Kind Words

บทกวีการเมืองเหนือกาลเวลา: วรรคทองที่ปลุกปั่น ค้ำชู และส่งต่อสู่คนรุ่นเรา

‘การเมือง’ ถือเป็นเรื่องพลวัตที่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายตลอดเวลา นักการเมืองที่เล่นเกมแบบเดิม ๆ ก็จะสอบตกไม่ได้เข้าสภาในที่สุด หรือพูดง่าย ๆ ว่ามุกเดิม ๆ ใช้กับประชาชนไม่ได้แล้ว นักการเมืองมากมายเลยจำต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ เลิกวางมาดกร่าง แล้วหันมากราบประชาชนแทนตอนใกล้ ๆ ช่วงเลือกตั้ง

แต่ ‘บทกวีการเมือง’ กลับยืนหยัดเคียงข้างประชาชน ก้าวผ่านยุคสมัย คอยสดุดีวีรบุรุษ/สตรี บันทึกเหตุการณ์ และชี้นำสังคมเสมอมา ถึงคราวจำเป็นกวีก็ออกมาวิพากษ์และสะท้อนสังคม ผ่านบทกวีอันเป็นอาวุธเพียงไม่กี่ชิ้นที่ปัญญาชนจะครอบครองได้ 

ปลายเดือนเมษาฯ อบอ้าวนี้ KiNd ขอพาคุณกลับไปอ่าน ‘วรรคทองทางการเมือง’ ที่ยังหลงรอดมาบันดาลใจคนรุ่นใหม่ให้มีพลังฮึดสู้

ออกตัวก่อนเลยว่านักเขียนที่เดินทางมายังไม่ได้ครึ่งชีวิตคนนี้ จะไม่บ้าบอ ถอดความอย่างครูภาษาไทย วิเคราะห์ตีความอย่างอาจารย์วรรณกรรม แต่จะจูงมือคนที่เคยอ่านให้กลับไปอ่านซ้ำ ไม่ให้ลืมเลือน และจะโน้มน้าวคนที่ไม่เคยอ่าน ให้ลองชิมรสเศร้าลึกซึ้งของบทกวีชั้นครู

โปรดอ่านบทกวีด้วยจังหวะของตัวเองและดื่มด่ำซึมซับเท่าที่พอจะทำไหว (ข้อความทิ้งท้ายถึงตัวเองและคุณทุกคน)

01 สิบสี่ตุลา

ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า
ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ไม่มีใคร
ล้ำเลิศน่าเทิดทูน
ประชาชนสมบูรณ์นิ
รันดร์ไป
เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่

ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่
เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ
ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน


วิสา คัญทัพ


สถานะของผู้ปกครองนั้นไม่จีรัง (ในที่นี้คือนักการเมืองผู้แทน) เมื่อถึงเวลาก็ต้องผลัดเปลี่ยนกันทำงาน ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว มีเพียงแต่ประชาชนเท่านั้นที่จะอยู่ถาวร ในฐานะเจ้าของอำนาจสูงสุดแห่งรัฐ หากประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้และต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาผ่านการเลือกตั้ง ประชาชนไทยก็จะปลอดภัยจากอำนาจครอบงำทั้งปวง

02 โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา

แต่คนย่อมเป็นคน บ่คือควายที่โง่งึม
ไผเหว
ยจะยอมพึม และพ่ายแพ้ลงพังภินท์  
ฟ้าลวกด้วยเปลวเลือด ระอุเดือดทั้งแดนดิน
วอดวายทุกชีวิน แต่คนยังจะหยัดยืน
ถึงยุคทมิฬมาร จะครองเมืองด้วยควันปืน
ขื่อแปจะพังครืน และกลิ่นเลือดจะคลุ้งคาว 

แต่คนย่อมเป็นคน ในสายธารอันเหยียดยาว  
คงคู่กับเดือนดาว ผงาดเด่นในดินแดน
ถึงปืนก็เถอะปืน เจ้ายิงคนอย่างหมิ่นแคลน  
ใจสู้นี้เหลือแสน กว่าปืนสูจะตัดสิน  

คาวเลือดที่ไหลอาบ ซึมกำซาบในเนื้อดิน
ปลุกใจอยู่อาจิณ ให้กวาดล้างพวกกาลี
ฟ้ามืดเมื่อมีได้ ก็ฟ้าใหม่ย่อมคงมี
แสงทองเหนือธรณี จะท้าทายอย่างทระนง  
เมื่อนั้นแหละคนนี้ จะยืดตัวได้หยัดตรง
ประกาศด้วยอาจอง กูใช่ทาสหากคือไท


จิตร ภูมิศักดิ์


รัฐเผด็จการไร้สำนึกมักคิดว่าประชาชนขี้ขลาด หากใช้กำลังเข่นฆ่าก็จะจบปัญหาได้เสมอ แต่ประวัติศาสตร์ชี้ให้เราเห็นว่าประชาชนจะไม่ยอมอยู่นิ่งเฉยและต่อสู้อย่างกล้าหาญไม่กลัวตายในท้ายที่สุด

