ถ้าจำไม่ผิด วันนั้นคือเย็นวันศุกร์ ขณะที่เดินดุ่ม ๆ ไปป้ายรถเมล์กับเพื่อนคนหนึ่ง สายตาก็พลันไปปะทะกับร้านหนังสือธรรมดา ๆ ร้านหนึ่งหน้าซอยรามคำแหง 24 ที่ด้านหน้าร้านวางเหล่าบรรดานิตยสารละลานตา ส่วนฝั่งซ้ายภายในร้านนั้นมีการ์ตูนมังงะเรียงทิวแถวยาว และฝั่งขวาเป็นหนังสือนวนิยายหลากหลายประเภท พร้อมมีแมวสีเทาลายเสือนั่งจุ้มปุ๊กอยู่เหมือนกำลังรอต้อนรับ ซึ่งนั่นคือครั้งแรกที่ได้พบกัน จากนั้นจุดเริ่มต้นของความไม่ธรรมดาก็เกิดขึ้น…
จะบอกว่าประทับใจตั้งแต่แรกพบก็ว่าได้…
ถ้าอ่านจากป้ายหน้าร้าน ร้านนี้ชื่อว่า “ขวัญ” แต่ถ้าถามคนแถวนั่นอาจจะได้คำตอบว่า “ร้านพี่เรดราม 24” ซึ่งนั่นก็คือชื่อเจ้าของร้านผู้ใจดี ที่ไม่ได้มองคนมาซื้อหนังสือว่าเป็นแค่ลูกค้า แต่กลับมองว่าเป็นคนในครอบครัว และนี่คือความไม่ธรรมดาอย่างแรกที่เราได้พบ ส่วนอย่างที่สองคือ อายุอานามร้านเล็ก ๆ ร้านนี้ที่ยังยืนหยัดอยู่ได้กว่าสามสิบขวบปี ขณะที่หลายร้านรายรอบเบาบางลงทุกที ๆ
และสิ่งถัดไปที่เราสนใจก็คือ “มังงะ” หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่เรียงรายขนัดแน่นเต็มร้าน ไม่ว่ายุคสมัยไหนทำไมเจ้ามังงะถึงยังคงได้รับความนิยมอยู่เสมอ ว่าแล้วก็ไปทำความรู้จักกับความไม่ธรรมดาเหล่านี้จากปากของ “พี่เรด-ธัญญ์นรี แสนสุข” กัน
คำถาม: ทำไมถึงอยากเปิดร้านหนังสือ? ร้านนี้เปิดมานานหรือยัง?
พี่เรด: “จุดเริ่มต้นเกิดจากความรัก รักหนังสือ เพราะว่าชอบอ่านมาตั้งแต่เล็ก ๆ นั่นก็เลยเป็นจุดบันดาลใจให้เปิดร้าน แต่เมื่อก่อนเปิดเป็นร้านเช่ามาก่อนแถวหน้ารามฯ ปี 2524 เรียกว่าเป็นเจ้าแรกเลยก็ได้ แล้วจากนั้นก็ย้ายมาตรงนี้ ผ่านมาตอนนี้ก็ 30-40 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกก็เปิดเช่านิยายไทย นิยายจีน การ์ตูนญี่ปุ่น แต่เขายังไม่เรียกกันว่ามังงะนะ การ์ตูนเช่านี่คือจะมีคนมารอ อย่าง ‘นักรักโลกมายา’ นี่ดังมาก คนจะยืนรอเลยว่าวันนี้ออกหรือยัง”
ด้วยความที่พี่เรดเป็นนักอ่านตั้งแต่วัยเยาว์ การเปิดร้านหนังสือจึงเป็นธุรกิจที่ทำจากพื้นฐานของความรัก ทั้งยังสั่งสมประสบการณ์ในแวดวงการขายหนังสือมาอย่างโชกโชน (เพราะทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เลยทีเดียวเชียว) พร้อมคงอัตลักษณ์การขายที่เข้าถึงลูกค้าได้อย่างสนิทชิดเชื้อ แต่ก็ไม่กลัวที่จะปรับเปลี่ยนเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่เข้ามา จึงไม่น่าแปลกใจหากจะยังยืนหยัดมาได้ยาวนานเกือบ 40 ปี
เล่าเล่นเล่น: การ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง “นักรักโลกมายา” หรือ “หน้ากากแก้ว” (Garasu no Kame) เป็นผลงานของซุสุเอะ มิอุจิ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย สำหรับการจัดพิมพ์ในประเทศไทยช่วงแรก ๆ ไม่ค่อยแน่ชัดนักในเรื่องของลิขสิทธิ์ ครั้งแรกจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มิตรไมตรีใช้ชื่อว่า “หน้ากากแก้ว” ตีพิมพ์เล่ม 1-4 เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2523-2524 หลังจากนั้นเปลี่ยนมาจัดพิมพ์โดยวิบูลย์กิจ ใช้ชื่อว่านักรักโลกมายา
คำถาม: มีวิธีการเลือกหนังสือที่จะนำมาขายอย่างไร แล้วทำไมต้องเป็นมังงะ?
