การมีพื้นที่ให้โต้แย้งและแสดงอัตลักษณ์เป็นสิ่งจำเป็นใน ‘โลกปิตาธิปไตย’ (Patriarchy) หรือที่เรียกแบบลำลองว่า ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ — สังคมซึ่งทุกสิ่งอย่างถูกถ่ายทอดและตีความผ่านวิธีคิดแบบ ‘ผู้ชาย’
ครั้งนี้ KiNd ขอสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศผ่านการเขียนเล่าเรื่อง ‘พิพิธภัณฑ์เครื่องเพศสตรีแห่งแรกของโลก’ ให้ผู้อ่านทุกคนได้รู้จักเพื่อใช้เป็นข้อมูล หรือร่วมสนับสนุนไม่ทางใดก็ทางหนึ่งต่อไป เพราะเราเชื่อว่าทุกคนต่างมีวิธีเรียกร้องและสนับสนุนความเท่าเทียมฯ ในแบบของตัวเอง
จุดซ่อนเร้นที่ถูกเปิดเผย: จุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์จิ๋ม
พอได้รู้ว่าที่ไอซ์แลนด์มีพิพิธภัณฑ์จุ๊ดจู๋โดยเฉพาะ ฟลอเรนซ์ เช็คเตอร์ (Florence Schechter) จึงตัดสินใจก่อตั้ง Vagina Museum (พิพิธภัณฑ์เพื่อจิ๋ม แคม และระบบสืบพันธุ์เพศหญิง) ขึ้นมาบ้าง โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2017 โดยเริ่มจากป็อปอัพอีเวนต์ และนิทรรศการต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรอังกฤษ ทั้งในเทศกาลอิสระ Green Man Festival ในเวลส์ / สถาบัน the Royal Institution of Great Britain / ห้องสมุด Feminist Library / พิพิธภัณฑ์ Freud Museum จนกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ออนไซต์ให้เข้าเยี่ยมชมได้ในปี 2019 ที่ย่าน Camden Market ในที่สุด (ขณะนี้ Vagina Museum ก็กำลังตามหาที่ตั้งใหม่อยู่ ใครอยากแนะนำ เชิญชวน หรือสนับสนุนก็ติดต่อไปได้เลย)
Photo Credit: Nicole Rixon
Vagina Museum หวังจะเป็นพื้นที่สำหรับความหลากหลายและสำหรับสตรีนิยม (Feminism) เพื่อลบภาพจำผิด ๆ ของจิ๋ม และนับรวมทุกคนในสังคม เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องเบสิกที่สุดอย่างการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์ สุขภาพ และการคุมกำเนิด ไปจนเรื่องในระดับความคิด-จิตใจ เพื่อลบอคติที่มีต่อจิ๋ม สร้างค่านิยมใหม่ให้แก่สังคม และสั่นคลอนวิธีคิดแบบสองเพศ (Gender Binary) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งใจจะเป็นพื้นที่สำหรับทุกเพศอย่างแท้จริง ถึงจะใช้ชื่อว่าจิ๋มก็ตาม
นิทรรศกี: ครุ่นคิด – สั่นคลอน – ทลายระบอบชายเป็นใหญ่
Photo Credit: Angus Young
Vagina Museum ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศผ่านผลงานศิลปะและนิทรรศการชวนคิด ทั้งแบบถาวรและชั่วคราว เพื่อผลัดเปลี่ยนเนื้อหาให้ผู้ชมแวะเวียนไปเรียนรู้เรื่องเพศสภาวะ (Gender) ได้เรื่อย ๆ เนื้อหาในการจัดแสดงก็จะเปลี่ยนไปตามศิลปินหรือผู้สนับสนุน แต่ใจความหลักจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงและมายาคติทางเพศเสมอ KiNd ขอเล่าถึง 2 นิทรรศการน่าสนใจที่ได้เข้าชมออนไลน์ และรอจะไปเยี่ยมชมในอนาคตอันใกล้
นิทรรศการ 01 | Muff Busters: Vagina Myths and How to Fight Them (ไอ้สามขา: การก้าวข้ามมายาคติว่าด้วยจิ๋ม)
Photo Credit: Angus Young
‘เราต่างมีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกัน’ กว่าจะยอมรับความแตกต่างนี้ได้ เราจำเป็นต้องเห็นและอยู่ร่วมกันจนเป็นปรกติ ประชากรครึ่งโลกมีจิ๋ม พวกเราส่วนใหญ่ก็เกิดมาจากตรงนั้น แต่ ‘จิ๋ม’ ‘แคม’ และ ‘ระบบสืบพันธุ์สตรี’ กลับไม่อาจพูดถึงโดยทั่วไป และกลายเป็นเรื่องผิดบาปหยาบคาย เมื่อไม่ถูกพูดถึงหรือบรรจุไว้ในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง มายาคติและความเชื่อผิด ๆ จึงก่อตัวจนมีมากกว่าข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างผลกระทบเชิงลบเป็นวงกว้างต่อคนบางกลุ่ม ผู้หญิงมากมายเกินจะนับไหวไม่กล้าแตะต้อง สำรวจ สร้างความคุ้นเคยกับอวัยวะเพศตัวเอง ไม่กล้าพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องเพศกับผู้หญิงคนอื่น ๆ จนไม่รู้ว่าอวัยวะเพศหญิงนั้นหลากหลาย และมีลักษณะต่างกันออกไป ไม่ต่างจากใบหน้าของคนเรา ทำให้ผู้หญิงเข้ารับการผ่าตัดตกแต่งแคมให้เล็กลงมากขึ้นจากเดิม 500% ในปี 2002-2012 แค่เฉพาะผ่านบริการสุขภาพแห่งชาติในสหราชอาณาจักรอังกฤษ (NHS) (ในเอกชนน่าจะอีกเพียบ)