03 พลังประชาชน

“หยดฝนย้อย หยาดฟ้า มาสู่ดิน
ประมวลสินธุ์ เป็นมหา สาครใหญ่
แผดเสียงซัด ปฐพี อึงมี่ไป
พลังไหล แรงรุด สุดต้านทาน
อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง
เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล
แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล
ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน”


กุหลาบ สายประดิษฐ์


ถึงใครก็ตามที่เผลอนึกว่า ‘แรงมหาประชาชน’ กับ ‘มวลมหาประชาชน’ ที่ออกมาชัตดาวน์กรุงเทพฯ มีความเกี่ยวโยงกัน ขอบอกอย่างมั่นใจไว้ ณ ที่นี้ว่าทั้งสองเป็นคนละกลุ่ม!

04 “น้ำตา…แม่”

จลาจลนองเลือดเชือดเฉือนจิต
แม่ก็คิดวิตกเศร้ามิเหงาหงอย
รีบตามหาลูกของแม่ด้วยใจลอย

พบลูกน้อยเป็นศพซบลงดิน
สะอื้นร่ำน้ำตาคราที่หลั่ง

มันประดังไหลล้นจนจะสิ้น
ความปวดร้าวระคนจนพังภินท์

ไอ้ชาติหินตัวไหนมันใจทราม
เป็นเพียง
เด็กน้อยน้อยด้อยอาวุธ

มันยิงทรุดถีบซ้ำด้วยใจหยาม
เด็กคนนี้หรือจะสู้ผู้คุกคาม?

ที่มีความทารุณฝังกลางใจแท้
แม้นเหตุการณ์ผ่านไปหลายวันแล้ว

ภาพลูกแก้วนอนตายฝังใจแม่
คนยกย่อง “วีรชน” ก่นดวงแด

แน่แสนแน่แม่กับลูกย่อมผูกพัน”


สุชาติ กาญจนไกรฤกษ์


ไม่เพียงแต่วีรชนผู้กล้าที่จำต้องแลกชีวิตกับประชาธิปไตย แต่ ‘ผู้คนเบื้องหลัง’ — ครอบครัว เพื่อนฝูง — ของวีรชนเหล่านี้ก็ต้องทนรวดร้าวอย่างที่ใครก็ไม่อาจเข้าใจ กวีบทนี้เผยแพร่หลัง ‘วันมหาวิปโยค’ 2 สัปดาห์ เพื่อแทนความคิดถึง ความโศกเศร้า และความโกรธแค้นของแม่ที่ถูกพรากลูกไปอย่างทารุณ

05 “แด่วีรชน”

“กูมีไม้อันเดียวมึงก็รู้ อย่าหลงคิดว่ากูจะวิ่งหนี
สู้เสียอย่าง…ร่างพร้อมกูยอมพลี ไอ้อัปรีย์…ยิงกูดิ้นก็สิ้นใจ
แต่เพื่อนกูล้นหล้าคณานับ จะตามเหยียบมึงให้ยับอย่าสงสัย
คนที่ตายเขาตายให้กับใคร เพื่อคนไทยทั้งชาติซึ่งมึงก็เป็น
แล้วไฉนใจมึงจึงเหี้ยมโหด ร่วมเผ่าโคตรยังเสือกบ้ากล้าฆ่าเข่น
ผลกรรมตามทันมีอันเป็น ดินจะเร้นหลบหน้าหาไม่เจอ”


บัวบาน


การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมที่เริ่มต้นอย่างไม่เป็นธรรม แม้ประชาชน—นักศึกษาจะพกอาวุธไว้ต่อสู้ แต่ก็เทียบไม่ได้กับอาวุธครบมือของเจ้าหน้าที่—ทหาร เมื่อเริ่มต้นอย่างไม่เป็นธรรม ก็ยากที่จะจบลงอย่างสันติ

แต่ไม่ว่าจะเข่นฆ่าประชาชนถึงเพียงไหน เมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยเกินนับไหว ก็ย่อมผุดเกิดขึ้นมาใหม่จนในที่สุด

สิ่งซึ่งควรตั้งคำถามต่อมาคือ ‘ทำไมคนร่วมชาติถึงกล้าข่มเหง รังแก คร่าชีวิตกันในนามของคนที่ดี(กว่า)’



อ้างอิง

  • วริศรา อนันตโท,กวีนิพนธ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ,(วิทยานิพนธ์ปริญญมหาบัณฑิต อักษรศาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), หน้า 318 และ หน้า 330. http://cuir.car.chula.ac.th/bitstream/123456789/2725/3/warisara.pdf

เรื่องโดย