Kind Creations

รัฐบาลดัตช์ส่งคืนงานศิลป์ที่เคยยึดในยุคอาณานิคม กลับสู่แผ่นดินเกิด


รายงานระบุว่า เนเธอร์แลนด์ “ยินดีที่จะคืน” ศิลปวัตถุที่ถูกยึดครองมาโดยปราศจากความยินยอม แต่ดูเหมือนว่าการส่งคืนศิลปวัตถุนั้นจะเป็นเรื่องที่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอีกหลายขั้น จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งคืน ทางคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐบาลดัตช์จึงได้แนะนำรัฐบาลว่า “เนเธอร์แลนด์ควรส่งคืนงานศิลปะที่เคยยึดมาในยุคล่าอาณานิคม กลับคืนสู่ประเทศบ้านเกิด”



เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (7 ต.ค.) ทางคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐบาลได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นและส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ของผู้คนในประเทศอดีตอาณานิคม เช่น อินโดนีเซีย สาธารณรัฐซูรินาม (Suriname) และประเทศหมู่เกาะแคริบเบียน หลังจากใช้เวลาสำรวจนานถึงหนึ่งปีเต็ม ซึ่งผลการสำรวจเผยว่า รัฐบาลควรส่งศิลปวัตถุคืนแก่ประเทศอดีตอาณานิค

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดการตัดสินใจส่งคืนหรือไม่ส่งคืนศิลปวัตถุ ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลดัตช์ เมื่อมองย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2018 ประเทศฝรั่งเศสเองก็เคยได้รับแรงกดดันให้ส่งคืนศิลปวัตถุที่ยึดมาจากสมัยล่าอาณานิคมจากอาณาจักรดาโฮเมย์ ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่หนึ่งในประเทศเบนิน ในทวีปแอฟริกา คืนให้กับรัฐบาลเบนินเช่นกัน 

ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสขณะนั้นปกครองโดยนาย Emmanuel Macron ได้เห็นชอบให้คืนศิลปวัตถุทั้งสิ้น 26 ชิ้น แม้จะมีเพียงหนึ่งชิ้นที่ถูกส่งคืนก็ตาม ขณะที่ นาย David Cameron นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษ ณ ขณะนั้น กล่าวว่า หากอังกฤษเริ่มส่งคืนศิลปะวัตถุ 1 ชิ้น ก็จะตามมาด้วยการส่งวัตถุล้ำค่าแทบทุกชิ้นในพิพิธภัณฑ์ของอังกฤษจนแทบไม่เหลืออะไร 

“นี่คือเรื่องที่น่ายินดี” Jos van Beurden นักวิจัยอิสระที่เชี่ยวชาญด้านการชดใช้ค่าเสียหาย กล่าวถึงการตัดสินใจของคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐบาลดัตช์ “แต่ผมก็ยังกังวลว่าศิลปวัตถุเหล่านี้จะสามารถส่งคืนได้สำเร็จจริง ๆ หรือไม่”


ด้าน Lilian Gonçalves-Ho Kang You ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวซูรินาม และเป็นผู้นำคณะกรรมการในมูลนิธิเพื่อความร่วมมือทางกฎหมายซูรินาเม-เนเธอร์แลนด์ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2001-2009 หลังจากนั้นเธอได้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารเนเธอร์แลนด์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์แนชันแนล และคณะกรรมการบริหารระหว่างประเทศ กล่าวว่า

“รัฐบาลควรรับทราบถึงความอยุติธรรมของลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งรัฐบาลควรส่งคืนทรัพย์สินเหล่านี้โดยปราศจากเงื่อนไข หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าโบราณวัตถุนั้นถูกยึดครองมาจากความไม่สมัครใจ และหากประเทศต้นทางร้องขอโบราณวัตถุคืน รัฐบาลควรเร่งดำเนินการส่งคืนโดยเร็ว” พร้อมเน้นย้ำว่า “สิ่งที่ถูกขโมยไป ควรได้รับการส่งคืนให้เจ้าของที่แท้จริง”


