Kind Planet

“บ้านเสม็ดงาม” จันทบุรี ดินแดนแห่งพันธุ์ไม้ป่าชายเลนที่แรกของโลก


ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญ นอกจากจะเป็นองค์ประกอบในการรักษาสมดุลของธรรมชาติชายฝั่งทะเลแล้ว ยังมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย ในพื้นที่ป่าชายเลน มีพันธุ์พืชมากกว่า 80 ชนิดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ทำให้ป่าชายเลนได้รับการขนานนามว่า เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญของประมงชายฝั่ง สร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน

สำหรับประเทศไทย สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ณ บ้านเสม็ดงาม จังหวัดจันทบุรี จัดเป็น สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก โดยจะมีการรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และการวิจัยป่าชายเลนในระดับนานาชาติ

สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 แหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากทั่วโลก

สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 ตั้งอยู่บริเวณบ้านเสม็ดงาม หมู่ 10 ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ปัจจุบันมีเนื้อที่ป่าชายเลนประมาณ 518 ไร่ เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์เพื่อขยายผลของโครงการ พลิกฟื้นคืนป่าชายเลนสู่ธรรมชาติ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 เริ่มเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นแหล่งรวบรวม จัดแสดงพรรณไม้ป่าชายเลนจากพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลก และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ในทางพฤกษศาสตร์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นสถาบันแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ และการใช้ประโยชน์จากพรรณไม้ป่าชายเลนที่เหมาะสม และเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติของประชาชน เป็นแหล่งสร้างกิจกรรมที่หลากหลายของนักวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และร่วมทำงานกับสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายในการอนุรักษ์พรรณพืชป่าชายเลน ร่วมกับสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ ซึ่งมีสมาชิกอยู่ 93 ประเทศ ที่มีป่าชายเลนทั่วโลก

ขับเคลื่อนการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนด้วยเทคโนโลยี

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การวิจัย พัฒนา และวิชาการ เกี่ยวกับป่าชายเลน โดยมี ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และคุณโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมลงนามความร่วมมือ

ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า สวทช. นำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน โดยเฉพาะศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (National Omics Center) และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยการวิจัยแนวหน้าในระดับจีโนมและพันธุกรรม โปรตีนและการแสดงออกของยีน วิธีการเก็บรักษาเชื้อพันธุกรรมและชีววัสดุในระยะยาว โดยจะร่วมกันศึกษาวิจัยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน โดยเฉพาะชนิดที่มีการแพร่กระจายน้อย หายาก ใกล้สูญพันธุ์

ผลงานวิจัยมุ่งเป้าให้เกิดฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิงของพืชป่าชายเลนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย วิธีการอนุรักษ์พันธุกรรมในสภาพปลอดเชื้อระยะยาว ใช้สำหรับคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ป่าชายเลน เกิดการปรับปรุงพันธุ์ในอนาคต สร้างความมั่นคงทางอาหารและทางระบบนิเวศให้กับป่าชายเลนในประเทศไทยคงความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนมีรายได้ และเกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน


สำหรับการบริหารจัดการและการนำความรู้ไปใช้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูชุมชน มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 – 2565 ในพื้นที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรป่าชายเลนที่ 1 – 6 ของ ทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคสนาม ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน 24 จังหวัด

ป่าชายเลน นับว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งหรือในทะเล และยังเป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนในชุมชนด้วย เรียกว่าเป็นพื้นที่ที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ซึ่งในสภาวะโลกร้อนที่มีปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนนั้น ป่าชายเลนจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าบก 4-6 เท่า ดังนั้น การมีส่วนร่วมในการดำเนินการฟื้นฟูป่าชายเลน จึงเป็นทางออกหนึ่งของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติของป่าชายเลนที่มีอยู่ให้ยั่งยืนสืบต่อไป


พื้นที่ป่าชายเลนในประเทศไทย

  • ไทยมีป่าชายเลนประมาณ 2.86 ล้านไร่ 

– คงสภาพสมบูรณ์ 1.53 ล้านไร่ 

– กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม 1.33 ล้านไร่

  • ป่าชายเลนสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าบก 4-6 เท่า 


ระบบนิเวศที่พบในป่าชายเลนของไทย

  • พันธุ์ไม้ป่าชายเลน 78 ชนิด

– ไม้ป่าชายเลนที่แท้จริง (อาศัยอยู่บริเวณน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย) 33 ชนิด เช่น โกงกาง แสม และลำพู

– พันธุ์ไม้ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพความเค็มได้ 45 ชนิด เช่น ตีนเป็ดทะเล ปรง และหูกวาง

  • สัตว์ที่พบในป่าชายเลน

– สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้ง 15 ชนิด, ปลา 72 ชนิด, ปู 30 ชนิด, หอยฝาเดียว 22 ชนิด และ หอยสองฝา 4 ชนิด

– นก 88 ชนิด เช่น นกยางเปีย นกกาน้ำเล็ก และเหยี่ยวแดง

– สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 35 ชนิด เช่น ค้างคาว ลิงลม และลิงแสม 

– สัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่าง ๆ อีกจำนวนมาก เช่น ตะกวด เต่า และจระเข้


สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 

– ตั้งอยู่บ้านเสม็ดงาม หมู่ 10 ต.หนองบัว อ.เมือง จ.จันทบุรี 

– มีเนื้อที่ป่าชายเลนประมาณ 518 ไร่

– ขึ้นแท่นเป็นสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก

– ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จร้อยละ 30 คาดว่าจะแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2566


ที่มา

  • 3 ตุลาคม 2563 เก็บฐานข้อมูลจีโนมพืชป่าชายเลนครั้งแรกในไทย. www.onep.go.th
  • หลากหลาย : สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนฯร.9 พิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งแรกของโลก. www.dmcr.go.th/detailAll
  • ก.ทรัพย์ รณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่รอบพื้นที่ป่าชายเลนปลูกป่าฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เนื่องใน “วันป่าชายเลนแห่งชาติ” ครั้งแรกของประเทศ. https://thainews.prd.go.th
  • ทส.เร่งฟื้นป่าชายเลนถูกบุกรุก 1.33 ล้านไร่. https://news.thaipbs.or.th
  • ความหลากหลายในป่าชายเลน. https://km.dmcr.go.th


เรื่องโดย

ภาพโดย