Kind Creations

Talk | Golden Pin Design Award กับดีไซน์ที่ใครก็เอื้อมถึง


ทุกปี Golden Pin Salon จะจัดเสวนาทั่วเอเชีย เชิญดีไซเนอร์ที่ได้รางวัล Best Design ปีก่อนหน้า มาแบ่งปันประสบการณ์เฉพาะตัวและโชว์เคสงานดีไซน์เจ๋งแจ๋ว ให้คนในวงการดีไซน์กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมฟังและแลกเปลี่ยนกันหลังจบเซสชัน


พอได้รับคำเชิญไปร่วมงาน ทีมไคนด์เลยรีบเช็กตาราง แล้วตอบตกลง โดยเชื่อสนิทใจว่า art4d กับ Taiwan Design Research Institute ต้องสรรหาประเด็นดีไซน์เข้มข้นมาเล่าให้ฟัง นอกจากนั้น พวกเรายังคุยกันในทีมด้วยว่า จะเขียนงานสักชิ้นถึงทอล์กนี้ให้ชาวไคนด์อ่าน เพราะเราเชื่อว่าดีไซน์เป็นเรื่องใกล้ ๆ ที่ควรส่งต่อออกไปไกล ๆ ให้ทุกคน

READYเตรียมตัวเข้าใจงานดีไซน์


ไม่ต้องห่วงว่าจะเหมือนการจัดการประกวดและเสวนาด้านดีไซน์ทั่วไป ที่ยึดโยงเฉพาะกับรูปแบบและดีไซเนอร์ฝั่งตะวันตก เพราะนอกจากจะจัดงานทั่วเอเชียรวม 21 เมืองแล้ว Golden Pin Awards ยังให้ความสำคัญกับดีไซน์เฉพาะตัวและเทรนด์ของเอเชียในศตวรรษที่ 21 เป็นหลัก โดยให้คณะกรรมการทั่วเอเชียเป็นผู้ตัดสิน สังเกตได้จากเท็กซ์ไทล์จากใบสับปะรด ซึ่งเป็นผลไม้เขตร้อน/ พยัญชนะไทย ที่ถูกออกแบบเป็นอิลลัสเตรชันกับโปรดักต์เข้าถึงง่ายต่าง ๆ ตลอดจนงานดีไซน์อื่น ๆ ในหนังสือที่ทาง Salon จัดพิมพ์


ทอล์กครั้งนี้ เชิญนักออกแบบที่เชี่ยวชาญแตกต่างกันแต่ละด้านมาร่วมสนทนา 4 ท่าน โดย

01 Chen Wei สถาปนิกควบคุมโครงการจาก Metahouse Architects & Associates พาไปทำความเข้าใจบริบททางสังคมของไต้หวันและแนวคิดการออกแบบสเปซด้วยการคำนึงถึง Human Sensory Experience เป็นหลัก

02 Johnason Lo ผู้ก่อตั้ง JL DESIGN motion graphic studio แห่งแรกของไต้หวัน แสดงวิสัยทัศน์และภูมิทัศน์ด้านดีไซน์และ Visual Experience ของงานสเกลใหญ่ ซึ่งมีขอบเขตการทำงานกว้างขวาง

03 ฉัตรพงศ์ ชื่นฤดีมล ผู้ก่อตั้ง CHAT architects มาบอกเล่าถึงโปรเจ็กต์ยักษ์ ‘Bangkok Bastards’ หรือ ‘สถาปัตยกรรมสารเลว’ ที่กวาดรางวัลมานับไม่ถ้วน พร้อมชวนขบคิดถึงกระบวนการออกแบบของผู้ที่ไม่ใช่สถาปนิกผ่าน Angsila Oyster Scaffolding Pavilion

04 กฤษ พุทพิมพ์ ผู้ก่อตั้งสตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์​ Dots Design Studio ส่งต่อแพชชันในการสร้างสรรค์กับความเป็นไปได้ในมิติศาสนา ไลฟ์สไตล์ และวัสดุศาสตร์

SETเก็บเกี่ยวหลักใหญ่ใจความ


01 Chen Wei กับสถาปัตย์ฯภายในสู่ภายนอก

ก่อนจะลงรายละเอียดเกี่ยวกับโปรเจกต์ ‘ศูนย์จัดการขยะรีไซเคิลในโรงเรียนประถม’ (The Recycling Center) Chen Wei เล่าให้ฟังถึงกระบวนการรีเสิร์ชจริงจัง ค่อย ๆ วางหมุดหมายด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะมุ่งมั่นสร้างสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก ให้สอดรับกับวิถีชีวิตคนในพื้นที่ ทั้งยังเลือกรวบรวมเรื่องราวและเอกลักษณ์ท้องถิ่นไว้ในสถาปัตยกรรมสร้างใหม่เสมอ ด้วยเชื่อว่าทั้งภายในและนอกอาคารสำคัญไม่แพ้กัน อย่างการปล่อยให้แสงลอดผ่าน เปิดช่องลม หรือแม้แต่เสียงฝนที่ผู้ใช้งานอาคารได้ยิน ก็นับเป็นประสบการณ์ที่สถาปนิกมองข้ามไม่ได้