จากรายงานที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้มีการเรียกร้องว่า รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบที่มาของศิลปวัตถุ เมื่อมีการร้องขอตรวจสอบจากประเทศต้นทาง และควรสร้างฐานข้อมูลส่วนกลางของพิพิธภัณฑ์เนเธอร์แลนด์ที่ประชาชนทั่วไปและประเทศที่ต้องการขอตรวจสอบสามารถเข้าถึงแหล่งที่มาของวัตถุเหล่านั้นได้ โดยไม่ต้องร้องขอตรวจสอบด้วยตนเอง

ด้าน Ingrid van Engelshoven รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ของดัตช์กล่าวในแถลงการณ์ผ่านทางอีเมลว่า “นี่คือจุดเริ่มต้นที่เริ่มมีเค้าโครงชัดเจนมากยิ่งขึ้น สำหรับวิธีจัดการโบราณวัตถุจากยุคล่าอาณานิคม” ซึ่งเธอพร้อมที่จะนำเสนอร่างกฎหมายตามคำแนะนำจากคณะกรรมการที่ปรึกษาในต้นปี ค.ศ. 2021

เมื่อพิจารณาถึงจำนวนโบราณวัตถุที่เนเธอร์แลนด์ยึดครองจากจากประเทศอดีตอาณานิคมพบว่า เนเธอร์แลนด์มีศิลปวัตถุอยู่ในครอบครองนับแสนชิ้น แต่ไม่สามารถระบุจำนวนอย่างชัดเจนได้ นี่จึงเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาลควรนำข้อเสนอจากทางคณะกรรมการที่ปรึกษามาพิจารณาในการสร้างฐานข้อมูลศิลปวัตถุที่ยึดครองมาจากประเทศอาณานิคม 

บทเรียนล่าสุดจากประเทศฝรั่งเศสทำให้ประชาคมโลกทราบว่า เมื่อถึงคราวที่ต้องส่งศิลปวัตถุคืนแก่เจ้าของ ดูเหมือนว่าการให้คำสัญญานั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การจะทำให้สำเร็จนั้นกลับกลายเป็นเรื่องยาก ซึ่งหลังจากนาย Emmanuel Macron กล่าวสุนทรพจน์ในปี ค.ศ. 2017 และได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะส่งสมบัติล้ำค่าของบรรพบุรุษชาวแอฟริกันที่ถูกยึดครองทั้งสิ้น 26 ชิ้น คืนสู่ผืนแผ่นดินเกิด เพื่อเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจแก่เจ้าของ หลังจากได้รับการเรียกร้องจากนักวิชาการสองรายให้พิพิธภัณฑ์ของฝรั่งเศสส่งคืนสมบัติเหล่านั้น หากตรวจสอบพบว่า โบราณวัตถุชิ้นนั้นไม่ได้รับการอนุญาตให้ครอบครองโดยชอบธรรมจากประเทศต้นทาง

ซึ่งในปี ค.ศ. 2018 รายงานระบุว่า มีสมบัติ 27 ชิ้น ที่รัฐบาลประกาศจะส่งคืนให้แก่เจ้าของเดิม แต่มีเพียงหนึ่งชิ้นเท่านั้นที่ได้รับการส่งคืน นั่นคือ ดาบโบราณจากประเทศเซเนกัล จากความล่าช้าของรัฐบาลฝรั่งเศสส่งผลให้ผู้ให้การสนับสนุนการบูรณะโบราณวัตถุต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน 


ในช่วงต้นปีค.ศ. 2020 นาย Mwazulu Diyabanza นักเคลื่อนไหวชาวคองโกได้พยายามนำวัตถุโบราณของชาวแอฟริกันคืนสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้งหลังพบว่า วัตถุโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาร์กเซย กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และพิพิธภัณฑ์ของเนเธอร์แลนด์ ถือสิทธิ์การครอบครองโดยปราศจากความยินยอมจากประเทศต้นทาง

“ผมมาที่นี่เพื่อทวงคืนทรัพย์สินที่ถูกขโมยมาจากแอฟริกา ทรัพย์สินที่พวกคุณขโมยไปภายใต้ลัทธิการล่าอาณานิคม” Mwazulu Diyabanza กล่าว


