โปสเตอร์ของภาพยนตร์สารคดี “The writer from a country without bookshops” ปรากฏภาพนักเขียน Juan Tomas Avila Laurel ที่ถูกเนรเทศหลังจากออกมาวิพากษ์ระบอบเผด็จการประเทศอิเควทอเรียลกินี (Equatorial Guinea) บ้านเกิดของเขา
“ผมเป็นผู้ลี้ภัยในสเปน แต่ผมไม่เคยยื่นขอสถานะทางกฎหมาย ซึ่งนี่ทำให้ผมสามารถกลับมายังประเทศบ้านเกิดของผมได้อีกครั้ง” Juan Tomas Avila Laurel กล่าวขึ้นระหว่างทางเดินกลับบ้าน เดินเพียงไม่กี่ก้าวเขาก็หยุดอยู่ตรงลานโล่ง ๆ ที่มีบ้านตั้งอยู่ห่าง ๆ เรียงกันหลายหลัง เขาหันหน้ากลับมาส่งสัญญาณบอกเรากลาย ๆ ว่า ถึงบ้านของเขาแล้ว
สำหรับนักเขียนที่คว้ารางวัลมาจากเวทีนานาชาติคนนี้ บ้านที่ใครหลายคนวาดฝันคงไม่พ้นบ้านหลังใหญ่โตโอ่อ่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน แต่ในความเป็นจริง Avila ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ตรงผนังด้านนอกมีตะไคร่น้ำเกาะอยู่เต็มไปหมด และไม่มีแม้น้ำสำหรับอุปโภคบริโภค เพราะพื้นที่แห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากมาลาโบ ประเทศอิเควทอเรียลกินี ไปกว่า 4,000 กิโลเมตร
ประเทศที่เขาอาศัยอยู่นั้น ตั้งอยู่ระหว่างแคเมอรูนและกาบอง บนชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก ซึ่งถูกยกให้เป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็กที่สุดแห่งหนึ่งของแอฟริกาอีกด้วย
เมื่อนำมาเทียบกับจังหวัดในประเทศไทยพบว่า ประเทศอิเควทอเรียลกินีมีขนาดใกล้เคียงกับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสงขลารวมกันเท่านั้น แต่ขุมสมบัติที่ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้แอบซ่อนไว้ คือ “น้ำมัน” ที่ใครต่อใครต่างหวังจะครอบครอง
ประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้มีจำนวนประชากรเพียงแค่ 1.4 ล้านคน และดูเหมือนจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ หลังจากต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการของประธานาธิบดี Teodoro Obiang Nguema Mbasogo ซึ่งกินเวลานานกว่า 40 ปี และดูเหมือนประเทศที่มีระบบอำนาจแบบผูกขาดจะทำให้ประชาชนในประเทศไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก นอกจากการอพยพออกนอกประเทศเพื่อไขว่คว้าเสรีภาพที่ประเทศบ้านเกิดของตนไม่อาจหยิบยื่นให้ได้
หากนึกภาพความโหดร้ายของระบอบเผด็จการภายใต้การปกครองของ Teodoro Obiang Nguema Mbasogo ไม่ออก Avila ได้ยกตัวอย่างง่าย ๆ ขึ้นมา คือ หากประชาชนคนใดก็ตามมีความคิดหรือแนวคิดที่จะต่อต้านระบอบการปกครองของเขาก็จะถูกจำคุก ไม่ก็ถูกอุ้มฆ่า โดยไม่สนกฎหมายบ้านเมืองแต่อย่างใด ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในประเทศอิเควทอเรียลกินี ดินแดนไร้เสรีภาพที่กดขี่ประชาชนมาเป็นเวลานานถึงสี่ทศวรรษ
ชายผู้ถูกเนรเทศ
Juan Tomas Avila Laurel อาศัยอยู่ในสเปน ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคมของอิเควทอเรียลกินีตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองดูไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นและนับวันมีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ หันไปมองทางไหนก็ต้องปะทะกับสายตาความสิ้นหวังของเพื่อนร่วมชาติ Avila จึงตัดสินใจลุกขึ้นมาทำการประท้วงด้วยการอดอาหาร ซึ่งการกระทำของเขาย่อมทำให้ผู้นำการปกครองไม่พอใจ หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ต้องอพยพลี้ภัยทางการเมืองออกนอกประเทศในที่สุด
เมื่อเขาลี้ภัยมายังสเปน เขาก็คิดว่าจะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อตีแผ่ระบอบการปกครองเผด็จการที่เลวร้าย หลังจากนั้นไม่นานเขาและผู้กำกับชาวสเปน Marc Serena จึงเริ่มเตรียมการสร้างโปรเจกต์ภาพยนตร์สารคดีร่วมกัน เพื่อตีแผ่เรื่องราวของผู้นำระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจนานที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก
แม้จะใช้เวลาหลายปีในการถ่ายทำและตัดต่อ แต่หลังจากที่ภาพยนตร์สารคดี El escritor de un país sin librerías (The writer from a country without bookshops) ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นครั้งแรกในงานเทศกาลภาพยนตร์ Tübingen CineLatino ประเทศเยอรมนี ในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2020 ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม จากงานหนังสือ Frankfurt Book Fair ที่จัดขึ้นในเดือนตุลาคม
Photo Credit: elescritordeunpais.com
อภิสิทธิ์ชนกับการทำนาบนหลังคน
ในปี ค.ศ. 2018 Marc Serena ร่วมกับนักเขียนที่ถูกข่มเหงทางการเมืองได้เดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของเขา “สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดเกี่ยวกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ คือ เรื่องราวที่ไม่สามารถพูดได้ในประเทศอิเควทอเรียลกินีสามารถนำมาใส่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ทั้งหมด และเราก็พบว่ามีคนจำนวนมากที่พร้อมให้การช่วยเหลือเรา แต่เราไม่สามารถกล่าวถึงพวกเขาได้ เพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง” Serena กล่าว
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้หยิบยกข้อมูลเชิงลึกที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนของประเทศที่มีนักท่องเที่ยวน้อยคนนักจะตั้งไว้เป็นหมุดหมายการเดินทางของตน เพราะหากคุณยื่นหนังสือเดินทางมาก็คงจะถูกปฏิเสธ อีกทั้งในประเทศยังขาดระบบโครงสร้างพื้นฐานอยู่มาก เช่น ท่าอากาศยาน ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา ระบบกำจัดขยะ เป็นต้น จึงทำให้ธรรมชาติในประเทศยังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ โดยเฉพาะบนเกาะต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวยังไม่เข้ามาเยือน
ในช่วงทศวรรษที่ 1990 มีการค้นพบแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ซึ่งในภาพยนตร์สารคดีได้ฉายภาพสะท้อนออกมาให้เราเห็นว่า คนส่วนใหญ่ยังคงดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิม นอกจากนั้นยังได้ตีแผ่ให้เห็นอีกว่าสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า ก็ยังคงไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ และปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือ ระบบการศึกษาที่ถูกกดขี่ภายใต้อำนาจของคริสตจักร
Photo Credit: elescritordeunpais.com
ส่วนทางด้านลูกชายของประธานาธิบดีเผด็จการ Teodorin Nguema Obiang Mangue ก็ไม่ได้สนใจความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศแม้แต่น้อย เขาได้โพสต์ภาพรถยนต์หรู รถจักรยานยนต์ และเครื่องบิน ลงบนอินสตาแกรมโดยไม่สนใจคำครหาแต่อย่างใด ขณะที่ลูกชายของจอมเผด็จการกำลังเสพสุขอยู่บนชีวิตอันหรูหรา ภาพยนตร์สารคดีก็ได้ฉายภาพสะท้อนให้เห็นอีกด้านของประเทศว่า ในขณะที่ชนชั้นปกครองกำลังกินหรูอยู่สบาย ชาวบ้าน ประชาชนตาดำ ๆ กลับต้องเดินลากอวนลงเรือไม้เก่า ๆ ที่จะพังแหล่ไม่พังแหล่ แต่ก็ต้องจำใจหอบร่างกายและเรือโทรม ๆ ลำนี้ออกสู่ทะเล แม้จะจับปลาได้เพียงไม่กี่ตัวกลับมาก็ตาม
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาก่อนที่จะเกิดการพิจารณาคดี “เจ้าชายแห่งมาลาโบ” ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ซึ่งศาลกรุงปารีส ได้พิจารณาแล้วว่า ลูกชายของประธานาธิบดีอิเคลทอเรียลกินีมีความผิดจริงในข้อหาทุจริตทางการเงิน และได้สั่งจำคุกพร้อมทั้งปรับเงินเป็นจำนวน 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
วัฒนธรรมที่ถูกกลืนหาย
Juan Tomás Avila Laurel เขียนหนังสือโดยใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลัก ซึ่งเป็นภาษาทางการที่อิเควทอเรียลกินียังคงอนุญาตให้สอนในโรงเรียน แต่ภาษาแม่ของเขาจริง ๆ คือ ภาษา Annobonese ซึ่งนับวันจะมีคนรู้ภาษาเก่าแก่นี้น้อยลงเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีผู้รู้ภาษา Annobonese เพียงแค่ 5,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บนเกาะ Annóbon และเป็นเกาะที่เขาลืมตาออกมาดูโลกเป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1966 อีกด้วย
