บทคัดย่อ
“อำนาจ” คือความสามารถในการส่งอิทธิพลต่อผู้อื่น ให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ อาจใช้การขู่บังคับ จ้างวาน หรือดึงดูดและโน้มน้าวใจก็ได้ “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ถือเป็นการทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์เชิงบวกด้วยการดึงดูดใจ มากกว่าจะเป็นการขู่บังคับหรือจ้างวาน ข้อคิดเห็นส่วนตัวนี้ บอกเล่าถึงจุดกำเนิดของแนวคิดดังกล่าวในฐานะเครื่องมือวิเคราะห์ และพัฒนาการอันค่อยเป็นค่อยไปในฐานะแนวคิดสำคัญ ซึ่งใช้ในวาทกรรมทางการเมืองของยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็กชั่นว่าด้วยซอฟต์พาวเวอร์
■■
ผมบัญญัติคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ไว้เมื่อปี 1990 ในหนังสือ Bound to Lead ซึ่งท้าทายมุมมองแบบเดิม ๆ ณ ขณะนั้น ที่มีต่ออำนาจของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังเสื่อมถอย (Nye, 1990) หลังจากพิจารณาแหล่งที่มาของอำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจของชาติแล้ว ผมรู้สึกว่ายังมีบางสิ่งขาดหายไป บางสิ่งซึ่งเป็นความสามารถในการส่งอิทธิพลต่อผู้อื่นด้วยการดึงดูดและโน้มน้าวใจ ที่ไม่ใช่การขู่บังคับหรือจ้างวาน ตอนนั้น ใคร ๆ ก็เชื่อว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในสภาวะเสื่อมถอย ขณะที่หนังสือ The Rise and Fall of the Great Powers ของพอล เคเนดี (Paul Kennedy) ติดอันดับหนังสือขายดีของ New York Times (Kennedy, 1987) เคเนดีเสนอข้อถกเถียงไว้ว่า สหรัฐฯ กำลัง “ขยายอำนาจเกินขอบเขต” (Imperial Overstretch) และใกล้ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับสเปนช่วงศตวรรษที่ 17 หรือสหราชอาณาจักรในยุคเอ็ดเวิร์ด (Edwardian Britain) หลายคนเห็นด้วยกับข้อถกเถียงดังกล่าว และเชื่อว่าสหภาพโซเวียตกำลังแซงหน้าพวกเรา (ผู้เขียนเป็นชาวอเมริกัน) ในด้านแสนยานุภาพทางการทหาร และญี่ปุ่นก็กำลังแซงหน้าพวกเราในด้านความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ แต่ผมตั้งข้อสังเกตกับข้อถกเถียงกระแสหลักเหล่านี้ เมื่อเข้าร่วมสัมมนาและงานประชุมหลายครั้ง ผมจึงเป็นผู้คัดค้านเพียงคนเดียวเสมอ
นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มักมองว่าอำนาจเป็นทรัพยากรซึ่งจับต้องได้ เหมือนกับสิ่งของที่คุณทำหล่นใส่เท้าหรือโยนใส่เมืองสักเมืองได้ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของการขู่บังคับและจ้างวาน ขณะที่ในบางครั้ง ผู้คนกลับส่งอิทธิพลต่อผู้อื่นโดยใช้แนวคิดและการโน้มน้าวใจเป็นตัวกำหนดทิศทางความต้องการของผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นอยากได้ในสิ่งเดียวกันกับที่พวกเขาต้องการ เมื่อเป็นเช่นนั้น รางวัลกับการลงโทษจึงลดความสำคัญลงและถูกใช้เท่าที่จำเป็น เหตุเพราะผู้อื่นเห็นว่าความต้องของเราเป็นเรื่องพึงกระทำ เนื่องด้วยค่านิยมที่เป็นสากล วัฒนธรรมที่เปิดกว้าง และต้นทุนทางวัฒนธรรมสมัยนิยมปริมาณมหาศาล ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ฮอลลีวูดไปยันมูลนิธิและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สหรัฐฯ จึงดูมีตำแหน่งแห่งที่อันโดดเด่นเป็นพิเศษในการกำหนดทัศนะที่ผู้อื่นมีต่อโลกและต่อตัวสหรัฐฯ เอง แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้น่าดึงดูดในสายตาของทุกคน อย่างที่บรรดามุลลาห์ในอิหร่านได้แสดงออกเชิงต่อต้าน แต่ในพื้นที่ที่พวกเราดูน่าดึงดูด มันเป็นข้อได้เปรียบมหาศาล ดังที่นักวิชาการชาวนอร์เวย์กล่าวไว้ว่า หากชาวอเมริกันสร้างจักรวรรดิขึ้นในยุโรป จะเรียกได้ว่า “จักรวรรดิจากความสมัครใจ” (Empire by Invitation) (Lundestad, 1998) ผมลองใช้ถ้อยคำหลากหลายเพื่อสรุปแนวคิดเหล่านี้ และในท้ายที่สุด ก็ตัดสินใจใช้คำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ด้วยหวังว่าปฏิพจน์ของคำคำนี้ ซึ่งขัดแย้งกันทางความหมายเล็กน้อยในวาทกรรมเชิงวิชาการแบบเดิม ๆ ของสาขาที่ผมทำงาน อาจทำให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนสมมติฐานของตัวเองในเรื่องของอำนาจ
ผมคิดถึงซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะแนวคิดเชิงวิเคราะห์ ซึ่งช่วยเติมจุดบกพร่องของเหล่านักวิเคราะห์ที่ทำงานขบคิดเกี่ยวกับอำนาจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดนี้ค่อย ๆ มีความหมายทางการเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และในบางแง่มุม ความคิดพื้นฐานของแนวคิดนี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งยังมีอีกหลายวิธีคิดที่คล้ายคลึงกัน หากสืบย้อนกลับไปที่นักปรัชญาโบราณ ไม่เพียงเท่านั้น แม้ผมจะพัฒนาแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมาในบริบทเชิงอำนาจของสหรัฐฯ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องของพฤติการณ์ระหว่างประเทศหรือสหรัฐฯ เท่านั้น ตอนที่ผมสนใจศึกษาด้านภาวะผู้นำ (Leadership Studies) ผมนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับผู้คนและองค์กรต่าง ๆ ในหนังสือของผม The Powers to Lead (Nye, 2008) แต่ไม่ว่าจะอย่างไร แนวคิดนี้ก็ได้หยั่งรากลึกลงในสายงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เมื่อสหภาพยุโรปพัฒนาขึ้น ผู้นำของยุโรปหลายคนก็เริ่มพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ของสหภาพฯ ขณะที่ผู้นำทางการเมืองของอเมริกากลับใช้คำนี้น้อยกว่า
ในปี 2002 ผมเป็นหนึ่งในสองวิทยากรหลักให้แก่งานประชุมซึ่งจัดโดยกองทัพที่กรุงวอชิงตัน ผมบรรยายให้ทหารระดับนายพลฟังเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ พวกเขาดูจะเข้าใจแนวคิดนี้ดีจากคำถามที่ผมได้รับตลอดงาน จากนั้น นายพลนายหนึ่งก็ได้ถามรัฐมนตรีกลาโหม ดอนัลด์ รัมส์เฟลด์ (Secretary of Defense Donald Rumsfeld) ซึ่งเป็นวิทยากรอีกท่าน ว่าคิดอย่างไรเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ รัมส์เฟลด์ตอบว่า เขาไม่เข้าใจว่าซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร และนั่นก็เป็นคำตอบที่สะท้อนผ่านนโยบายของเขาอย่างชัดเจน ความหยิ่งทะนงลักษณะนี้ ปรากฏชัดตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์วุ่นวายด้านความมั่นคงหลังการโจมตีโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 แต่ในบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวเช่นนั้น การพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์เป็นเรื่องยาก ถึงแม้การชักจูงผู้ที่ยังไม่เลือกข้างให้ไม่หลงเชื่อหรือเข้าร่วมกับฝ่ายหัวรุนแรงจะเป็นองค์ประกอบเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญในการต่อต้านเหตุก่อการร้ายที่มีประสิทธิภาพก็ตาม