พี่เรด: “จริง ๆ คือเลือกไม่ได้มันมาเป็นเซตเดียวกัน เราจะมาเลือกว่าฉันจะขายการ์ตูนอย่างเดียวไม่ได้ การเป็นร้านเนี่ย เหมือนคนหนึ่งใช้ของอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งใช้ของอย่างหนึ่ง ถ้าเข้ามาปุ๊ปเรามีอย่างเดียวให้เขา เราก็ขายไม่ได้ เหมือนการ์ตูนเหมือนกัน เราก็จะมีนิยาย มีนิตยสาร บางคนไม่อ่านอันนี้ก็จะมีตัวเลือกอื่นให้ ”
คำถาม: กลุ่มคนที่มาซื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนอายุเท่าไร?
พี่เรด: “มีตั้งแต่นักเรียนประถม มัธยม คนทำงาน ตอนเด็กก็ซื้อได้ พอโตมาก็กลับมาซื้อเก็บอีก เคยมีบางคนไปเมืองนอกกลับมาซื้อเล่มนี้ไม่ทันก็มาซื้อเก็บร้านเรา เดี๋ยวนี้หนังสือน่าเก็บมาก หรือบางทีตอนเด็กมีกำลังเงินไม่พอ แต่ตอนนี้มีกำลังก็ซื้อได้ คือมีคนหลากหลายอายุ”
จากการพูดคุยเล็ก ๆ กับลูกค้าท่านหนึ่งในร้าน เป็นชายหนุ่มโอตาคุอายุราว 30 กว่าปี ขณะกำลังเลือกซื้อมังงะหลายสิบเล่ม “มาซื้อที่นี่บ่อยครับ ชอบอ่านมานานแล้ว เรื่องที่ชอบอ่านแรก ๆ ก็ดราก้อนบอล แต่เมื่อก่อนไม่มีตังค์ซื้อ วันนี้มีแล้วก็เลยมาตามเก็บ”
ชายหนุ่มในชุดพละนักเรียนสีฟ้า สอบถามได้ความว่าชื่อ ฟีน กำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2 ซึ่งกำลังยืนจ้องมังงะในชั้น “อ่านมังงะมา 3 ปีแล้ว ตอนนี้กำลังอ่านเรื่อง มายฮีโร่ อคาเดมี่ อ่านแล้วชอบ มีการปูเรื่องได้ดีครับ”
แม้บางทีภาพจำเก่า ๆ อาจจะคิดว่า กลุ่มคนที่อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน ก็อาจจะตีความแคบเกินไป เพราะจากการสังเกตลูกค้าที่เดินเข้าออกร้านพี่เรดแล้ว นับว่ามีความหลากหลายทีเดียว
คำถาม: กระแสของมังงะในแต่ละยุคสมัยเป็นอย่างไรบ้าง และปัจจุบันเป็นอย่างไร?
