Kind Dine

ส้มตำไทย ใคร ๆ ก็ชอบ

นัว ๆ แซ่บ ๆ ครบทุกรส เปรี้ยว หวาน เค็ม จะเผ็ดมากเผ็ดน้อยก็ได้ตามใจชอบ ยิ่งรับประทานคู่กับข้าวเหนียวหรือไก่ย่าง เป็นอันว่ามื้อนี้ครบโภชนาการ เมนูที่กำลังพูดถึงนี้คือ “ส้มตำ” อาหารพื้นถิ่นแดนอีสานที่ผสมผสานส่วนประกอบแบบไทย ๆ จนกลายมาเป็น “ส้มตำไทย” เมนูขึ้นชื่อบนโต๊ะอาหารที่ใคร ๆ ก็ชอบ

KiNd ชวนบรรดาคอรสนัวมาติดตามเส้นทางการเดินทางของเมนูส้มตำไทย ตั้งแต่การนำเมล็ดมะละกอจากต่างแดนเข้ามา จนถึงการผสมผสานเมนูกับประเทศบ้านพี่เมืองน้องอย่างประเทศลาว ก่อนจะกลายเป็นอาหารประจำชาติ ที่ไม่ว่าจะเป็นร้านข้างทางหรือภัตตาคารก็จะพบเมนูนี้พร้อมเสิร์ฟเสมอ

เส้นทางการเดินทาง กว่าจะเป็นส้มตำไทย

ส้มตำไทย กลายเป็นอาหารประจำชาติที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สร้างรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน รวมถึงได้กลายเป็นอาชีพหลักของพ่อค้าแม่ค้าหลายครัวเรือน และเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดของประเทศไทย

พระเอกของส้มตำคือ “มะละกอ” ซึ่งเป็นพืชที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในทวีปอเมริกากลาง บริเวณประเทศเม็กซิโกตอนใต้และคอสตาริกา และได้แพร่หลายเข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยา (แต่เดิมชาวสยามเรียกมะละกอว่า แตงไทย) ต่อมาในปี พ.ศ. 2475-2479 รัฐบาลได้สนับสนุนให้ประชาชนปลูกมะละกอเพื่อนำมาสกัดเอายางมะละกอสำหรับส่งขายต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างประเทศศรีลังกาว่าสามารถขายยางมะละกอส่งออกได้ปีละ 300,000 บาท ความนิยมปลูกมะละกอจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับส่วนประกอบที่มาคู่กับมะละกอคือ “พริก” จะใส่มากใส่น้อยก็ขอให้มีไว้ก่อนเพื่อเพิ่มความจัดจ้าน ซึ่งที่มาของพริกนั้นมาจากต่างแดนเช่นกัน โดยในปี พ.ศ. 2143 พริกจากอินเดียได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศจีนและแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

ส่วนเมนูส้มตำนั้น แม้ในตำราอาหารไทยยังไม่มีปรากฏว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่ตำราแม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2451 มีสูตรอาหารที่คล้ายส้มตำนั่นก็คือ ปูตำ เพราะใช้มะขามเป็นส่วนผสมหลักเช่นกัน

แล้วส้มตำไทยมาได้อย่างไร? จากการสืบค้นตามหาแหล่งที่มาของส้มตำไทยพบว่า หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการสร้างสนามมวยราชดำเนินขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งยุคนั้นชาวอีสานได้อพยพมาอยู่กรุงเทพฯ กันมากขึ้น ทำให้กลายเป็นแหล่งชุมชนของคนอีสานโดยมีการปลูกสร้างบ้านเรือนหรืออาศัยกันอยู่แถวนั้นจนกลายเป็นแหล่งชุมชนของคนอีสาน แล้วต่อมาในราวปี พ.ศ. 2493 เริ่มมีการเปิดขายส้มตำกันมากขึ้นบริเวณสนามมวยราชดำเนิน

ส้มตำ เมนูสร้างชื่อให้ประเทศไทย

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2561 นิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก Lonely Planet ออกหนังสือคู่มือท่องเที่ยว Ultimate Eat จัดอันดับอาหารที่ดีที่สุดในโลก 500 รายการ โดย “ส้มตำไทย” ติดอยู่ในอันดับที่ 5 และถูกแนะนำว่าเป็น Street Food ที่หากใครได้มาเยือนกรุงเทพฯ ต้องห้ามพลาด

การจัดอันดับในครั้งนี้ มาจากเสียงโหวตของผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ได้แก่ เชฟมิชลินสตาร์ กรรมการรายการมาสเตอร์เชฟ เซเลบริตี้เชฟระดับโลก รวมไปถึงนักเดินทางทั่วโลก โดย ทอม ฮอลล์ บรรณาธิการหนังสือคู่มือท่องเที่ยว Ultimate Eat กล่าวว่า การจัดอันดับอาหารครั้งนี้เป็นการประเมินจากรสชาติความอร่อยและบรรยากาศที่ดี เพื่อสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจให้แก่นักเดินทางที่หลงใหลการชิมอาหารท้องถิ่น

นอกจากนี้ ร้านส้มตำในประเทศไทยอย่าง “ร้านส้มตำคุณกัญจณ์” ที่ตั้งอยู่ในซอยวชิรธรรมสาธิต กรุงเทพฯ ยังเคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดส้มตำ Michelin Guide เมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยการันตีว่าที่ร้านใช้วัตถุดิบคุณภาพเยี่ยมและมีรสชาติถึงเครื่องอย่างแท้จริง

เมนูส้มตำไทย ได้ชื่อว่าเป็นมรดกภูมิปัญญาไทย โดยในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ส้มตำ” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ร่วมกับอาหารพื้นบ้านอีกหลายชนิดด้วยเช่นกัน

เรียกได้ว่า นอกจากรสชาติจะถูกปากทั้งคนไทยและชาวต่างไทยชาติแล้ว วัฒนธรรมการรับประทานส้มตำไทยยังสืบทอดกันมาช้านานจนได้รับการยอมรับระดับโลก… หากมื้อกลางวันนี้ยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะรับประทานอะไร ลองเลือกเมนูส้มตำมาลิ้มลองความแซ่บ ความนัว รับรองตอนนี้น้ำลายสอแน่นอน!


อ้างอิง

  • ประวัติส้มตำ หรือ ตำบักหุ่ง อาหารอีสาน. https://bit.ly/36exHcV
  • ส้มตำไทย ติด Top 5 อาหารที่ดีที่สุดโดย Lonely Planet https://news.thaipbs.or.th/content/274038
  • สืบที่มา “ส้มตำ” เมนูยอดฮิตเข้ากรุงเทพฯ เมื่อไหร่ คนกรุงสมัยก่อนกินส้มตำที่ไหน. https://www.silpa-mag.com/culture/article_5140

เรื่องโดย

ภาพโดย