เมื่อวันอังคารที่ 6 ต.ค. รัฐสภาแห่งชาติฝรั่งเศสได้ผ่านร่างกฎหมายชดใช้ความเสียหายทั้งสิ้น 27 รายการ รวมถึงศิลปวัตถุอีก 26 ชิ้น ที่เคยมอบคำมั่นสัญญาไว้เมื่อปี ค.ศ. 2018 ด้วยเช่นกัน โดยรัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันว่าพร้อมจะส่งคืนให้ประเทศเบนินภายในปีหน้า แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจากวุฒิสภาฝรั่งเศส ซึ่งหากทางวุฒิสภายอมรับร่างกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงจะทำการส่งคืนศิลปวัตถุที่ยึดครองมากลับสู่ประเทศต้นทาง

Bénédicte Savoy นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่มหาวิทยาลัยเทคนิคแห่งเบอร์ลินกล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าตอนนี้ฝรั่งเศสมีความยินดีอย่างแท้จริงที่จะส่งคืนศิลปวัตถุเหล่านี้คืนสู่ประเทศอดีตอาณานิคม และการลงคะแนนในวันอังคารที่ผ่านมาจะเป็นแบบอย่างที่เป็นประโยชน์สำหรับกฎหมายชดใช้ความเสียหายในอนาคต

“คุณอาจจะมองว่านี่เป็นเพียงขั้นตอนเล็ก ๆ แต่สำหรับฉันแล้ว ฉันกำลังมองว่านี่คือการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งและจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในอนาคต” เธอกล่าว “ดูเหมือนว่าการอภิปรายในเนเธอร์แลนด์จะมีความตึงเครียดน้อยกว่าในฝรั่งเศส” เธอกล่าวเสริม ขณะที่เธอก็คาดหวังว่ารัฐบาลดัตช์จะนำข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาไปปรับใช้ด้วยเช่นกัน


ในปี ค.ศ. 2019 พิพิธภัณฑ์เฮอร์มิเทจในอัมสเตอร์ดัมระบุว่า ทางพิพิธภัณฑ์จะลบความหมายของคำว่า “ยุคทอง” ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นช่วงที่เนเธอร์แลนด์ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในระดับโลกด้านศิลปะ วิทยาศาสตร์ และพาณิชย์ เนื่องจากคำจำกัดความดังกล่าวได้บดบังนัยยะซ่อนเร้นของคำว่า “ทาส” และการแสวงหาผลประโยชน์จากประเทศรอบข้าง ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งการตัดสินใจที่จะลบคำจำกัดความดังกล่าวนั้น ได้กลายมาเป็นประเด็นถกเถียงทางสังคมในระยะหนึ่ง ถึงขนาดที่ Mark Rutte นายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ ออกมากล่าวว่า “นี่มันเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดี” 

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุถึง วัตถุโบราณต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ดัตช์ที่มาจากประเทศอดีตอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปอีกเช่นกัน โดยคณะกรรมการกล่าวว่า “การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องการส่งคืนศิลปวัตถุควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลและเป็นธรรม รวมถึงต้องคำนึงถึงความสมดุลของขั้วอำนาจด้วยเช่นกัน”

ขณะที่ Gonçalves ประธานคณะกรรมการกล่าวว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยของการตัดสินใจ แต่รายงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาได้ระบุอย่างชัดเจนว่า การส่งคืนศิลปวัตถุนั้นควรส่งกลับไปยังประเทศอดีตอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์อย่างไม่มีเงื่อนไข”

“รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ควรเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขความผิดพลาดในอดีตจากลัทธิล่าอาณานิคม ซึ่งหลักการสำคัญของเรื่องนี้ยังคงเหมือนเดิมคือ ‘สิ่งที่ถูกขโมยไปควรได้รับการส่งคืนสู่แผ่นดินเกิด’” Gonçalves กล่าวปิดท้าย


ที่มา


เรื่องโดย