Kind Creations

ช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นพยายามปกป้องและรักษา “คามอน” ตราประจำตระกูลไม่ให้สูญหาย


ครอบครัวส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะมีตราประจำตระกูลที่มีลวดลายเฉพาะตัว หรือเรียกว่า “kamon (คามอน)” ซึ่งตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อเป็นการพิสูจน์และแสดงถึงเชื้อสายของตน แม้ปัจจุบันเราจะไม่ค่อยได้เห็นตราประจำตระกูลในบ้านเรือนแล้ว แต่ตราสัญลักษณ์ที่โดดเด่นนี้มักจะถูกสลักไว้บนสุสานและสถานที่อื่น ๆ เพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษ โดยช่างฝีมือสองคนในโตเกียวกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นนี้ให้คงอยู่ถึงรุ่นหลัง


“โชริว” ครอบครัวนายช่างผู้วาด
ตราสัญลักษณ์ประจำตระกูลญี่ปุ่น

โชริว ฮาโตบะ วัย 63 ปี และ โยจิ ลูกชายวัย 36 ปี ทั้งสองเป็นช่างฝีมือจาก Kyogen สตูดิโอเวิร์คชอปใกล้กับย่านอูเอโนะในโตเกียว ที่จารึกตราประจำตระกูลไว้บนชุดกิโมโน โดยชื่ออย่างเป็นทางการของงานศิลปะนี้คือ “monsho uwae-shi (มอนโช อุวาเอะ-ชิ)”

ตามคำบอกเล่าของโชริว มีลวดลายที่ใช้ในตราประจำตระกูลอย่างน้อย 50,000 แบบ ทั้งลวดลายทั่วไป รวมถึงลวดลายทางดาราศาสตร์อย่างดวงจันทร์และดวงดาว พืช ต้นไม้ สัตว์ ชุดเกราะซามูไร และเครื่องมืออื่น ๆ รวมถึงลวดลายแบบนามธรรม (Abstract) อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีสัญลักษณ์ที่แสดงถึงสัตว์ เช่น ม้า กระต่าย นก มังกร กุ้ง และปู แต่ก็ไม่มีลวดลายใดที่แสดงถึงสัตว์อย่างสุนัข แมว วัว หนู หรือปลา


กล่าวกันว่า คามอน หรือตราประจำตระกูล ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงหลังของยุคเฮอัง (Heian) หรือจากปลายศตวรรษที่ 11 ถึงปลายศตวรรษที่ 12 โดยตระกูลฟูจิวาระ ซึ่งครอบครองตำแหน่งกลางในรัฐบาลจักรวรรดิ ที่เติบโตและแบ่งออกเป็นสายต่าง ๆ ตราประจำตระกูลที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่มถูกสร้างขึ้นโดยใช้ลวดลายดอกวิสทีเรีย (Wisteria) และดอกโบตั๋น (Peony) จากนั้นจึงนำตราสัญลักษณ์นี้ไปประดับไว้บนเสื้อผ้าและรถม้าลากวัวเพื่อระบุว่าเป็นของตระกูลใด เมื่อครอบครัวแตกขยายออกไป ความแตกต่างในการออกแบบโดยใช้ลวดลายเดียวกันจึงเกิดขึ้น ทำให้ตราประจำตระกูลมีความหลากหลายมากขึ้น

เมื่อ “คามอน” ไม่ใช่สัญลักษณ์ของชนชั้นสูงอีกต่อไป

คามอน หรือตราประจำตระกูล เริ่มแพร่หลายในยุคสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 – 1868) แม้ว่าบุคคลที่อยู่ในกลุ่มนักรบซามูไรจะได้รับอนุญาตให้มีนามสกุล แต่คนทั่วไปได้รับอนุญาตให้มีชื่อเท่านั้น ถึงกระนั้นก็ตาม

ตราประจำตระกูลสามารถใช้ได้อย่างอิสระในทุกชนชั้นทางสังคม ตั้งแต่ประดับในชุดกิโมโน ชุดพิธีการของนักรบซามูไร แม้แต่พ่อค้าแม่ค้าก็ใช้คามอนเป็นโลโก้ของร้านค้า ขณะที่สามัญชนเองก็ยังสามารถนำตราประจำตระกูลประดับไว้บนเสื้อผ้าหรือสิ่งของได้



โชริว เล่าว่า “ตราประจำตระกูล ซึ่งเป็นเจ้าของโดยโชกุนและขุนนาง (ไดเมียว) ส่วนใหญ่มักจะเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะ และเป็นที่ชื่นชมของชาวเอโดะที่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ นอกจากนี้ ยังมีตราประจำตระกูลรวมอยู่ในเสื้อผ้าที่สั่งทำและทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าของด้วย”

ชื่องานศิลปะของเขาคือ “monsho uwae-shi (มอนโช อุวาเอะ-ชิ)” ซึ่งมีคำว่า “uwae (อุวาเอะ)” (ความหมายคร่าว ๆ คือ ภาพที่อยู่ด้านบน) รวมอยู่ด้วย หมายถึงการวาดตราสัญลักษณ์ลงบนชุดกิโมโน

เดิมที “uwae (อุวาเอะ)” ใช้แสดงถึงการวาดภาพ “ขั้นตอนสุดท้าย” ซึ่งตรงข้ามกับ “shitae (ชิตาเอะ)” (ความหมายคร่าว ๆ คือ ภาพที่อยู่ด้านล่าง) ซึ่งหมายถึง “ภาพร่าง” จึงอาจกล่าวได้ว่า “uwae-shi (อุวาเอะ-ชิ)” ที่เพิ่มเข้ามาเป็นขั้นตอนสุดท้ายจะทำให้ตราประจำตระกูลมีความสมบูรณ์และมีลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละครอบครัวมากขึ้น