แม้ผลงานการประพันธ์ของเขาจะได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แต่ในประเทศบ้านเกิดของเขากลับแทบไม่มีคนรู้จักนักเขียนผู้เลื่องชื่อคนนี้เลย เพราะในอิเควทอเรียลกินี ร้านหนังสือเป็นของหายากพอ ๆ กับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน หนังสือที่เขาเขียนเพื่อสื่อสารถึงคนในทุกช่วงอายุจึงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบเท่านั้น และเมื่อไม่นานมานี้ร้านหนังสือที่มีอยู่เพียงร้านเดียวในเมืองหลวงมาลาโบก็ปิดตัวลงและย้ายไปที่ชานเมืองแทน
Photo Credit: elescritordeunpais.com
“เมื่อพูดถึงการนำเข้ารถยนต์หรือตู้เย็น สิ่งของพวกนี้สามารถนำเข้ามาได้ง่าย ๆ” Avila กล่าว
“แต่หนังสือ… พวกมันไม่มีความสำคัญ พวกเขาไม่สนใจและไม่อยากจะสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นในสังคม”
ในประเทศอิเควทอเรียลกินีไม่มีพรรคฝ่ายค้าน มีเพียงพรรคของผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี ผู้ครองเสียงข้างมากในสภาเท่านั้น ซึ่งในสารคดีของ Avila ก็ได้สร้างความไม่ลงรอยระหว่างทีมงานสร้างภาพยนตร์ขึ้นมา โดย Melibea Obono นักประพันธ์ที่มีชื่อเสียง นักรัฐศาสตร์ และนักเคลื่อนไหว LGBTQI หนึ่งในสามคนจากทีมงานสร้างภาพยนตร์ก็ได้ออกมากล่าวถึงปัญหาที่จะตามมาหากพวกเขาตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ออกไปสู่สายตาชาวโลก
เพื่อนร่วมงานของเขาไม่อยากจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลโดยตรง แต่เขาจะให้ความสำคัญกับงานเขียนของ Avila เป็นหลักมากกว่า แต่ความจริงที่สารคดีได้เผยแพร่ออกมานั้นทำให้พวกเขาทั้งสามคนต้องตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน นั่นคือจับกุมและจำคุกเช่นเดียวกับปัญญาชนและศิลปินคนอื่น ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว
ไม่ต่างจากแร็ปเปอร์ Jamin Dogg หลังจากเขาได้ปล่อยเพลงประกอบภาพยนตร์สารคดีออกมาก็ถูกทางการจับกุมทันที เพราะเนื้อเพลงต่อต้านเผด็จการของเขา ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศิลปินนักร้องถูกทางการจับกุมเพราะออกมาแสดงออกทางการเมือง อันที่จริงการประท้วงที่ส่งเสียงออกมาดังกึกก้องมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การประท้วงต่อต้านเผด็จการ มาจากนักดนตรีประเทศแอฟริกัน แร็ปเปอร์หนุ่มผู้มีฉายาว่า Negro Bey ได้ปล่อยเพลง “Letter to the President” หรือจดหมายถึงประธานาธิบดี ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านเผด็จการที่ร้อนแรงไม่ต่างกัน เขาเล่นเพลงนี้เรื่อย ๆ จนกระทั่งตำรวจเข้ามารวบตัวเขาในที่สุด
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนผลักให้ Serena และ Avila ตกอยู่ในห้วงความมืดมิด ทั้งสองคนไม่สามารถออกมาพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในที่สาธารณะได้ แม้จะอยากออกมาแสดงออกมากขนาดไหนก็ตาม แต่พวกเขายังมีคนรอบข้างให้ดูแล ดังนั้นการกระทำใดก็ตามที่ทำให้เขาและคนรอบข้างเป็นอันตราย การหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงจึงกลายเป็นทางออกที่ดีกับทุกฝ่าย
แต่โชคชะตาก็เล่นตลกกับ Avila อีกครั้ง หลังจากเขากลับมาอยู่ที่บ้านเกิดของตัวเองในปี ค.ศ. 2020 ได้ไม่นาน ทั้งโลกก็ต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และประเทศที่เขาอยู่ตอนนี้ก็มีวิธีการรับมือกับการระบาดได้แย่ที่สุดในโลกอีกต่างหาก ทำให้แผนที่เขาจะกลับมาอยู่เพียงไม่นานต้องถูกยืดระยะเวลาออกไปอีก
สำหรับผลงานที่ผ่านมาของ Juan Tomás Avila Laurel มีทั้งนวนิยายและบทกวี ซึ่งได้ตีพิมพ์เป็นภาษาสเปนแล้วจำนวน 17 เรื่องด้วยกัน หนึ่งในผลงานที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของเขาได้แก่ Arde el monte de noche (By Night the Mountain Burns, 2014) และ Panga Rilene นิยายวิทยาศาสตร์แนวดิสโทเปียที่ช่วยกำหนดแนวทางงานเขียนของนิยายแนวแอโฟรฟิวเจอริสม์ (Afrofuturism) และในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2020 ผลงานล่าสุดของเขา “Red Burdel” ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาสเปน
ที่มา
- New documentary explores one of the world’s oldest dictatorships. www.dw.com