

“ผมทำเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาว อย่างที่บอก คุณต้องสร้างบรรยากาศอบอุ่นเชิญชวน ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีใครมา ผมมักจะได้ยินคนพูดว่า ‘นั่นอะไรน่ะ มีคนอาศัยอยู่ด้วยหรอ บ้านเก่า ๆ สกปรกหลังนี้นะเหรอ’ และผมมักตอบกลับไปว่า ‘ใช่ มีคนอยู่’” เบงส์พูด

เบงส์เล่าว่า ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านนี้อาจไม่เข้าใจว่านั่นหมายความว่าอย่างไร เพราะพวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่มาตลอด ดังนั้นเขาจึงคิดว่างานประเภทนี้สำคัญมากต่อการฟื้นชีวิตให้หมู่บ้าน เบงส์บูรณะบ้านเก่าในทาเกโกโทโระให้มีสีสันสดใสหลังแล้วหลังเล่า ความมุ่งมั่นและการอุทิศตนของเบงส์สร้างความประทับใจให้คนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

“ในประเทศเยอรมนี เรามีกฎหมายคุ้มครองอนุสรณ์สถาน ห้ามรื้อถอนอาคารที่มีอายุมากกว่า 100 ปี โดยพวกเขาจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐจำนวนมากเป็นการตอบแทน แต่ที่ญี่ปุ่นไม่มีกฎหมายอย่างนั้น ดังนั้นแม้จะมีบ้านเก่าแบบดั้งเดิม แต่คุณก็ไม่สามารถดูแลรักษาตามลำพังได้ เพราะอย่างนี้สุดท้ายพวกมันจึงโดนรื้อทิ้ง ด้วยเหตุนี้การอนุรักษ์ในพื้นที่เขตชุมชนจึงสำคัญมากมันเป็นหน้าที่ของเรา” เขากล่าว


ปัจจุบัน ความพยายามในการฟื้นฟูชุมชนของเบงส์กำลังแพร่ขยายอย่างรวดเร็ว แม้ในตอนแรกจะได้รับการตอบสนองที่หลากหลายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จากที่เคยเป็นหมู่บ้านทรุดโทรมตอนนี้เริ่มถูกเปลี่ยนไปทีละบ้าน เขามุ่งความสนใจไปที่แกนไม้ของอาคาร การเปิดเผยโครงสร้างนี้ไม่เพียงแต่เผยให้เห็นฐานรากเดิม แต่ยังแสดงให้ห็นถึงผลงานของช่างไม้ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้าง จากนั้นเขาได้ทำงานร่วมกับเจ้าของอาคารอย่างใกล้ชิด พร้อมเพิ่มการตกแต่งที่ผสมผสานระหว่างความเป็นญี่ปุ่นและเยอรมัน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบายและทันสมัยมากขึ้น


สำหรับเบงส์ การฟื้นฟูบ้านเก่าดั้งเดิมแบบญี่ปุ่นเป็นมากกว่าการสร้างบ้านใหม่ เพราะสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการรักษาประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรม และความทรงจำของสถานที่ ตอนนี้เขาได้ปรับปรุงอาคารไปกว่า 60 แห่งทั่วญี่ปุ่น ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองโทกามาจิ และยังคงมีการสอบถามข้อมูลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ผลงานของเขาได้รับการยอมรับทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ปัจจุบัน เบงส์ในช่วงวัยเจ็ดสิบตอนปลาย ก็ยังคงหยัดยืนที่จะใช้ทุกโอกาสเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นภูมิใจในมรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม

“ผมภูมิใจที่ผู้คนจากทั่วญี่ปุ่นขอให้ผมพูดคุยเกี่ยวกับการฟื้นฟูโคมิงกะ ผมมีความสุขถ้าสามารถรักษาบ้านหลังเก่าให้คงอยู่ได้อีกหนึ่งหลัง” เขากล่าวทิ้งท้าย



*Kominka เป็นคำภาษาญี่ปุ่น ตามตัวอักษร หมายถึง “บ้านเก่า” และคำนี้มักหมายถึง บ้านที่สร้างขึ้นไม่เกินช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนี้ยังหมายถึง บ้านที่สร้างโดยใช้วิธีการทางสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นดั้งเดิม คือการไม่ใช้ตะปู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านเก่าของชาวนาซึ่งพบได้ในหมู่บ้านชนบท สะท้อนให้เห็นถึงสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของชาวนาญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ปัจจุบันโคมิงกะถือเป็นโครงสร้างของมรดกทางวัฒนธรรมในญี่ปุ่น


ที่มา


เรื่องโดย