ในอดีตเราสามารถพบเจอช่างฝีมือเหล่านี้ได้ในเมืองต่าง ๆ แต่เมื่อวัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาในญี่ปุ่นและผู้คนไม่สวมชุดกิโมโนในช่วงสมัยเมจิอีกต่อไป การใช้ตราประจำตระกูล หรือคามอน จึงลดลงตามไปด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โครงสร้างครอบครัวแบบดั้งเดิมภายใต้ระบบ “ie (อิเอะ)” ถูกยกเลิก ท่ามกลางกระแสความนิยมของครอบครัวแบบนิวเคลียร์ (Nuclear Families) หรือครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1965 – 1974 เทคโนโลยีการพิมพ์แบบซิลค์สกรีน (Silk Screen) เริ่มนำมาใช้ในชุดกิโมโนมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีช่างฝีมือชาวญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่วาดตราสัญลักษณ์คามอนด้วยมือ

“มงคิริงาตะ” ขั้นตอนง่าย ๆ ใคร ๆ ก็วาด
ตราประจำตระกูลได้

ในสตูดิโอเวิร์กชอปของโชริว ช่างฝีมือได้แสดงให้เห็นกระบวนการในการวาดตราประจำตระกูลลงบนผ้ากิโมโน เครื่องมือที่ใช้มีเพียง พู่กันประดิษฐ์ตัวอักษร เข็มทิศญี่ปุ่นแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ไผ่ หรือที่เรียกว่า “bunmawashi (บัมมาวาชิ)” และไม้บรรทัด


โชริวเล่าว่า “โดยทั่วไปแล้วการออกแบบที่ซับซ้อนใด ๆ ทั้งการวาดวงกลมและเส้น สามารถสร้างสรรค์ได้ด้วยเครื่องมือเหล่านี้ เพราะเป็นศิลปะดั้งเดิมที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยเอโดะ เข็มทิศแบบดั้งเดิมที่ข้างหนึ่งเป็นแปรงจะถูกนำมาใช้เพื่อวาดลวดลายนกกระเรียนลงบนผ้า ซึ่งแม้แต่เด็กนักเรียนก็สามารถทำกิจกรรมประเภทนี้ได้ ถ้าพวกเขามีเข็มทิศและไม้บรรทัด ผมอยากให้พวกเขาทดลองทำดู”

นอกจากนี้ สตูดิโอ Kyogen ยังได้ออกแบบชุดอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้คนมีส่วนร่วมในกิจกรรมตัดกระดาษแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า Monkirigata (มงคิริงาตะ) ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของคนในสมัยเอโดะ ผู้ใช้สามารถตัดกระดาษพับตามแม่แบบเพื่อสร้างตราประจำตระกูลของตนเองได้

โชริว ให้ความเห็นว่า “มงคิริงาตะ คือการออกแบบอย่างซับซ้อนด้วยวิธีการง่าย ๆ เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถดึงดูดความสนใจของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ได้”


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ช่างฝีมือสองรุ่นได้สร้างสรรค์ผลงานที่จัดวางเทคนิคดั้งเดิมนี้ให้เป็นรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น รวมถึงออกแบบตราประจำตระกูลสำหรับเครื่องแต่งกายและกำแพงสถาปัตยกรรม และฉายเลเซอร์แสดงถึงตราสัญลักษณ์แบบดั้งเดิม ซึ่งนี่อาจเป็นที่มาของความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่นที่ค้นพบว่า ตราประจำตระกูลเป็นแรงบันดาลใจของเบื้องหลังการออกแบบเสื้อผ้าที่แสดงในงานแฟชั่นโชว์อันทรงเกียรติของตะวันตก

แม้ว่างานหลักของช่างฝีมือคือการวาดตราประจำตระกูลลงบนชุดกิโมโน แต่งานล่าสุดของพวกเขานั้นประกอบด้วยการออกแบบที่ผสมผสานลวดลายคามอนเป็นหลัก โยจิกล่าวว่า “เรามักจะถูกแนะนำในต่างประเทศว่าเป็นนักออกแบบหรือศิลปิน”

“คามอน มีวิธีการใช้พื้นที่อย่างมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับความรู้สึกของการออกแบบสมัยใหม่ มันมีความรุ่มรวยและลึกซึ้ง ผมอยากจะนำรูปแบบที่สวยงามนี้มาประยุกต์ใช้ในชีวิตสมัยใหม่ของเราแทนที่จะมีมันไว้เฉย ๆ ผมคิดว่านี่คือหน้าที่ของเรา” โยจิ ช่างฝีมือวัย 36 กล่าวทิ้งท้าย

Photo Credit: National Diet Library Digital Collections


สำหรับผู้สนใจขั้นตอนการวาดลวดลายคามอน สามารถศึกษาได้จากเอกสารและวิดีโอที่แสดงขั้นตอนต่าง ๆ ในเว็บไซต์สตูดิโอ Kyogen ที่ www.kyogen-kamon.com/


เกร็ดความรู้: ระบบครอบครัวญี่ปุ่นแบบ “ie (อิเอะ)” คือ ครอบครัวที่ยกผู้ชายขึ้นเป็นใหญ่ในตระกูล พ่อบ้านเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดในครอบครัว


ที่มา


เรื่องโดย