Kind Academy

“โฮมสคูล” อีกหนึ่งทางเลือกของการศึกษาที่กำลังถูกถามหาจากสังคมทั่วโลก


จากวิกฤตการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาเป็นอย่างมาก โดยผลการสำรวจของ UNESCO รายงานว่ารัฐบาลกว่า 191 ประเทศทั่วโลก ประกาศปิดสถานศึกษาทั้งประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทำให้มีผู้เรียนที่ได้รับผลกระทบกว่า 1.5 พันล้านคน (เรียกว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของผู้เรียนทั้งหมด)

การเรียนการสอนในโรงเรียนจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไปคือ การใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางการเรียนรู้ หรือใช้วิธีการเรียนแบบออนไลน์เป็นหลัก ขณะดียวกันนั้นการศึกษาอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังขยับขยายบทบาทในสังคมทั่วโลกก็คือ การศึกษาแบบ “โฮมสคูล”



“โฮมสคูล” (Homeschool) หรือ “บ้านเรียน” คือ การบูรณาการที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้จากวิถีชีวิต และบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริง คือให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เน้นความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก โดยเรียนรู้จากเรื่องที่ชอบ เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบความถนัดและความสามารถของตนเอง โดยมีพ่อแม่เป็นผู้วางแผนจัดการหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่ลูกเองภายในบ้าน และคอยช่วยเหลือ ชี้แนะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยใช้ผลงานและดูพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กมาเป็นเครื่องวัดผล 

เมื่อพ่อแม่ชาวสหรัฐฯ ปรับเปลี่ยนการเรียนของลูกเป็นแบบ “บ้านเรียน”

ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้วิธีโฮมสคูล หรือสอนหนังสือให้ลูก ๆ ที่บ้าน ขณะที่โรงเรียนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ วางแผนที่จะปิดโรงเรียนต่อไปอีก หรือเปิดทำการบางเวลาเท่านั้น โดยให้เด็ก ๆ เรียนหนังสือแบบออนไลน์จากที่บ้าน

ทั้งนี้ ผู้ปกครองบางคนกังวลว่า การเรียนการสอนแบบออนไลน์ในโรงเรียนที่อยู่ในเขตบ้านของตนนั้น อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ บ้างก็กังวลเกี่ยวกับสุขภาพของคนในครอบครัว หากลูก ๆ ต้องไปโรงเรียน และยังมีพ่อแม่อีกหลาย ๆ คนที่เลือกใช้วิธีโฮมสคูลเนื่องจากแผนการต่าง ๆ ของโรงเรียนในท้องถิ่นยังเปลี่ยนกลับไปกลับมาอยู่

การสมัครขอทำโฮมสคูลในรัฐต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลในเว็บไซต์ของ Voice of America รายงานว่าที่รัฐ Nebraska เพิ่มขึ้น 21% และที่รัฐ Vermont เพิ่มขึ้น 75% ส่วนสถาบัน National Home Educators Research Institute (NHERI) เผยข้อมูลว่าเมื่อปีที่แล้วมีนักเรียนในสหรัฐฯ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมปลายที่เรียนแบบโฮมสคูลอยู่ประมาณ 2.5 ล้านคน คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 4% ของเด็กในวัยเรียนทั้งหมด แต่ Brian Ray ประธานสถาบันดังกล่าว คาดว่าในปีนี้จำนวนของนักเรียนมีทิศทางจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างน้อย 10% 


ในรัฐ Missouri Charyti Jackson หัวหน้ากลุ่มโฮมสคูลชื่อ Families For Home Education กล่าวว่า ทุกครัวเรือนต่างก็ตื่นตระหนกเกี่ยวกับแผนการสำหรับปีการศึกษาใหม่ เธอกล่าวอีกว่าบางครอบครัววางแผนที่จะโฮมสคูลหนึ่งหรือทั้งสองภาคการศึกษา ซึ่ง Charyti ให้คำแนะนำแก่บรรดาผู้ปกครองว่าให้ใช้วิธีที่นักเรียนจะสามารถเปลี่ยนกลับไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลได้อย่างง่าย ๆ เมื่อการระบาดใหญ่สิ้นสุดลง

Christina Rothermel-Branham ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย Northeastern State University ในรัฐ Oklahoma กล่าวว่า ยังมีสัญญาณบางอย่างที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนไปเรียนแบบโฮมสคูลนี้อาจดำเนินต่อไป และลูกชายวัย 6 ขวบของเธอจะเริ่มเรียนออนไลน์ในภาคการศึกษาใหม่ผ่านระบบโรงเรียนของรัฐบาล แต่ Christina กล่าวว่าโปรแกรมการสอนของเขตการศึกษาดังกล่าวในช่วงฤดูใบไม้ผลินั้นน่าเบื่อหน่ายมาก ดังนั้นถ้าหากเดือนแรกของการเปิดเรียนไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร เธอก็จะเปลี่ยนไปใช้วิธีโฮมสคูลแทน

