“เสียงเพลงดังกระหึ่มจนต้องสะดุ้ง ปรากฏขบวนคนแปลกหน้ากลุ่มหนึ่งบนรถทรงสูง เดินหน้าหาเสียงเล่านโยบายเด็ด มือซ้ายถือป้าย มือขวาถือไมค์ พร้อมกับใบหน้ายิ้มแย้มหวานเยิ้มปานน้ำผึ้งเดือนห้า และไม่ลืมที่จะย่อตัวลงต่ำ ก้มหัวลงให้สุดพร้อมยกมือไหว้อย่างนอบน้อม ที่คอเต็มไปด้วยพวงมาลัยจากดอกดาวเรืองเหลืองอร่าม หากเลื่อนมองลงมาจะสังเกตเห็นผ้าขาวม้าที่ถูกนำมาคาดเอวไว้”
เรามักเห็นพฤติการณ์เหล่านี้จนชินตาในห้วงการเลือกตั้ง KiNd จึงพามาตั้งข้อสงสัยสนุก ๆ ว่าวัตถุหาช่วยหาเสียงเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในแวดวงการเมืองได้อย่างไร มีนัยใดแอบแฝงมากกว่าเพื่อการสร้างสีสันหรือไม่ อย่ารอช้า มาไขข้อสงสัยไปพร้อม ๆ กัน
คล้องคอ อวยชัย
_
อีกหนึ่งสีสันที่เรามักเห็นช่วงเลือกตั้ง คือสีเหลืองสุกสว่างสะท้อนแดดของ “พวงมาลัยดอกดาวเรือง” ที่ถูกนำมาคล้องเต็มคอ สวมเต็มแขนของเหล่านักการเมือง ซึ่งแต่เดิมนั้นดอกดาวเรืองมีต้นกำเนิดอยู่ในเม็กซิโก ต่อมาได้มีการนำไปปลูกขยายพันธุ์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและเอเชีย ดอกดาวเรืองยังถือเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮินดูใช้ทำพิธีกรรมทางศาสนาอีกด้วย
มาลัยดอกดาวเรืองในบริบททางการเมืองไม่มีที่มาแน่ชัด มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า ในปี 2531 ดูเหมือนว่าจะเป็นปีแรก ๆ ที่ประเทศไทยเริ่มมีการออกหาเสียงตามบ้านเรือน ชาวบ้านจึงมีการมอบพวงมาลัยเพื่ออวยชัยและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้มาเยือน ในช่วงแรกนิยมใช้พวงมาลัยดอกมะลิ ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นดอกดาวเรืองแทน เพราะมีขนาดดอกที่ใหญ่และมีสีที่โดดเด่นมากกว่า ประกอบกับความเชื่อที่ว่า ดอกดาวเรืองเป็นตัวแทนของความสำเร็จ ช่วยเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตและนำพามาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองตามชื่อ ในอีกแง่หนึ่ง ดอกดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุกที่ปลูกได้ง่าย ออกดอกตลอดทั้งปี และสามารถเจริญเติบโตได้ทุกที่ทุกสภาพแวดล้อม บ่อยครั้งเรามักจะเห็นดอกดาวเรืองเกิดขึ้นเองตามริมรั้วบ้าน ว่ากันว่าคุณสมบัตินี้อาจเป็นนัยสำคัญของนักการเมือง อันแสดงถึงความอดทนและมั่นคงในอุดมการณ์ก็ได้เช่นกัน (ยิ้มแห้ง)
ในอีกข้อสันนิษฐาน พวงมาลัยดาวเรืองในมิติทางการเมืองอาจกำเนิดมาพร้อมกับพรรคความหวังใหม่ หนึ่งในพรรคการเมืองที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533 โดยมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นหัวหน้าพรรค และมีการใช้ดอกทานตะวันเป็นโลโก้ประจำพรรค ทว่าจะนำดอกทานตะวันมาคล้องคอคงดูประหลาด จึงมีการหันมาใช้ดอกดาวเรืองแทน เพราะมีสีเหลืองคล้ายกับดอกทานตะวัน จากนั้นมีการเริ่มใช้กันอย่างแพร่หลายนับแต่นั้นมา
ผูกเอว ผูกใจ
_
Photo Credit: www.khaosod.co.th