นอกจากนี้ เธอยังยกตัวอย่างสิ่งปลูกสร้างที่รัฐมักไม่ให้ความสำคัญ อย่างห้องน้ำสาธารณะ จนผู้คนในเมืองไม่อยากใช้งานหากไม่จำเป็น และกลายเป็นที่อโคจรในที่สุด เธอเสนอวิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ ว่าให้ใส่ใจการออกแบบและเปลี่ยนภาพลักษณ์ห้องน้ำสาธารณะและพื้นที่รอบ ๆ ให้สะอาดน่าใช้ สะท้อนอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของชุมชนเท่าที่จะทำได้ แล้วผู้คนก็จะช่วยกันดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดไป


ไม่ต่างจากศูนย์รีไซเคิลขยะที่เธอเป็นหัวหน้าทีมออกแบบ เธอตั้งใจดีไซน์ทุกอย่างให้สอดรับกัน และตอบโจทย์ผู้ใช้งานหลัก ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถมให้ได้มากที่สุด พื้นที่ภายในจึงสดใสชวนใช้งาน ชี้นำเด็ก ๆ ด้วยสัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ชัดเจนเข้าใจง่าย ทั้งยังต้องละเอียดพอสำหรับเป็นแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยไม่ลืมว่าส่วนที่สำคัญที่สุดของพื้นที่นี้ คือความปลอดภัย ตัวอาคารจึงถูกออกแบบมาให้มองเห็นได้จากด้านนอกด้วยวัสดุโป่รงแสง


สุดท้าย เธอเลือกที่จะใส่พื้นที่ซักล้างเอาไว้ด้วย และใช้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นเสาไฟฟ้าสาธารณะ เพื่อปรับคุณค่าให้พื้นที่แห่งนี้เป็นของทุกคน และเพิ่มความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชน (Sense of Belonging)


02 Johnason Lo กับการออกแบบนิเวศทางดีไซน์

Johnason Lo เลือกเล่าเรื่องดีไซน์คนละมุมมองจากผู้ร่วมเสวนาอีกสามท่าน ใช้ผลงานเป็นภาพแทนพลวัตของวงการดีไซน์ไต้หวัน ที่เดิมถูกมองว่าเป็นเมืองเรียบเฉยและไร้ระเบียบ

ถึงรู้แล้วว่าไต้หวันเป็นพื้นที่ไร้ดีไซน์ เขาเลือกมองข้อจำกัดเหล่านั้นเป็นโอกาส และก้าวข้ามจากอาชีพอนิเมเตอร์สู่การเป็นผู้ประกอบการรายแรกด้านโมชันกราฟิก เขาเริ่มตามหาดีไซเนอร์เจ๋ง ๆ มาทำงานจนพบความจริงที่ว่า ‘การออกแบบดีไซเนอร์’ ยากกว่าการออกแบบประเภทอื่น ๆ แต่เมืองในสภาวะไม่พร้อม ก็ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย เขาพบว่าการที่ดีไซเนอร์มาจากสายงานหลากหลาย ช่วยให้งานดีไซน์ออกมาสไตล์จัดและมีมุมมองแปลกใหม่


อีกทั้ง Johnason ยังเสริมอีกว่า ‘งานดีไซน์คืองานกลุ่ม’ ที่ต้องมีพันธมิตรเก่งกาจมาช่วยกันหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นโปรเจกต์ยิบย่อย หรืองานสเกลยักษ์ อย่างการพัฒนาประเทศให้เติบโต เหมาะจะเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ ดึงดูดศิลปินทั่วประเทศมารวมกัน จนเกิดเป็นบรรยากาศที่ดีเยี่ยมสำหรับวงการดีไซน์ไต้หวัน

