Kindcycle

อยากลดขยะพลาสติก? เขาเหล่านี้ช่วยคุณได้!


ไมค์ สมิธ ต้องการให้ขวดน้ำยาซักผ้าของคุณกลายเป็นมรดกตกทอดของครอบครัว และเขาไม่ได้พูดเล่น

“ทำไมเราไม่ส่งต่อขวดน้ำยาซักผ้าของคุณปู่เป็นมรดกล่ะ?” ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ Zero Co กล่าว “พลาสติกไม่เคยถูกออกแบบมาเพื่อใช้ครั้งเดียวแล้วคงอยู่ตลอดไป”

ในขณะที่ชาวออสเตรเลียจำนวนมากกำลังมองหาหนทางลดการใช้พลาสติก สมิธได้เปิดตัว Zero Co ที่จะทำให้บรรจุภัณฑ์สำหรับน้ำยาซักผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องครัว และห้องน้ำกลายเป็นพลาสติกใช้ซ้ำได้ หลังจากการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพโดยการช่วยเหลือจากนักลงทุน ออเดอร์รอบแรกที่มากกว่า 10,200 ขวดได้นำส่งถึงมือลูกค้าเรียบร้อยเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2020


ครัวเรือนในออสเตรเลียนั้นสร้างขยะพลาสติกมากถึง 45.6% จากขยะพลาสติกทั้งหมดของปี ค.ศ. 2016 – 2017 อ้างอิงจากสำนักงานสถิติออสเตรเลีย มาตรการห้ามส่งออกขยะที่กำลังจะเริ่มยกระดับขั้นแรกในปีหน้าทำให้มั่นใจได้ว่า ขยะพลาสติกของประเทศออสเตรเลียจะต้องจัดการภายในประเทศโดยไม่ส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ จากที่เคยส่งไปอินโดนีเซียและมาเลเซีย สมิธรู้สึกว่าควรจะจัดการขยะในมหาสมุทรบริเวณเส้นทางจากไบรอนเบย์ไปยังประเทศเหล่านี้เป็นอันดับแรก

“มันเหมือนว่าเรากำลังปาร์ตี้บาร์บีคิวอยู่ที่สวนหลังบ้าน แล้วก็เอาขยะจากปาร์ตี้ไปโยนทิ้งไว้ที่ริมรั้วของเพื่อนบ้าน” สมิธกล่าว “เราไม่มีทางที่จะกำจัดพลาสติกได้ทั้งหมด พลาสติกผลิตขึ้นใหม่ตลอด ยกเว้นแต่ว่าเราจะส่งมันออกไปนอกโลก พลาสติกจะอยู่บนโลกนี้ ตอนนี้ และตลอดไป เราสร้างมันขึ้นมาแล้ว มันมีอยู่จริง”


            สำหรับล็อตการผลิตแรก บริษัท Zero Co เก็บขยะพลาสติกได้ถึง 6,000 กิโลกรัมในทะเลจาการ์ตา พลาสติกทั้งหมดได้นำไปทำความสะอาด ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ หลอมเป็นเม็ดพลาสติก “มันดูเหมือนคอร์นเฟลคพลาสติก” และขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ หลังจากนั้นก็บรรจุด้วยน้ำยาทำความสะอาดต่าง ๆ ที่ผลิตจากออสเตรเลีย ซึ่งขวดผลิตภัณฑ์เหล่านี้สามารถเติมใหม่ได้เรื่อย ๆ ด้วยผลิตภัณฑ์ถุงเติมแบบใช้ซ้ำที่จะส่งกลับมาเติมใหม่ที่ Zero Co ได้อีกหลายครั้งเช่นเดียวกัน


            ข้อมูลจากโครงการ Clean Up Australia ระบุว่า ขวดพลาสติกต้องใช้เวลาถึง 1,000 ปีในการย่อยสลาย รายงานปริมาณขยะในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขยะที่เก็บในโครงการ Clean Up Australia Day พบว่าขยะพลาสติกเป็นขยะที่พบมากที่สุดและกระจายทั่วพื้นที่

“ความท้าทายคือการผลิตพลาสติกใหม่นั้นราคาถูกกว่าการรีไซเคิลมาก” พิพ เคียร์แนน ประธานโครงการ Clean Up Australia กล่าว “แต่นั่นคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจะเปลี่ยนแปลง”


            “เราทราบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่อยากเห็นการรีไซเคิลมากขึ้น และลดการใช้พลาสติกของสินค้าที่เขาถืออยู่ในมือ” 