ในบรรยากาศดังกล่าว ประกอบกับการเข้ารุกรานอิรัก ซึ่งกลายเป็นหายนะที่ส่งผลเสียรุนแรงในเวลาต่อมา ผมรู้สึกว่าตัวเองจำเป็นต้องอธิบายความหมายของซอฟต์พาวเวอร์ให้ถี่ถ้วนกว่าเดิม แม้แต่นักวิชาการด้วยกันก็ยังเข้าใจซอฟต์พาวเวอร์ผิด อธิบายว่าเป็น “พละกำลังซึ่งผิดไปจากขนบเดิม อย่างผลิตผลทางวัฒนธรรมและเชิงพาณิชย์” อีกทั้ง นักวิชาการบางคนยังมองข้ามแนวคิดนี้ เพียงเพราะคิดว่า “มันเป็นแค่อะไรบางอย่างที่นุ่มนิ่ม” (Ferguson, 2009) เพื่อนของผมซึ่งเป็นสมาชิกสภาคองเกรส (Congresswoman) บอกกับผมเป็นการส่วนตัวว่า เธอเห็นด้วยกับแนวคิดนี้เต็มร้อย แต่ก็เห็นว่าเป็นไปได้ยากที่จะสื่อสารแนวคิดนี้แก่ผู้รับสารทางการเมืองให้เข้าใจ เพราะพวกเขาต้องการได้ยินแนวคิดซึ่งหนักแน่นเด็ดขาด ในปี 2004 ผมได้อธิบายเชิงลึกถึงแนวคิดนี้ไว้ในหนังสือ Soft Power: The Means to Success in World Politics ผมอธิบายด้วยว่าซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของอำนาจ และไม่เพียงพอที่จะใช้ลำพัง ความสามารถในการผสานฮาร์ดพาวเวอร์ (Hard Power—อำนาจที่จับต้องได้ อย่างอำนาจทางการทหาร ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและองค์ความรู้ ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ) เข้ากับซอฟต์พาวเวอร์ให้ส่งเสริมเกื้อกูลกันและกันเป็นกลยุทธ์ที่ก่อให้เกิดประสิทธิผล เรียกได้ว่า “สมาร์ตพาวเวอร์” (Smart Power) (ซึ่งต่อมาฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) ก็นำคำนี้ไปใช้ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ) ผมต่อยอดแนวคิดนี้เพิ่มเติมอีกในหนังสือ The Future of Power ปี 2011 ว่าเป็นอำนาจทางไซเบอร์ด้วย (Cyber Power) (Nye, 2011) ผมยืนยันไว้ชัดเจนว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แนวคิดในเชิงศีลธรรม (Normative Concept) และการโน้มน้าวทางความคิดนั้น ไม่ได้มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการใช้กำลังทางกายเสมอไป “คนไม่ดี” (อย่างอุซามะห์ บิน ลาเดน (Osama bin Laden) ก็สามารถใช้ซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นกัน) ถึงผมจะสำรวจแง่มุมต่าง ๆ ของแนวคิดนี้อย่างครอบคลุมยิ่งขึ้นในงานชิ้นนี้ แต่คำจำกัดความอันเป็นใจความหลักของซอฟต์พาวเวอร์ก็ยังคงเดิม นั่นคือ “การทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์เชิงบวกด้วยการโน้มน้าวใจ มากกว่าจะเป็นการขู่บังคับหรือจ้างวาน”
ในปี 2007 ขณะที่สถานการณ์ในอิรักยังคงเลวร้ายลงต่อเนื่อง ผมได้ร่วมเป็นประธานคณะกรรมาธิการ “Smart Power Commission” (คณะกรรมาธิการเฉพาะกิจที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2007 เพื่อส่งเสริมการผสานฮาร์ดพาวเวอร์กับซอฟต์พาวเวอร์ ให้สหรัฐฯ มีนโยบายต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนยิ่งขึ้น) ร่วมกับจอห์น แฮมเร (John Hamre) และริชาร์ด อาร์มิเทจ (Richard Armitage) ในนามของศูนย์ยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CSIS) ที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งมีอดีตวุฒิสมาชิกและผู้พิพากษาศาลสูงสุดเข้าร่วมด้วย พวกเราหวังจะใช้ทั้งแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์และสมาร์ตพาวเวอร์เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง ปรับนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้กลับสู่จุดดุลยภาพทางแนวคิด ต่อมาในรัฐบาลของประธานาธิบดีบุช (Bush หรือ George W. Bush) เมื่อปี 2007 รัฐมนตรีกลาโหม โรเบิร์ต เกตส์ (Robert Gates) ได้ออกมาเรียกร้องให้สหรัฐฯ ลงทุนกับซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น ทั้งหมดนี้ ถือเป็นการเดินทางอันยาวไกล จากความมุ่งหวังเพียงเล็กน้อย ที่ต้องการสถาปนาแนวคิดเชิงวิเคราะห์ ที่ผมร่างขึ้นอย่างเรียบง่ายบนโต๊ะในครัวเมื่อ 17 ปีก่อน ชัดเจนว่า “สมาร์ตพาวเวอร์” (ซึ่งหมายถึงการผสานทรัพยากรด้านฮาร์ดพาวเวอร์และซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ) เป็นข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ (Prescriptive) มากกว่าจะเป็นเพียงแนวคิดวิเคราะห์เชิงทฤษฎีเท่านั้น
