Kind Local

กว่า 4 ปีในการได้มาของ GI “ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์” ความภาคภูมิของคนพื้นถิ่น


ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์ และข้าวไร่ลืมผัวเพชรบูรณ์ ล้วนเป็นสายพันธุ์ข้าวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) แสดงถึงภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น สร้างความภาคภูมิให้คนในชุมชนกันมาแล้ว ล่าสุด กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียน GI ให้กับ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการกว่าจะได้ GI นี้ใช้เวลาถึง 4 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559


เบื้องหลังการได้เครื่องหมาย GI ของข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการได้มาของเครื่องหมาย GI ที่บ่งบอกถึงการที่ชุมชนอาศัยลักษณะเฉพาะของพื้นที่ที่ตนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพดิน ฟ้า อากาศ วัตถุดิบที่มีในพื้นที่ รวมไปถึงภูมิปัญญาที่สร้างสมสืบทอดกันมาในท้องถิ่น มาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก หรือสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ผลิตเป็นสินค้าที่มีคุณลักษณะพิเศษ ต่างจากสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่น

สำหรับ ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ไปเมื่อปี พ.ศ. 2559 จากนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีจดหมายตอบกลับมาให้ดำเนินการเพิ่มเติมใน 3 ส่วน คือ 1. มีงานวิชาการเพื่อยืนยันถึงความโดดเด่นหรือเอกลักษณ์ของข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ 2. มีระบบการผลิตของผู้ปลูกและผู้ประกอบการโรงสีที่ชัดเจนและสามารถยึดเป็นแนวปฏิบัติได้ และ 3. มีระบบตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน 

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัย การปรับตัวทางการเกษตรเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวรองรับเมืองท่องเที่ยวเชิงกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภายใต้ทุนวิจัยท้าทายไทยของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยการสนับสนุนของฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (ABC) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบลักษณะเฉพาะทางกายภาพและเคมีของข้าวหอมมะลิภูเขาไฟในเขตภูเขาไฟ จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมทั้งพัฒนาระบบควบคุมตรวจสอบสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟให้เกิดขึ้น



คุณสมบัติอันหาที่ใดเหมือนมิได้ ของข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์

อาจารย์รุ่งเรือง งาหอม จากคณะวิทยาศาสตร์ มรภ.บุรีรัมย์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าวถึงที่มาของงานวิจัยที่มีการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2561-2562 ว่า “แม้ข้าวหอมมะลิที่ปลูกในเมืองไทย จะมีรูปร่างหน้าตาเหมือนกันหมด แต่การที่ทีมวิจัยของเรามีประสบการณ์เกี่ยวกับการวิเคราะห์แร่ธาตุและองค์ประกอบในชุดดินภูเขาไฟของบุรีรัมย์ คือชุดดินบุรีรัมย์ ชุดดินวัฒนา และชุดดินชัยบาดาล รวมถึงในเนื้อเยื่อของพืชที่ปลูกบนดินภูเขาไฟของบุรีรัมย์มาในระดับหนึ่ง เราจึงมั่นใจว่า จะสามารถใช้งานวิจัยมาสร้างความโดดเด่นให้กับข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ เพื่อขอจด GI ของจังหวัด” 

ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีปริมาณสารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างน้อย 2 ชนิด สูงกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่น ๆ


ทีมวิจัยได้เปรียบเทียบผลการวิเคราะห์สารสำคัญในข้าวหอมมะลิที่ปลูกในชุดดินภูเขาไฟของบุรีรัมย์ ทั้ง 7 อำเภอ ที่ปลูกในปี พ.ศ. 2561 กับสารสำคัญในข้าวหอมมะลิ GI ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ เช่น ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี พบว่า ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีปริมาณสารสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างน้อย 2 ชนิด สูงกว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูกในพื้นที่อื่น ๆ คือมีฟอสฟอรัส (ช่วยในการสร้างกระดูกและฟัน) และแคลเซียม (มีหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาท การหดตัวทำงานของกล้ามเนื้อ แข็งตัวของเลือด และความดันโลหิต) สูงกว่าข้าวหอมมะลิทั่วไปประมาณ 109-226% และ 65-149% ตามลำดับ

“เป็นข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ปลูกในฤดูนาปี บนพื้นที่ที่มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ทำให้เมล็ดข้าวเรียวยาว เลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกจะเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง”


4 ปีกับความมุ่งหวังที่เป็นจริง

นอกจากการวิเคราะห์ทางเคมีแล้ว งานวิจัยนี้ยังจัดทำในส่วนของระบบควบคุม ระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ รวมถึงระบบการลงทะเบียนเข้าร่วมในการผลิตหรือแปรรูปข้าวหอมมะลิ GI และที่สำคัญมาตรฐานของการผลิตทั้งตัวเกษตรกรและโรงสีเกิดขึ้นจากความเห็นร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมในกระบวนการวิจัย ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ เกษตรอำเภอ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวบุรีรัมย์ สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ และเกษตรกรจาก 7 อำเภอของบุรีรัมย์

จากความร่วมมือครั้งนี้ นำไปสู่การประกาศรับรองการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้กับข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้นิยามข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ ว่า “เป็นข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวหอมมะลิพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ปลูกในฤดูนาปี บนพื้นที่ที่มีแร่ธาตุจากดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ทำให้เมล็ดข้าวเรียวยาว เลื่อมมัน มีท้องไข่น้อย เมื่อหุงสุกจะเหนียวนุ่มไม่แข็งกระด้าง”


ปัจจุบันพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์ มีกว่า 100,000 ไร่ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการผลิตข้าวให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นสินค้าข้าวของชุมชน ที่มีกระบวนการผลิตได้มาตรฐาน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้สินค้าข้าวได้การรับรองมาตรฐานการผลิต มีตรารับรองมาตรฐานสินค้า แสดงบนบรรจุภัณฑ์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพและแหล่งผลิตสินค้า ส่งเสริมภูมิปัญญาของคนท้องถิ่น รวมถึงเพิ่มศักยภาพในด้านการแข่งขัน ในระดับภูมิภาคต่าง ๆ และระดับโลก


ที่มา

  • หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

เรื่องโดย