นิทรรศการนี้เล่าถึงและพยายามทำลายมายาคติในสังคม ตั้งแต่เรื่องจับต้องได้ภายนอกอย่างองค์ประกอบของจิ๋ม และการรักษาความสะอาด ไปจนเรื่องภายในอย่างกระบวนการคิดกับมายาคติว่าด้วยประจำเดือน และการคุมกำเนิดแบบผิด ๆ
นิทรรศการนี้เปิดให้เยี่ยมชมออนไลน์ เชื่อว่าต่อให้เป็นผู้หญิงที่รู้จักจิ๋มตัวเองเป็นอย่างดี ก็จะยังได้รู้อะไรใหม่ ๆ จากนิทรรศการนี้แน่นอน… ลองเปิดใจสักครั้งจะรู้เลยว่าทีมงานตั้งใจทำแค่ไหน
ยกมาเล่าให้ฟังสักเรื่องแล้วกัน… ช่วงปี 1950-1960 ผู้หญิงอเมริกันใช้โค้กล้างจิ๋มเพื่อคุมกำเนิด เพราะเชื่อว่ากรดและน้ำตาลในโค้กฆ่าเชื้ออสุจิได้ นอกจากอสุจิจะไม่ตายยังเป็นเชื้อราในช่องคลอดอีก เพราะแบคทีเรียประจำถิ่นที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคแปลกปลอมตายหมดเกลี้ยง
นิทรรศการ 02 | Periods: A Brief History (ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของประจำเดือน)
Photo Credit: www.vaginamuseum.co.uk
ณ ช่วงเวลาหนึ่งทั่วโลก ผู้หญิง (หรือใครก็ตาม) ราว ๆ 800 ล้านคนกำลังเป็นประจำเดือน แต่เมนส์ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติกลับถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอายและสกปรก สมควรแก่การหลบซ่อน
นิทรรศการนี้จะพาไปเจาะลึกถึงบางเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ (อย่างเหตุการณ์ที่ครั้งหนึ่งเมนส์เคยเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องดี ๆ) มายาคติและความเชื่อในสังคม ตลอดจนชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่เมนส์มีต่อมนุษย์ตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน
นิทรรศการนี้เคยจัดไปแล้วสองรอบแบบออนไซต์และกำลังจะจัดอีกครั้งแบบออนไลน์ในอนาคตอันใกล้ ใครที่สนใจก็ติดตามเพจ @VaginaMuseum ไว้รออัปเดตได้เลย
ถึงทุกคนที่อ่านมาถึงย่อหน้าเกือบสุดท้ายนี้ KiNd อยากชวนผู้อ่านทุกคนมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ตัวเองถนัด เพราะมายาคติทางเพศจะทุเลาเบาบางลงก็ต่อเมื่อพวกเราส่วนใหญ่เข้าใจ เรียกร้อง และเริ่มเคลื่อนไหว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต่อสู้ได้โดยลำพังหรือสำเร็จในเวลาอันสั้น (อาจกินระยะเวลายาวนานกว่าชีวิตคนคนหนึ่งเสียด้วยซ้ำ) ฉะนั้นการมีส่วนร่วมของทุกคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะในฐานะอาสาสมัครช่วยงานสำหรับคนที่อยู่อังกฤษหรือแถบ ๆ นั้น ศิลปินจัดแสดงงานหากมีเรื่องอยากเล่า สมาชิกสำหรับผู้มีทุนทรัพย์พอเหลือ หรือผู้ร่วมชมนิทรรศการที่คอยเป็นกำลังใจใกล้ชิดก็ได้เหมือนกัน หากเจอวิธีการเรียกร้องที่พอเหมาะกับตัวเองแล้วก็เริ่มเลย!
อ้างอิง
- Our Story And Mission — Vagina Museum. www.vaginamuseum.co.uk/about/story
- Florence Schechter | Bio. www.floschechter.com/bio
- What is “Intersectional Feminism”? | Women’s & Gender Studies. https://denison.edu/academics/womens-gender-studies/feature/67969#:~:text=Intersectional%20feminism%20takes%20into%20account,of%20other%20minority%20groups%20face.
- Sex and Pregnancy — Vagina Museum. www.vaginamuseum.co.uk/muffbusters/2-sexandpregnancy
- Menstruation — Vagina Museum. www.vaginamuseum.co.uk/muffbusters/3-menstruation