Kind Eyes

Nightcrawler (2014) บทบาทของ “สื่อ” เพื่อ “มวลชน” เพื่อ “เรตติ้ง” หรือ เพื่อใคร?



“ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้”

เพียงแค่มีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต บวกกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (ที่รองรับการถ่ายทอดสด) ก็สามารถรายงานเหตุการณ์ กระจายข่าวสารด้วยตนเองได้ทันที ไม่ต้องพึ่งพาสื่อหรือสำนักข่าวทางโทรทัศน์อีกต่อไป ในขณะที่เห็นด้วยกับประโยคนี้ ก็นึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง ซึ่งเพื่อนที่เรียนด้านสื่อสารมวลชนแนะนำ พร้อมย้ำว่าควรดูสักครั้งก่อนตาย


Nightcrawler (2014) “เหยี่ยวข่าวคลั่ง ล่าข่าวโหด”
▶▷

นอกเหนือจากการเป็นภาพยนตร์คุณภาพที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ประจำปี ค.ศ. 2015 และได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง เจค จิลเลนฮาล (Jake Gyllenhaal) มาแสดงนำ สิ่งที่ทำให้ Nightcrawler เป็นที่ติดตาตรึงใจคงไม่พ้นการตีแผ่เบื้องลึกและจิกกัดวงการสื่อมวลชน รวมถึงกระบวนการทำงานให้ได้มาซึ่ง “เรื่องน่าสนใจ” ที่อาจทำให้บางคนยอมแลกความเป็นมนุษย์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

ภาพยนตร์เล่าถึงเรื่องราวของ ลูอิส บลูม (Louis Bloom) ชายหนุ่มไร้อนาคต ผู้มองเห็นโอกาสในการเป็น “เหยี่ยวข่าว” ที่คอยเก็บภาพจากเหตุการณ์จริง สถานที่จริง และขายให้กับสำนักข่าวต่าง ๆ สำหรับทำข่าวต่อไป โดยเฉพาะภาพถ่ายของคดีรุนแรงและคดีสะเทือนขวัญ บวกกับการแย่งชิงของเหยี่ยวข่าวที่ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว และโอกาสเป็นของคนที่รวดเร็วที่สุดเท่านั้น 


เมื่อจรรยาบรรณและจริยธรรมไม่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคข่าวได้ Nightcrawler ไม่เพียงจิกกัด “หน้าที่สื่อ” ที่ควรนำเสนอความจริงแก่ประชาชน แต่กำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเสพข่าวของผู้คนที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญเรื่องอารมณ์มากกว่าข้อเท็จจริง แม้ว่าความอยู่รอดของสำนักข่าวจะขึ้นอยู่กับความนิยม แต่ในฐานะสื่อมวลชนแล้ว การนำเสนอข่าวควรเป็นเช่นไร การเป็น “สื่อ” ของ “มวลชน” ต้องชี้ให้เห็นความจริงหรือเพื่อทำให้มวลชนคล้อยตามเพื่อความอยู่รอด? พฤติกรรมการบริโภคข่าวสารของมวลชน มีบทบาทในการกำหนดสื่อได้มากน้อยแค่ไหน? ภาพจริงจากสถานที่เกิดเหตุ ร่างไร้วิญญาณของเหยื่อ รอยเลือด ซากปรักหักพัง ภาพเหล่านี้ใช่สิ่งที่มวลชนต้องการรับชมจริง ๆ หรือเป็นเพียงสิ่งที่ถูกใช้เพื่อเร้าอารมณ์สะเทือนขวัญ ให้ได้มาซึ่งความนิยมที่จะต่อลมหายใจของสื่อสำนักข่าว

เมื่อสื่อมวลชนและธุรกิจมาบรรจบกัน จรรยาบรรณ จริยธรรม และการแข่งขันทางการตลาดสามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่ล้ำเส้นได้จริงหรือ?


มากกว่าวงการสื่อมวลชนที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และทิ้งคำว่าจรรยาบรรณกับจริยธรรมไว้ข้างหลัง Nightcrawler ยังสะท้อนด้านมืดของมนุษย์ผ่านตัวละครเอกอย่างลูอิส ชายวัยกลางคนที่ไร้หลักแหล่งและไร้ตัวตนในสังคม แม้ว่าภาพยนตร์จะไม่ได้กล่าวถึงปูมหลังของเขามากนัก แต่ตลอดเรื่องได้แสดงให้เห็นแล้วว่านอกจากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การเป็นที่ยอมรับนับถือจากคนอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งที่ลูอิสโหยหาเช่นกัน ยิ่งการเดินทางในเส้นสายเหยี่ยวข่าวของเขาประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่าไร ความเป็นมนุษย์ของเขาก็ลดลงเท่านั้น

และเรื่องพวกนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากสำนักข่าวมีจรรยาบรรณและมีจริยธรรมอย่างที่ควรจะเป็น


“สื่อ” เพื่อ “มวลชน” เพื่อ “เรตติ้ง” หรือ เพื่อใคร?
▶▷

แม้ว่าจะโดนตั้งคำถามและจิกกัดอย่างเจ็บแสบทั้งจาก ภาพยนตร์ Nightcrawler หรือพื้นที่อื่น ๆ บนโลกออนไลน์ แต่ปัญหาเรื่องความกระหายเรตติ้งก็ยังปรากฏในวงการสื่อมวลชนไม่เคยเปลี่ยน นักล่าข่าวยังปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้เป็นอย่างดี การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเหล่าคนดังเพื่อให้ได้ข่าวสารยังคงอยู่ตราบใดที่สำนักข่าวซื้อภาพของพวกเขา พาดหัวเรียกแขกแต่เนื้อหาด้านในกลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้ประกาศข่าวที่แสดงความคิดเห็นของตนเองออกอากาศ พูดชี้นำผู้ชมด้านหลังจอโทรทัศน์ ไปจนถึงภาครัฐที่ใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการชักจูงผู้คน อันเป็นวิธีที่นิยมอย่างยิ่งในรัฐเผด็จการ


ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุให้ใครหลายคนหมดความเชื่อถือต่อสื่อมวลชน แม้ว่าความนิยมจะเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องแลกกับความน่าเชื่อถือในฐานะสำนักข่าว โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ผู้คนตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น จรรยาบรรณและจริยธรรมของสื่อก็เป็นเรื่องที่มวลชนให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน บวกกับสื่อออนไลน์หลายสำนักที่เข้ามามีบทบาทและเป็นทางเลือกให้กับประชาชน สำนักข่าวโทรทัศน์หลายช่องจึงต้องปรับตัวตามสังคมให้ทัน

ทิศทางของสังคมที่เกิดความตระหนักรู้เป็นเรื่องดีที่จะสร้างแรงกระเพื่อมไปยังผู้ประกอบการธุรกิจสำนักข่าว อย่างไรก็ตาม ตลกร้ายในเรื่องนี้คงไม่พ้น “สื่อ” ซึ่งมีหน้าที่นำเสนอความจริงและนำสังคมให้พัฒนายิ่งขึ้น กลับเป็นฝ่ายวิ่งตาม “มวลชน” เสียเอง 


เรื่องโดย