เคียร์แนน ยังกล่าวถึงการไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับผู้บริโภคว่าพลาสติกชนิดใดสามารถรีไซเคิลได้บ้าง

            “ความตั้งใจที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องนั้นมีอยู่จริง” เคียร์แนนเอ่ย “ที่เหลือก็แค่การเริ่มลงมือทำ”

            ความกังวลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ก็มีอยู่เช่นกัน เห็นได้จากผู้ผลิตบางรายยกเลิกการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศที่เปราะบางมากกว่าเมื่อก่อน


            แฟรงกี้ เลย์ตัน ชาวเมลเบิร์น ต้องทนดูระบบนิเวศที่ถูกทำลายลงระหว่างการเป็นลูกเรือของเรือยอชท์ขนาดยักษ์ น้ำเสียถูกปล่อยออกจากท่อน้ำทิ้งด้านข้างของเรือ และด้วยความต้องการที่จะแก้ปัญหา เลย์ตันได้ก่อตั้งบริษัท Dirt Company บริษัทผู้ผลิตน้ำยาซักผ้าแบบ Plant-based โดยมีบรรจุภัณฑ์เป็นขวดแก้ว พร้อมผลิตภัณฑ์แบบถุงเติมสามารถใช้ซ้ำได้ โดยบริษัทจะรับคืนถุงเติม ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ บรรจุน้ำยาซักผ้าใหม่อีกครั้ง และส่งให้ผู้บริโภค อายุการใช้งานของบรรจุภัณฑ์จะอยู่ที่ราว ๆ 4 ปี เลย์ตันกล่าว 
    


            แรกเริ่มเลย์ตันไม่ได้มีแผนสำหรับการ “เติมใหม่” และ “ใช้ซ้ำ” แต่เพราะลูกค้าช่างคุยรายหนึ่งติดต่อเข้ามาและถามเกี่ยวกับโอกาสที่ Dirt Company จะพัฒนาเรื่องสิ่งแวดล้อมไปได้อีกสักก้าว เพราะคำแนะนำนี้ทำให้เกิดการพัฒนาของบริษัทสตาร์ทอัพที่มุ่งเน้นผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

               “การกระจายสินค้าเปลี่ยนไปเยอะมาก” เธอเอ่ย โดยพิจารณาจากพลังของโซเชียลมีเดียที่เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงและส่งของถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว “คุณสามารถย้อนกลับไปยุคคนส่งนมได้โดยไม่ต้องมีใครมาบอกถึงข้อดีของมันให้คุณฟังเลย”

            ในอดีต น้ำยาซักผ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดฟอสฟอรัสในน้ำทิ้งสูง ส่งผลให้สาหร่ายและแพลงก์ตอนเพิ่มจำนวนในน่านน้ำอย่างรวดเร็ว ส่วนประกอบอย่างอื่น เช่น โซเดียมปริมาณมาก ก็สามารถทำลายระบบนิเวศได้ด้วยเช่นกัน ในประเทศออสเตรเลีย โฆษณาผลิตภัณฑ์ซักผ้ามักจะประกอบด้วยคำว่า “มีฟอสฟอรัสต่ำ” เครก บร็อค ผู้อำนวยการด้านนโยบายและกิจการสาธารณะของ Accord Australia Limited สมาคมอุตสาหกรรมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดแห่งประเทศออสเตรเลีย กล่าว

            ธุรกิจขนาดใหญ่บางรายก็เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้วเช่นกัน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่อย่างยูนิลิเวอร์ ออกมาประกาศเป้าหมายของบริษัท “การใช้คาร์บอนเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับครัวเรือน จะต้องถูกแทนที่ด้วยคาร์บอนทดแทนหรือคาร์บอนรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี ค.ศ. 2030” บริษัทยังมีจุดหมายให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือย่อยสลายได้ และต้องรีไซเคิลพลาสติกให้ได้อย่างน้อย 25% ภายในปี ค.ศ. 2025

“แค่ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้ทั้งหมด แต่มันก็เป็นหนทางง่าย ๆ ที่คุณจะเริ่มเปลี่ยนแปลงแบบไม่ยากลำบากอะไรเลย” เลย์ตันกล่าว “ด้วยพลังความร่วมมือของทุกคนจะแก้ปัญหานี้ได้”


ที่มา

  • Riley Wilson. Want to reduce plastic waste? These start-ups can help you clean up your act. www.smh.com.au

เรื่องโดย