Kind Journey

ชุมชนแม่เหาะ หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ ปรับตัวสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนฉบับโลคอล


ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน นับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายแห่งใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวยุค New Normal โดยชุมชนได้นำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้กับการท่องเที่ยวและวิถีของชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ และถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของการท่องเที่ยวโดยชุมชนท้องถิ่น


สัมผัสประสบการณ์ชมวิวแม่เหาะ ผ่านเทคโนโลยี VR และ AR

ชุมชนแม่เหาะ ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลกว่า 1,500 เมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน อากาศเย็นตลอดปีประกอบด้วย 13 หมู่บ้าน มีประชากรกว่า 8,000 คน โดยร้อยละ 80 ของประชากรเป็นชาวปกาเกอะญอ หรือชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งเหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA ได้ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ลงพื้นที่เพื่อดำเนิน โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหา และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยให้การสนับสนุนโครงการด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม จำนวน 4 โครงการ มูลค่าการสนับสนุนกว่า 3.5 ล้านบาท ได้แก่ 

1. โครงการ Green route Good life เที่ยวแม่เหาะ ลัดเลาะชมวิถีกะเหรี่ยง โดยบริษัท โลเคิล อไลค์ จำกัด 

2. โครงการ Sanuk@แม่เหาะ แอ่วเมืองสามหมอกด้วย Sanuk AR (Augmented Reality) โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเซาท์ ออร์แกไนท์เซอร์ แอนด์ ทราเวล 

3. โครงการ แม่เหาะ 360 องศา แพลตฟอร์มท่องเที่ยวชุมชนแม่เหาะเสมือนจริง (Virtual Reality: VR) โดย บริษัท โอเวอร์แลปปิง ดีไซน์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด 

4. โครงการ สร้างระบบลดความชื้นและการอบแห้งผลิตภัณฑ์จากกาแฟแม่เหาะ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ผลิตและแปรรูปกาแฟคุณภาพบ้านแม่เหาะ

สำหรับจุดเด่นของแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวในครั้งนี้คือ การเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับโลกความเป็นจริง เพื่อผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวแบบยั่งยืนโดยชุมชน บนเส้นทางใหม่และการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี VR และ AR สัมผัสประสบการณ์ชมวิวทะเลหมอก พระอาทิตย์ตกดิน ที่ดอยหัวสิงห์ และดอยหว่ากลึโจ๊ะ หรือผาวิหก ได้ทุกช่วงเวลา ทุกฤดูกาล รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เช่น น้ำตกแม่สวรรค์น้อย น้ำพุร้อนแม่อุมลอง เป็นต้น

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชาวปกาเกอะญอ อย่างผลิตภัณฑ์จากกาแฟแม่เหาะ หรือกาแฟหอมเหาะของชุมชน ที่ผ่านการตากแห้งในห้องควบคุมความชื้น ทำให้กาแฟได้ความชื้นที่เหมาะสม มีกลิ่นหอม และรสชาติเข้มข้น รวมไปถึงชาจากดอกกาแฟที่ผ่านการอบแห้งโดยเทคโนโลยี FIR (Far Infrared Radiation) ช่วยรักษา สี กลิ่น และรสชาติให้คงเดิม


ผลักดันโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร

สำหรับโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมของ NIA ในระยะเวลาการดำเนินงานกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานโดยส่งมอบนวัตกรรมสู่พื้นที่ 9 ชุมชน ใน 9 จังหวัดยากจน รวม 38 โครงการ โดยมีผู้สนใจส่งผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้มาเพื่อร่วมส่งต่อไปใช้ประโยชน์ยังพื้นที่ต่าง ๆ รวมกว่า 200 โครงการ และมีนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนเพื่อนำไปขยายผลจริง จนสามารถสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้กว่า 10,500 ครัวเรือน 

คุณคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม NIA เปิดเผยว่า กลุ่มพื้นที่จังหวัดยากจนยังคงเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบในด้านคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้การพัฒนาในพื้นที่เหล่านี้มีการหยุดชะงัก ประชากรหลายกลุ่มได้รับผลกระทบทั้งด้านการจ้างงาน การศึกษา สาธารณสุข รวมถึงการประกอบอาชีพ ซึ่ง NIA เล็งเห็นถึงความสำคัญในการบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ จึงได้นำโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เข้าไปช่วยตอบโจทย์กับผลกระทบที่แต่ละชุมชนได้รับ พร้อมสนับสนุนและจับคู่นวัตกรรมจากกลุ่มสตาร์ทอัพและวิสาหกิจเพื่อสังคมกับหมู่บ้าน และชุมชนต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้แต่ละชุมชนมีการคิดค้น หรือนำนวัตกรรมไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและสอดรับกับบริบทของแต่ละชุมชน ซึ่งหาก 1 ชุมชนมีการคิดค้นหรือต่อยอดเพียง 1 นวัตกรรม ก็จะสามารถช่วยให้ทั้งเศรษฐกิจในระดับฐานราก คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น


เรื่องโดย