Kind Words

ปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสือ


“การอ่านหนังสือเป็นสิ่งดี” ในวัยเด็กเราต่างได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่าน และหลายคนเติบโตมากับการอ่านเช่นเดียวกับเด็กหนุ่มผู้ดำเนินเรื่อง “นัตสึกิ รินทาโร่” รินทาโร่ใช้ชีวิตกับคุณปู่เจ้าของร้านหนังสือเล็ก ๆ ในชุมชน ร้านหนังสือของเขาไม่มีหมวด “ขายดี” หรือ “ยอดนิยม” ยิ่งกว่านั้นคือมีเพียงหนังสือนอกสายตาที่เราไม่สามารถหาได้ในร้านหนังสือเชนสโตร์ เด็กชายมัธยมปลายรู้จักหนังสือทุกเล่มในร้านของตัวเองเป็นอย่างดี เขาอ่าน คลั่งรัก และเคารพหนังสือในคราวเดียวกัน จึงไม่แปลกที่ตัวละครนัตสึกิ รินทาโร่จะทำให้ผู้อ่านรู้สึกเห็นเงาสะท้อนของตัวเองอยู่ในเล่มเช่นกัน

การเดินทางของรินทาโร่เริ่มขึ้นหลังจากการจากไปของคุณปู่ แมวลายส้มพูดได้ปรากฏตัวขึ้นและขอให้เขาช่วยพิทักษ์หนังสือจากผู้คนที่นิยามตัวเองว่ารักหนังสือเช่นเดียวกันกับเขา ผ่านภารกิจพิทักษ์หนังสือเหล่านี้ โซสุเกะ นัตสึคาวะได้นำเสนอมุมมองความคิดเกี่ยวกับคุณค่าและคุณภาพของการอ่าน รวมไปถึงความเป็นธุรกิจของตลาดหนังสือด้วย

แค่พลิกหน้าผ่านหน้าสุดท้ายของปฐมบทเพื่อไปถึงบทที่หนึ่ง ภารกิจแรกของรินทาโร่ก็สั่นคลอนความเชื่อและชวนตั้งคำถามกับ “การอ่านหนังสือเป็นสิ่งดี” คำว่าดี จากประโยคนี้และความคิดที่เราถูกปลูกฝังกันมาควรเป็นอย่างไร? ประกอบด้วยสิ่งใด? ทุกการอ่าน ทุกเล่มที่ผ่านสายตาจะสามารถนิยามว่าดีทั้งหมดได้หรือไม่? คุณค่าและคุณภาพนั้นวัดจากความรู้สึกอันแรงกล้าตอนปิดหน้าสุดท้ายหรือจำนวนเล่มทั้งหมดที่ได้อ่านกันแน่?


โซสุเกะ นัตสึคาวะไม่เพียงนำเสนอความคิดในมุมผู้บริโภค เขายังตั้งประเด็นถึงผู้สำนักพิมพ์ในฐานะผู้ผลิตหนังสือ แน่นอนว่ามุมมองของนักธุรกิจนั้นหนังสือคือสินค้า และเครื่องการันตีคุณภาพย่อมหนีไม่พ้นยอดขาย บนพื้นฐานแนวคิดเช่นนี้หนังสือขายดีสามารถจัดเป็นหนังสือดีได้ไหม? นับเป็นเรื่องปกติที่ผู้ประกอบการจะมุ่งผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต ผลิตภัณฑ์ที่มอบความสะดวกสบายนั้นถูกเรียกว่าดี แต่สำหรับการตีพิมพ์หนังสือสักหนึ่งเล่มนั้น หนังสือที่ตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกในการใช้ความคิด จะถูกเรียกว่าดีได้หรือไม่? 

เสน่ห์ของปาฏิหาริย์แมวลายส้มผู้พิทักษ์หนังสืออยู่ที่การใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน ในขณะเดียวกันก็ไม่เกิดความน่าเบื่อระหว่างการอ่านเพราะประเด็นนำเสนอที่เข้มข้น ตัวละครทุกตัวต่างรักและอ่านหนังสือในแบบของตัวเอง บทสนทนาการโต้เถียงของพวกเขาจึงมีจุดยืนและความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้อยู่เช่นเดียวกัน เรื่องที่น่าประทับใจคือโซสุเกะ นัตสึคาวะถ่ายทอดมุมมองเกี่ยวกับหนังสือและการอ่านอย่างชัดเจนหนักแน่นโดยไม่มีบรรยากาศการบังคับหรือยัดเยียดความคิดให้แก่ผู้อ่าน นอกจากนี้ยังจุดประกายความหวังที่จะเปลี่ยนแปลง พัฒนาวงการหนังสือทั้งในฐานะผู้เขียนและผู้อ่าน นับเป็นหนังสือที่มอบความรู้สึกอันแรงกล้าตอนปิดหน้าสุดท้ายได้น่าประทับใจอีกเล่มหนึ่ง 


เรื่องโดย