ตลอดการบรรยาย จะเห็นได้ว่าทั้ง Johnason และบริษัทเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ก้าวกระโดดจากงานดีไซน์ออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์เต็มรูปแบบ ให้บริการครบทุกด้าน ตั้งแต่โมชันกราฟิก อนิเมชัน วิดีโอสั้น สารคดี เพลง ไปยันการจัดงานและทำ Branding จนบริษัทฯ เข้มแข็งพอจะเปลี่ยนอุตสหกรรมดีไซน์ไต้หวันได้อย่างยั่งยืน ในแง่ที่ว่าศิลปินและบริษัทดีไซน์อื่น ๆ พึ่งพาตัวเองได้ตลอดลอดฝั่ง

เรื่องน่าสนใจที่ JL Design ยกมานำเสนอบนเวที คือโปรเจกต์เชิญชวนนักท่องเที่ยวทั่วโลกให้มาไต้หวันด้วยไอดอล Johnason เลือกตีความว่าใคร ๆ ก็เป็นไอดอลได้ในแบบของตัวเอง ใช้บรรดาผู้คนหลากหลายอาชีพมาเป็นตัวแสดงหลัก ฉายภาพชีวิตประจำวันธรรมดา ๆ ประกอบการเล่าเรื่อง (Storytelling) ในรูปแบบวิดีโอสั้น เพื่อให้ผู้รับชมรู้สึกยึดโยงกับไต้หวันได้ง่าย

อีกประเด็นน่าสนใจ คือความเป็นสากลของงาน (Timelessness) ที่เขาให้ความเห็นแน่วแน่ไว้ว่า ‘ไม่มีอยู่จริง’ ด้วยเหตุผลที่ว่า โลกกำลังหมุนต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไรเสียก็ต้องมีน้ำเสียง เจเนอเรชัน และมีเดียใหม่ ๆ มาแทนที่

ก่อนจบการบรรยาย Johnason ทิ้งท้ายคมคาย ชวนผู้ฟังขบคิดวิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุดจาก ‘การตั้งคำถามที่ถูกต้อง’ มากกว่า ‘การหาคำตอบที่ถูกต้อง’ เพราะเขาเชื่อว่าคำตอบจำพวกนั้นไม่มีอยู่จริง และมักเปลี่ยนไปตามแต่ละบริบทเสมอ หรือต่อให้พบคำตอบที่ถูกต้อง ก็จะใช้ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะที่คำถามที่ถูกต้อง จะพาเราไปสู่คำตอบดีพอเรื่อยไป


03 ฉัตรพงศ์ ชื่นฤดีมล กับสถาปัตยกรรมสารเลว

หากติดตามแวดวงสถาปัตย์ฯ ใกล้ชิด โปรเจกต์ ‘Bangkok Bastards’ หรือ ‘สถาปัตยกรรมสารเลว’ คงผ่านหูผ่านตามาบ้าง 

ฉัตรพงศ์ ชื่นฤดีมล ผู้ก่อตั้ง CHAT architects อธิบายโปรเจกต์ดังกล่าวให้ฟังว่า เป็นการทำรีเสิร์ชและศึกษาลงลึกเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเรียบง่าย ซึ่งเห็นได้ทั่วไป ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาตามความเข้าใจของตนเอง โดยไม่มีความรู้ด้านการออกแบบมาเกี่ยวข้อง แต่ดีพอจะตอบโจทย์ผู้พักอาศัยได้ แม้คนส่วนมากจะมองสิ่งปลูกสร้างประเภทนี้ (แคมป์ก่อสร้าง สลัม แผงลอย ) ว่าสกปรกและอันตรายก็ตาม


คราวนี้ ฉัตรพงศ์เลือกจะหยิบยก Angsila Oyster Scaffolding Pavilion หรือ โปรเจกต์พาวิลเลียนบนกระชังหอย ที่งานทำกับนิสิตจุฬาฯ มาคุยให้ฟังในรายละเอียด ถึงโครงสร้างของสถาปัตยกรรมกลางทะเล ในพื้นที่ชุมชนอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ผ่านแบบร่างง่ายงามคร่าว ๆ ฉัตรพงศ์ชี้ให้เราเห็นว่า นอกจากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว (ก่อนพัฒนา) จะถูกมองว่าเป็นสถาปัตยกรรมสารเลวแล้ว ยังแสดงถึงความครึ่ง ๆ กลาง ๆ ระหว่างสังคมอุตสาหกรรมกับประมงพื้นบ้าน ผ่าน ‘ไม้ไผ่’ ที่ยึดเกี่ยวกันแน่นหนาด้วย ‘สายเข็มขัดนิรภัย’ ซึ่งผลิตตามโรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ในจังหวัดชลบุรี


ไม่เท่านั้น ทีมออกแบบจาก CHAT architects ยังชวนชาวบ้านเพิ่มฟังก์ชันพักอาศัยด้านบนกระชังหอย ที่เดิมทำหน้าที่เสมือนป้อมยาม คอยตรวจตราไม่ให้หอยถูกขโมย เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมเข้าพัก สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ร่วมรับประทานอาหาร และใช้กระชังหอยเป็นพื้นที่ศึกษาชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างคอนเน็กชันซึ่งเป็นรูปธรรมระหว่างผัสสะกับทะเล 

นอกจากนี้ ฉัตรพงศ์ยังให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชน ดีไซน์พาวิลเลียนหลังนี้ให้เป็นต้นแบบกระชังหอยนางรม ที่ชาวบ้านเลือกนำส่วนที่เป็นประโยชน์ไปปรับใช้กับกระชังของตัวเองได้ อาจเลือกเฉพาะวิธีการยึดโครงสร้างด้วยเข็มขัดนิรภัย การใช้ไผ่ในการวางโครงสร้างหลังคาและพื้น หรือการขึงแสลนกันแดดสีแดงฉูดฉาดตัดกับสีน้ำทะเลเพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็ได้


พอได้เห็นองค์ประกอบเหล่านี้พร้อมกันบนเวที ก็เชื่ออย่างที่ฉัตรพงศ์พูดทันทีเลยว่า “ไม้ไผ่กับแรงมนุษย์ก็พอแล้ว ไม่ต้องมีวิศวกรมือหนึ่งก็ได้ เราแค่ต้องการผู้นำเก่ง ๆ สักคน” 


04 กฤษณ์ พุฒพิมพ์ กับดีไซน์จากแพชชันที่เน้นแก้ปัญหา

ใจความหลักที่กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์ฟูลเซอร์วิส Dots Design Studio พยายามนำเสนอตลอดเสวนาช่วงสุดท้าย คือ “Form follows passion”. หรือที่แปลแบบขยายความได้ว่า แพชชันในงานดีไซน์ต้องมากก่อนทุกสรรพสิ่ง

กฤษณ์เล่าภาพรวมของการทำงานในสตูดิโอฯ ไว้ว่าต้องทำงานกับลูกค้าหลากหลาย ซึ่งหมายถึงต้องพบเจอกับปัญหานับไม่ถ้วนด้วยเช่นกัน และแม้จะต้องแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามความประสงค์ของลูกค้า Dots Design Studio ก็ไม่ยอมสูญเสียตัวตน และเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้านการออกแบบของสตูดิโอฯ ที่มุ่งนำเสนอวัสดุแปลกใหม่หลายประเภท


สำหรับกฤษณ์ งานดีไซน์เป็นเรื่องที่มากกว่าความสวยงามผิวเผิน แต่เป็นเรื่องฟังก์ชันและรูปแบบที่สมดุล ทั้งแง่ของเอ็นด์โปรดักซ์ (End product) และการทำงานเป็นทีมระหว่างดีไซเนอร์ นักออกแบบสื่อสาร มันฑนากร ฯลฯ เพื่อถ่ายทอดตัวตนของแบรนด์และหาโซลูชันที่ดีที่สุดให้ลูกค้า

GOมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของนิเวศดีไซน์


ก่อนชวนทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่ง (ซึ่งสำคัญ) ในโลกดีไซน์ เราขอสรุปรวบรัดถึงสิ่งที่ได้จากทอล์กนี้ก่อนว่า ดีไซน์เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างที่สุด ไม่ใช่เรื่องฟุ่มเฟือยเอื้อมไม่ถึง ด้วยว่างานดีไซน์แทรกซึมอยู่ในทุกสิ่งอย่างและทุกหน่อยย่อยของสังคม ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ ตึกรามบ้านช่อง ไปยันอุตสาหกรรมทั้งระบบ

ด้วยเหตุนี้ งานดีไซน์จึงถือเป็นวิธีคิดเบื้องหลังของอะไรสักอย่าง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความงามภายนอก ซึ่งบางครั้งต้องพึ่งพานวัตกรรมล้ำ ๆ กับทฤษฎีเข้าใจยาก ในขณะที่หลาย ๆ ครั้งก็เรียบง่าย ย้อนกลับไปที่ภูมิปัญญาชุมชน

KiNd ตั้งใจชวนคุณมาสนับสนุนงานดีไซน์ด้วยวิธีการที่ถนัด เพื่อต่อยอดวงการดีไซน์ให้เข้มแข็ง เติบโตยั่งยืน และพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักดีไซน์ไทยทุกแขนง

…เพราะเรายังอยากดีไซน์คอนเทนต์ใจดีให้คุณเสพกันไปยาว ๆ !


เรื่องโดย

ภาพโดย