Kind Creations

คนไทย “ล้อการเมือง” ผ่านอะไรบ้าง?

คุณมองการเมืองแบบไหน? แล้วคนในสังคมมองเหมือนกันหรือเปล่า วันนี้ KiNd ชวนย้อนดูความคิดสุดครีเอตทางการเมืองของคนไทยในแต่ละยุค ว่ามีการล้อการเมืองในรูปแบบใดบ้าง ผ่านการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ที่ถ่ายทอดสภาพความเป็นอยู่หรือปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญในยุคนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ ภาพวาดการ์ตูน มีม รวมไปถึงการเดินขบวนล้อการเมืองผ่านป้ายและหุ่นกระดาษในสถาบันการศึกษา

รายการทีวีล้อการเมืองที่เลือนหายไป

ยังจำกันได้ไหม? ในยุคหนึ่งมีรายการโทรทัศน์ที่นำคนหน้าคล้ายนักการเมืองมาเปิดสภาล้อการเมือง “สภาโจ๊ก” ออกอากาศครั้งแรกในปี 2545 มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชมผ่อนคลายความเครียดจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีนักแสดงหน้าคล้ายนักการเมืองหลายคนที่โด่งดังเป็นที่รู้จักในสังคม เช่น ชาติชาย จินดา นักแสดงเลียนแบบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรืออย่างณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นักแสดงเลียนแบบเสียงไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ได้กลายมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัวจริง ต่อมารายการได้ยุติการออกอากาศไปเมื่อปี 2557 ซึ่งขณะนั้นบ้านเมืองอยู่ในการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

 

อีกหนึ่งรายการในความทรงจำ “รัฐบานหุ่น” รายการตลกก่อนข่าวภาคค่ำทางช่องไอทีวี ที่นำแครักเตอร์ของนักการเมืองในยุคนั้นมาทำเป็นหุ่นกระบอกแล้วพากย์เสียง โดยบอกเล่าเรื่องราวของสถานการณ์สังคมที่เกิดขึ้น พร้อมปล่อยมุกสร้างสีสันในรายการ อย่างไรก็ตาม รายการได้ยุติการออกอากาศไปเมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ช่องไอทีวียุติการออกอากาศ



การ์ตูนล้อการเมือง กระจกสะท้อนการเมืองไทย


“ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต
(เปล่ง ไตรปิ่น)
มีนามปากกาว่า “เปล่ง”

Photo Credit: mgronline.com

อีกหนึ่งสีสันของการเมืองไทยคือ “การ์ตูนล้อการเมือง” หากย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองคนแรกของไทยคือ “ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น)” โดยมีนามปากกาว่า “เปล่ง” เริ่มมีผลงานการเขียนการ์ตูนล้อการเมืองที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลิเมล์ตั้งแต่ปี 2466 ต่อมาก็มีนักเขียนการ์ตูนคนอื่น ๆ เกิดขึ้นมากมาย แม้ในอดีตประเทศไทยจะอยู่ภายใต้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ก็มีการใช้ภาพล้อเลียนฝ่ายปกครองออกมาให้เห็น จนกระทั่งประเทศเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเรื่อยมาจนถึงยุคก่อน 14 ตุลา ปี 2516 ที่อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหาร ทำให้นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองต้องระมัดระวังการเขียนภาพและการแสดงความคิดเห็น


“อรุณ วัชรสวัสดิ์”

Photo Credit: www.matichon.co.th


“ชัย ราชวัตร”

Photo Credit: mgronline.com


สำหรับยุคทองของการ์ตูนล้อการเมืองไทย เริ่มต้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา มีการ์ตูนนิสต์การเมืองที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นมากมาย เช่น “อรุณ วัชรสวัสดิ์” จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ The Nation “หมื่น” จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ “ชัย ราชวัตร” และ “เซีย” จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ต่อมาในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคม มีเพจการ์ตูนล้อการเมืองอย่าง “ไข่แมว” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ วาดภาพล้อเลียนที่ไม่มีคำบรรยาย เปิดโอกาสให้ผู้อ่านตีความเอง นอกจากนี้ ยังมีเพจการ์ตูนล้อสังคมที่สอดแทรกเรื่องการเมืองร่วมสมัยเกิดขึ้นด้วย เช่น “Sa-ard สะอาด” “Prakammanu” และ “คนกลมคนเหลี่ยม” 

มีม ภาพล้อการเมืองในโซเชียลมีเดีย

ในยุคนี้หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า มีม (Meme) ซึ่งเป็นภาพสะท้อนการล้อเลียนที่ปรากฏผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ในรูปแบบของตัวอักษร รูปภาพ วิดีโอ คำพูด หรือสัญลักษณ์บางอย่าง ส่วนมากมักจะเป็นมุกตลกที่สามารถเข้าใจได้ทันที ส่วนมีมการเมือง มักจะเป็นรูปภาพที่นำเสนอเรื่องราวทางการเมืองและสัญลักษณ์ทางการเมือง อย่างภาพล้อเลียนผู้นำประเทศ ที่ไม่ได้เสนอแค่การล้อเลียนตัวบุคคล แต่ได้สอดแทรกแง่มุมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจในประเด็นทางการเมือง หรืออาจจะเป็นภาพไวรัลตลก ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย แต่เปลี่ยนคำบรรยายภาพให้เกี่ยวข้องเท่านั้นเอง

การใช้มีมเพื่อแสดงออกทางการเมือง ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางความคิดที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ เพราะตลก เข้าใจง่าย และสามารถเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็วผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย อีกทั้งมีมยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนร่วมสมัยที่จะเข้าใจมุกตลกในภาพนั้น ๆ ได้เช่นเดียวกัน และยังให้ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันด้วย


ด้านฝั่งรั้วการศึกษาไทยมีการเดินขบวนล้อการเมืองผ่านป้ายและหุ่นกระดาษ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่สื่อถึงสภาพทางการเมืองในแต่ละยุคผ่านความคิดของนักศึกษา อย่างในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ที่เริ่มมีขบวนล้อการเมืองเกิดขึ้นในปี 2539 ทั้งนี้ ขบวนล้อการเมืองดังกล่าวเริ่มเป็นที่จับตาของสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย “ล้อการเมือง” เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมานาน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการล้อการเมืองเกิดขึ้นในสังคมปกติ แต่หากเมื่อใดที่สังคมผิดปกติ ก็ไม่แปลกที่ผู้มีอำนาจทางการเมืองจะกระวนกระวายใจ เปราะบางกับคำวิจารณ์จากสังคม จึงหาวิธีสกัดกั้นไม่ให้มีการล้อการเมืองที่กระทบกับผลประโยชน์ของตัวเอง



อ้างอิง

  • การศึกษาเพื่อการสร้างสรรค์ : การ์ตูนล้อ ภาพสะท้อนการเมืองไทย. เฉลิมรัฐ พิกุล https://ir.swu.ac.th/jspui/handle/123456789/4069 
  • การล้อเลียนในเพจเฟซบุ๊กประเภทเสียดสีการเมือง. จันทรวรรณ ตระกุลผิว https://bit.ly/3ZOPvSK   
  • Meme: ภาพสะท้อนการล้อเลียน ผ่านปรากฏการณ์ทางการเมืองในสังคมไทย. คันธพร สาลี www.sure.su.ac.th/xmlui/handle/123456789/23850?attempt=2& 

เรื่องโดย

ภาพโดย