พวงมาลัยก็มีแล้ว จะขาด “ผ้าขาวม้า” ได้อย่างไร หนึ่งในภาพคุ้นชินตาของการลงพื้นที่หาเสียงในภาคอีสาน มักนิยมผูกผ้าขาวม้าให้ควบคู่กับการให้พวงมาลัยดอกดาวเรือง แท้จริงเป็นธรรมเนียมตั้งแต่อดีต ชาวอีสานจะใช้ผ้าขาวม้าผูกเอวแขกบ้านแขกเมืองเพื่อแสดงออกถึงการต้อนรับที่อบอุ่น ยิ่งผูกมาก ยิ่งสะท้อนให้คนเห็นถึงความสำคัญของแขกผู้มาเยือน ผ้าขาวม้านับเป็นอาวุธประจำกายของชาวอีสาน โดยมักนำมาพาดบนบ่า ผูกข้างเอว โพกบนหัวหรือหยิบติดมืออยู่เสมอ เพราะผ้าขาวม้ามีสารพัดประโยชน์ ใช้เช็ดหน้าก็ได้ เช็ดตัวก็ดี บางคนถึงกับใช้นุ่งห่ม หรือนำไปปูนอนก็มีเช่นกัน ผ้าขาวม้าในบริบทของการเมืองจึงอาจเป็นการสร้างความสนิทสนมกลมกลืน แม้จะวางตัวดูสูงส่งในขณะเดียวกันก็ต้องดูติดดิน เมื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันเรียบร้อยการจะโกยคะแนนเสียงคงไม่ใช่เรื่องยากเกินจะเอื้อม
ในปี 2562 ที่ผ่านมา พรรครวมพลังประชาชาติไทยยังได้ใช้ผ้าขาวม้าเป็นโลโก้ประจำพรรค โดยมีสีสันคล้ายธงชาติไทยถักทอลายตามสไตล์ผ้าขาวม้า นำมาพาดบ่าและผูกเอวทุกครั้งที่ลงพื้นที่หาเสียงและปรากฏตัวต่อหน้าสื่อ ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็นกันเองและเข้าถึงได้ง่าย ในอีกมิติหนึ่งยังเป็นการสนับสนุนสินค้าของคนในท้องถิ่นได้อีกด้วย
เพลงดัง จูงใจ
_
Photo Credit: www.bangkokbiznews.com
วัตถุหาช่วยหาเสียงสำคัญในการเลือกตั้งอย่าง “เพลงดัดแปลงและรถแห่” ที่สร้างความคึกคักและสีสันได้เป็นอย่างดี หวังดึงดูดความสนใจและจูงใจให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน ซิกเนเจอร์ของการทำเพลงหาเสียงคือ การนำเพลงดังฮอตฮิตในช่วงเวลานั้นมาดัดแปลง โดยการเปลี่ยนเนื้อร้องให้เป็นนโยบายของพรรค หรือคำเชิญชวนให้เลือกพรรคของตน ส่วนใหญ่จะเป็นเพลงทำนองโจ๊ะ ๆ เข้าได้กับทุกวัย แน่นอนว่ามักมาพร้อมกับรถแห่และเครื่องเสียงแบบครบเซ็ต ที่เปิดทีสั่นสะเทือนจนกระจกหน้าต่างแทบแตก แม้ไม่มีที่มาของเพลงดัดแปลงที่แน่ชัด แต่ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ที่หลายคนจดจำ
นอกจากนี้ ยังมีวัตถุหาช่วยหาเสียงอีกหลายชิ้นที่ถูกนำมาผันเสียง เพิ่มเติมนัยแฝงใหม่ ๆ อย่างสายสะพายที่เรามักพบเห็นในการหาเสียงเลือกตั้งของญี่ปุ่นและเกาหลี หรือในอเมริกาและสิงคโปร์ที่หันมาใช้การผลิตวิดีโอ บอกเล่านโยบายบนโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และยูทูบ เพื่อเพิ่มการมองเห็นของประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ทั้งยังเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็น วิเคราะห์ และสอบถามข้อสงสัยผ่านช่องทางเหล่านี้ได้อย่างอิสระด้วยเช่นกัน
อ้างอิง
- ไขที่มา “พวงมาลัยดอกดาวเรือง” คล้องคอ “นักการเมือง” สัญลักษณ์คนรัก อาวุธคนชัง. www.thairath.co.th/scoop/1500716
- ‘ผ้าขาวม้า’ ผูกรอบเอว ‘ผู้มาเยือน’ วัฒนธรรมต้อนรับแขกแบบคนอีสาน. https://thestatestimes.com/post/2022061508
- ทำไมต้องเอาผ้าขาวม้าพาดบ่า? ผู้สมัครรปช.เผยนัยยะสีแห่งสัญลักษณ์ธงชาติไทยและคุณค่าคนธรรมดา. www.thaipost.net/main/detail/31390
- โซเชียล มีเดียกับการหาเสียงของนักการเมืองต่างประเทศ. www.voicetv.co.th/read/11113