ออสเตรเลีย: เมื่อต้องเรียนโฮมสคูลแบบไม่ทันคาดคิดจากพิษโควิด

Arianwen Harris เคยพูดติดตลกว่าการเรียนแบบโฮมสคูลเป็น “ฝันร้ายที่สุด” ของเธอ

“ฉันไม่เคยอยากให้ลูกเรียนแบบโฮมสคูล” เธอกล่าว

“ฉันมีเพื่อนที่ทำโฮมสคูลและฉันประทับใจมากกับงานที่พวกเขาทำกับลูก ๆ ของพวกเขา แต่ฉันไม่เคยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ฉันจะทำได้”


ครอบครัวของ Harris ตัดสินใจให้ลูกออกจากโรงเรียน หลังจากที่โรงเรียนต้องปิดตัวลงชั่วคราวจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 แม้ว่าในตอนแรกพวกเขาจะไม่มีความคิดนี้อยู่เลย ทว่าเมื่อเหตุการณ์ทำให้ต้องเปลี่ยน และเมื่อได้ลองใช้รูปแบบการสอนกับลูกชายสองคนคือ Ziyad และ Yazid แล้ว พวกเขาก็เริ่มต้นการเรียนรู้ที่บ้านได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ Harris และผู้ปกครองบางคนเห็นประโยชน์และอาจให้ลูกเรียนแบบโฮมสคูลต่อไป แม้ว่าโรงเรียนจะเปิดแล้วหลังสถานการณ์โควิด-19 จบลงก็ตาม

หลายครอบครัวต้องดิ้นรนกับการเรียนรู้จากระยะไกลนับตั้งแต่ที่ไวรัสระบาดในออสเตรเลีย และแม้แต่ครูก็ยังแสดงความกลัวเกี่ยวกับการเตรียมการเรียนรู้ทางไกลและแบบจำลองการประเมินออนไลน์ แต่ Karen Chegwidden จาก Home Education Association ในนิวเซาท์เวลส์กล่าวว่า Ms. Harris ไม่ใช่พ่อแม่เพียงคนเดียวที่พิจารณาเรื่องโฮมสคูลอย่างจริงจัง 

“ไม่ใช่สำหรับทุกคน” Arianwen Harris กล่าว เธอยอมรับว่า เธอมีแนวโน้มที่จะอยู่ในกลุ่มผู้ปกครองส่วนน้อยที่พบว่าการเรียนรู้จากที่บ้านเป็นบวกมากกว่าลบ 

“ฉันคิดว่ามันใช้ได้ผลสำหรับเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าฉันคิดว่ามันจะต้องใช้ได้กับทุกคน” เธอกล่าว แต่เธอหวังว่าจะมีโอกาสสำหรับครอบครัวอื่น ๆ ด้วย


ข้อมูลรายละเอียดการลงทะเบียนโฮมสคูลในแต่ละรัฐของออสเตรเลีย (ข้อมูลจาก ABC News) พบว่า รัฐ Victoria มีจำนวนผู้เรียนแบบโฮมสคูลจำนวน 5,742 คน รัฐ Tasmania มีจำนวนผู้เรียนทั้งหมด 1,123 คน และรัฐ Australian Capital Territory มีจำนวนผู้เรียนทั้งหมด 331 คน เป็นต้น ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากขึ้น

และสำหรับประเทศไทย แม้เรื่องของการศึกษาแบบโฮมสคูลจะมีการกำหนดไว้ตั้งแต่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แต่การดำเนินการจริง ๆ นั้น ค่อนข้างทำได้ยาก เพราะด้วยข้อจำกัดในระบบการศึกษาหลายอย่าง 

ทว่าปัจจุบันประเทศไทยนั้นมีเครือข่ายการศึกษาแบบโฮมสคูลที่กว้างขวางมากขึ้นกว่า 500 ครอบครัว อีกทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ถาโถมเข้ามาจึงทำให้เห็นว่าการศึกษาแบบบ้านเรียน เข้ามามีบทบาทในช่วงหยุดเชื้อเพื่อชาติมากขึ้น ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเองมองเห็นในส่วนนี้ จึงมีการแก้ไขคู่มือการจัดการศึกษาที่เอื้อต่อการศึกษาแบบโฮมสคูลมากขึ้น จากนี้ก็ต้องมาติดตามกันต่อไปว่าบ้านเรียนจะไปต่อกับสังคมไทยได้ไกลเพียงใด…


ที่มา


เรื่องโดย