พี่เรด: “เมื่อก่อนการ์ตูนก็ขายได้อยู่ แต่ไม่หลากหลายเท่าทุกวันนี้ เพราะมีสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เกิดใหม่เยอะขึ้น แต่ผ่านมาเรื่อย ๆ ก็เริ่มดร็อปลง เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามา แต่การมีเทคโนโลยีเข้ามาก็ดีอย่าง คือพอลูกค้าเราได้อ่านมาก่อนในเน็ต เหมือนก็เป็นการสกรีนว่าเล่มนั้นดีเล่มนี้น่าอ่าน ดีนะ มันคือการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ตอนแรกก็เฟลเพราะพอเป็นอีบุ๊กเศรษฐกิจก็ลดน้อยลง แต่ว่าธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องห้ำหั่น ไม่ต้องเอาเปรียบลูกค้า อย่างลูกค้าเราเป็นเด็กนักเรียน เราได้เจอคนน่ารัก ๆ ไม่ต้องมีผลประโยชน์กันมากมาย”
การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยย่อมส่งผลกระทบกับการทำธุรกิจหนังสืออย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว แม้ว่าสื่อออนไลน์หรืออีบุ๊กจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนบางกลุ่มไป แต่ก็ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังคงชื่นชอบการอ่านหนังสือแบบกระดาษ ทั้งนี้หากมองในมุมมองบวกตามที่พี่เรดกล่าวไว้ จะเห็นว่าการอ่านตัวอย่างเรื่องราวของหนังสือผ่านสื่อออนไลน์ หรืออีบุ๊กมาก่อนกลับช่วยส่งเสริมการอ่านหนังสือได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะทำให้ซื้อหนังสือได้อย่างมั่นใจ
“ปัจจุบันแต่ละสำนักพิมพ์ก็มีความโดดเด่นต่างกันไป ตอนนี้ที่ขายดีก็เป็น ‘สะดุดรักแฟนเช่า’ ‘เจ้าสาวแฝด 5’ ‘เกิดใหม่ทั้งทีก็เป็นสไลม์ไปซะแล้ว’ ถ้าเป็นของสำนักพิมพ์ฟินิกซ์ก็จะเป็น ‘มหาศึกคนชนเทพ’ เรื่องนี้สนุกมาก ถ้าเป็นของสยามอินเตอร์ก็จะเป็น ‘ดาบพิฆาตอสูร’ ‘วันพีช’ ‘สปายแฟมิลี่’ ส่วนวิบูลย์กิจก็ ‘โคนัน’ ดังมาก ของเนชั่นก็ ‘โจโจ้’ ‘ดราก้อนบอน’ กับ ‘สแลมดั้งก์’” พี่เรดตอบ
คำถาม: คิดว่าในอนาคตกระแสของการอ่านมังงะจะเป็นอย่างไร? อยากฝากอะไรถึงคนรุ่นใหม่ที่ชอบอ่านหนังสือ
พี่เรด: “ทิศทางของการ์ตูนมีไปได้เรื่อย ๆ กระแสคนตอบรับถือว่าดีอยู่ ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ร้านเราก็ทำการขายแบบเศรษฐกิจพอเพียง ลดราคาให้ลูกค้า ขายต่ำกว่าปก ความจริงลูกค้าไม่ใช่ลูกค้าสำหรับเรา พอเราคิดว่าญาติสนิทมิตรสหายมา ก็เหมือนกับเป็นลูกเราหลานเรามาซื้อ”
พี่เรด: “การอ่านหนังสือก็ดีช่วยผ่อนคลายไม่ให้เครียดมาก แบ่งเบาจากที่เรียนหนัก เวลาเด็กเข้ามาร้านเราก็ดีใจ เหมือนลูกหลานเรามา ถึงเวลาเค้ามาเราไม่ได้คิดว่าเค้าเป็นลูกค้า คิดว่าเป็นญาติสนิทมิตรสหายกัน มีสัมมาคารวะ เราเป็นป้าแก่ ๆ ที่อยากแนะนำให้คนอ่านหนังสือ และเราก็อยากจะอยู่ตรงนี้นาน ๆ”
“มังงะ” ถือว่ามีบทบาทอยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แม้ว่าความนิยมจะมีขึ้นลงตามกระแสการแปรเปลี่ยนของยุคสมัย แต่ก็ไม่เคยหายไปจากสังคม หนึ่งสิ่งที่เราสังเกตได้จากร้านหนังสือแห่งตำนานร้านนี้คือ มังงะเกิดการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่การเล่าเรื่องด้วยภาพก็ยังตอบโจทย์กลุ่มคนที่รักการอ่านอยู่เสมอ และอัตลักษณ์ของร้านหนังสือก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยสร้างบรรยากาศความอยากอ่านได้ไม่น้อย
แม้ว่าระหว่างการสัมภาษณ์จะมีสถานการณ์ที่พี่เรดต้องพูดคุยกับลูกค้า และปลีกตัวไปขายหนังสือให้ลูกค้าอยู่เป็นระยะ ๆ แต่สิ่งนี้กลับทำให้เราได้เห็นบรรยากาศของความอบอุ่น สนุกสนาน และความเป็นกันเองของพวกเขาได้อย่างชัดเจน แม้ภายนอกร้านหนังสือร้านนี้จะดูเป็นร้านธรรมดา ๆ แต่หากได้ลองก้าวเท้าเข้าไปดูอย่างใกล้ชิดแล้ว อาจจะสัมผัสกับเสน่ห์ที่ไม่ธรรมดาบางอย่างที่ KiNd ชักชวนให้ลองไป หรือติดตามได้ที่นี่เลย FB: ร้านการ์ตูนขวัญ ราม24
ที่มา
- ขอบคุณบทสัมภาษณ์ของพี่เรด-ธัญญ์นรี แสนสุข เจ้าของร้านหนังสือขวัญ ซอยรามคำแหง 24
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. หน้ากากแก้ว. https://th.wikipedia.org/wiki