ที่น่าประทับใจไปกว่าการเดินทางอันยาวไกลจากโต๊ะในครัวซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด คือชะตากรรมของตัวแนวคิดเองในประเทศจีน เมื่อพัฒนาฮาร์ดพาวเวอร์อย่างเต็มขั้น ผู้นำจีนจึงตระหนักได้ว่า ความแข็งแกร่งนั้นจะเป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้น หากพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ควบคู่ไปพร้อมกัน นับเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาด เพราะเมื่ออำนาจทางการทหารและเศรษฐกิจของจีนเติบโตขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านอาจรู้สึกหวาดระแวงและรวมตัวกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้าน แต่หากสามารถพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไปพร้อมกับการเติบโตดังกล่าว จีนก็จะลดแรงจูงใจในรวมตัวกันของประเทศเพื่อนบ้านได้ ในปี 2007 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา (Hu Jintao) ได้กล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 17 ไว้ว่าจีนจำเป็นต้องลงทุนด้านซอฟต์พาวเวอร์ อีกทั้ง แนวทางการดำเนินการนี้ ยังคงดำเนินต่อเนื่องโดยประธานาธิบดีคนปัจจุบัน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) หลังจากที่ผู้นำสูงสุดประกาศและสั่งการ ซอฟต์พาวเวอร์ก็ได้รับเงินสนับสนุนหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งยังมีบทความตีพิมพ์เกี่ยวกับแนวคิดนี้อีกนับพันชิ้น แต่กระนั้น กลยุทธ์ซอฟต์พาวเวอร์ของจีนก็ประสบความสำเร็จแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ แม้จะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยยกระดับชีวิตคนจนหลายร้อยล้านคนจะเป็นที่น่าประทับใจ และวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีเสน่ห์ดึงดูดใจชาวโลก ผลสำรวจชี้ว่า จีนยังคงตามหลังสหรัฐฯ ในแง่ของเสน่ห์และภาพลักษณ์เชิงบวกแบบองค์รวมในสายตาประชาคมโลก รวมถึงในสายตาของภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน บริษัทพอร์ตแลนด์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในกรุงลอนดอน ได้จัดทำดัชนีประเมินซอฟต์พาวเวอร์ประจำปี (Annual Index of Soft Power) จัดอันดับให้สหรัฐฯ อยู่ในอันดับที่ 1 ขณะที่จีนอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 30 ประเทศชั้นนำ (Portland Communications และ Facebook, 2016)
การสนับสนุนจากผู้นำสูงสุดของจีนต่อแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ส่งผลโดยตรงกับตัวผม ตลอดหนึ่งปี หลังจากที่หู จิ่นเทาหยิบยกแนวคิดนี้ขึ้นมากล่าวถึง ผมได้รับอีเมลแทบทุกสัปดาห์ เพื่อขอให้เขียนบทความ ไม่ก็ร่วมงานสัมมนาและการประชุมเกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ เจ้าหน้าที่จีนติดต่อผมเพื่อขอพูดคุยแบบส่วนตัวถึงวิธีการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ ทุกครั้งคำแนะนำของผมก็จะเหมือนเดิม ผมบอกว่า จีนควรตระหนักว่า ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศส่วนใหญ่มาจากภาคประชาสังคม (Civil Society) ไม่ใช่จากรัฐบาล โฆษณาชวนเชื่อไม่มีความน่าเชื่อถือมากพอจะดึงดูดผู้คนได้ จีนจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมเพื่อแสดงความสามารถ แม้ว่าจะขัดกับหลักควบคุมที่เข้มงวดของพรรคคอมมิวนิสต์ก็ตาม อีกทั้ง ซอฟต์พาวเวอร์ของจีนยังถูกจำกัดด้วยข้อพิพาทดินแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย การตั้งสถาบันขงจื่อ (Confucius Institute) เพื่อปลูกฝังวัฒนธรรมจีนในกรุงมะนิลา ไม่อาจสร้างแรงดึงดูดได้เพียงพอ หากเรือรบของจีนยังคงไล่เรือประมงของฟิลิปปินส์ออกจากบริเวณสันทรายสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ซึ่งอยู่ในระยะ 200 ไมล์จากชายฝั่งฟิลิปปินส์ไปพร้อม ๆ กัน เมื่อผมพูดเรื่องนี้ในการอภิปรายทางโทรทัศน์ที่ดาวอสเมื่อปี 2013 หวัง เจี้ยนหลิน (Wang Jianlin) ซึ่งขณะนั้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีน ก็ขัดจังหวะการอภิปรายและวิจารณ์ว่า “ผมทำร้ายความรู้สึกของประชาชนจีน”
เหตุการณ์ที่น่าตื่นตาที่สุดครั้งหนึ่ง คือตอนที่ผมได้รับเชิญไปบรรยายที่ภาควิชามาร์กซิสม์ (School of Marxism—คณะหรือภาควิชามาร์กซิสม์เป็นหน่วยงานที่เน้นปลูกฝังอุดมการณ์รัฐและหลักคิดทางการเมืองตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน) ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) ที่กรุงปักกิ่ง ที่นั่น ผมได้รับการต้อนรับอย่างดีเลิศเช่นเดียวกับราชา เมื่อต้องบรรยายให้นักศึกษาประมาณ 1,500 คนฟัง ผมถูกจัดให้นั่งลำพังที่โต๊ะบนโพเดียมกลางเวที ซึ่งประดับประดาด้วยดอกไม้งดงาม ด้านหลังเป็นจอขนาดมหึมาที่ฉายวิดีโอการบรรยายเต็มจอ ระหว่างการบรรยาย ผมได้พูดถึงประเด็นที่ว่า จีนจะเพิ่มซอฟต์พาวเวอร์ของตนเองได้อย่างไร พร้อมยกตัวอย่าง กรณีการคุกคามศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวจีน อ้าย เว่ยเว่ย (Ai WeiWei) อันเป็นการควบคุมภาคประชาสังคมซึ่งเข้มงวดเกินพอดี มีเสียงหัวเราะเบา ๆ ดังขึ้นในหมู่นักศึกษาอยู่บ้าง แต่เมื่อจบการบรรยาย คณบดีของภาควิชามาร์กซิสม์ก็ขึ้นเวทีและกล่าวขอบคุณผมยาวเหยียดด้วยภาษาสละสลวย ว่าผู้คิดค้นแนวคิดซอฟต์พาวเวอร์ได้มาบรรยายที่ภาควิชาของเรา แต่ผมก็รับรู้ได้ว่าล่ามของผมแปลข้ามสิ่งที่เขาพูดไปเยอะอยู่เหมือนกัน หลังจากนั้น ผมจึงไปถามเพื่อนชาวแคนาดาที่พูดภาษาจีนกลางซึ่งนั่งอยู่แถวหน้า ว่าคณบดีพูดว่าอะไรบ้าง เพื่อนคนนั้นสรุปว่า “พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับศาสตราจารย์ไนย์ (Nye) แต่ขอให้นักศึกษาทุกคนตระหนักว่า แนวคิดของเขานั้นมีความเป็นการเมืองมากเกินไป และทางเราขอสงวนแนวคิดนี้ไว้ใช้กับประเด็นด้านวัฒนธรรมเท่านั้น”
เมื่อเวลาผ่านไป ผมก็ค่อย ๆ ตระหนักได้ว่า แนวคิดต่าง ๆ อย่าง “ซอฟต์พาวเวอร์” ก็เหมือนกับเด็ก ๆ ในฐานะนักวิชาการหรือนักคิดสาธารณะ คุณรักและอบรมสั่งสอนเด็กเหล่านั้นได้เฉพาะตอนที่พวกเขายังเล็ก แต่เมื่อเติบโตขึ้นแล้ว พวกเขาจะออกเดินทางไปพบผู้คนใหม่ ๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี และคุณเองก็ทำอะไรมากไม่ได้ แม้ว่าคุณจะเป็นผู้ให้กำเนิดเด็กเหล่านั้นก็ตาม ดังที่นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน อย่างบอลด์วิน (David A. Baldwin —นักรัฐศาสตร์อาวุโส ประจำสาขารัฐประศาสนศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ) เขียนไว้ไม่นานนี้ เมื่อปี 2016 ว่า “การอภิปรายของไนย์เกี่ยวกับซอฟต์พาวเวอร์ได้กระตุ้นและช่วยให้ทั้งผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการเข้าใจประเด็นต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น แม้แต่กับคนที่เข้าใจผิดหรือไม่เห็นด้วยกับเขาก็ตาม” บางที นั่นอาจเป็นสิ่งเดียวที่เราจะหวังได้จากแนวคิดหนึ่ง ๆ ก็เป็นได้
ที่มา
Joseph S. Nye Jr., “Soft Power: The Origins and Political Progress of a Concept,” in Soft Power and Great-Power Competition, ed. Joseph S. Nye Jr. (Singapore: Springer, 2023),
เรื่องและบทแปลโดย

ภาพโดย
