Kind Words

สีสัน “ชื่อพรรคการเมือง” มองอุดมการณ์ผ่านตัวอักษร

ช่วงนี้การเมืองไทยเรียกว่ากำลังร้อนระอุไม่แพ้อากาศเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนก็เจอแต่ป้ายหาเสียงแผ่นน้อยใหญ่ติดระเกะระกะอยู่ตามริมถนนหนทาง อันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเทศกาลแห่งการเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามาทุกที แต่เคยสงสัยกันไหม? ว่าตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ประเทศไทยมีพรรคการเมืองอะไรบ้าง แล้วชื่อเสียงเรียงนามของแต่ละพรรคมีวิวัฒนาการมาอย่างไร และสะท้อนอุดมการณ์ทางการเมืองหรือไม่ วันนี้ KiNd ชวนมาส่องสีสันการสร้างสรรค์คำของ “ชื่อพรรคการเมือง” เสน่ห์ของภาษาที่เราอยากจะชวนมาร่วมค้นหาไปด้วยกัน

ว่าแต่ “พรรคการเมือง” คืออะไร?
ประเทศไทยเริ่มใช้ตอนไหน?

ก่อนจะไปเจาะลึกเรื่องชื่อพรรค เราชวนมาทำความรู้จักกับความหมายของคำว่า “พรรค” กันก่อน ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่าพรรคการเมืองไว้ว่า กลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างเดียวกันร่วมกันจัดตั้งและจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมาย แต่หากเท้าความไปถึงจุดกำเนิดอันแท้จริง คำว่า “พรรค” (Party) เกิดขึ้นและนำมาใช้เป็นครั้งแรกในวงการการเมืองของยุโรปตั้งแต่สมัยยุคกลางตอนปลาย ผ่านการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่มีหัวใจสำคัญคือการเลือกตั้ง ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักการเมืองและผู้คนทั่วไปจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน

สำหรับประเทศไทย พระราชบัญญัติพรรคการเมืองฉบับแรกประกาศอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2498 สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ทว่าก่อนหน้านี้ ช่วงก่อนและหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้เกิดการก่อตัวของพรรคการเมืองขึ้นมาบ้างแล้ว อย่าง “คณะราษฎร” (2469) ที่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของไทยแบบไม่เป็นทางการ หรือ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” (2485) และ “พรรคก้าวหน้า” (2488) เป็นต้น เป็นที่รู้กันว่าเส้นทางประชาธิปไตยนั้นไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้จะมีพระราชบัญญัติฯ ตามกฎหมายเกิดขึ้นมากมาย แต่ด้วยพลังแห่งอำนาจของคนกระหายอำนาจ ทำให้เส้นทางนี้หยุดชะงักอยู่หลายครั้งหลายครา จนหลายคนยังคงตั้งคำถามถึงวิถีทางระบอบประชาธิปไตย(ที่เป็นของประชาชน)อย่างแท้จริงต่อไป

พรรคการเมืองรุ่นเก่ากับชื่อสุดเก๋า

หากย้อนกลับไปในช่วงปฏิวัติสยาม ถือว่ามีพรรคการเมืองผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะเป็นยุคที่ประชาธิปไตยกำลังเริ่มเบ่งบาน พร้อม ๆ กับผู้มีอำนาจทางการเมืองก็นิยมตั้งพรรคขึ้นเพื่อสร้างฐานอำนาจให้ตัวเองเช่นกัน แต่เราจะไม่ไปแตะรายละเอียดตรงนั้น ขอวกกลับเข้าสู่ประเด็นหลักเรื่องชื่อพรรคการเมืองกันดีกว่า สำหรับคำว่า “พรรคการเมืองรุ่นเก่า” ในที่นี่ เราขอจำกัดช่วงเวลาย้อนหลังลงไป โดยเน้นพรรคการเมืองที่เริ่มก่อตั้งในช่วงปี พ.ศ. 2498-2501 เพื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์กัน

โดยพรรคการเมืองพรรคแรกที่จดทะเบียนหลัง พ.ร.บ. พรรคการเมือง พ.ศ. 2498 มีผลบังคับใช้ คือ พรรคเสรีมนังคศิลา จดทะเบียนเมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2498 ถือเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกของไทยที่มีกฎหมายรับรอง ก่อตั้งโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สำหรับชื่อพรรคนั้นมาจากชื่อบ้าน “มนังคศิลา” ตั้งอยู่บนถนนหลานหลวง เขตดุสิต อันเป็นสถานที่ที่จอมพล ป. ใช้ในการประชุม นอกจากนี้ ยังมีฉายาว่า “พรรคอุดมสตางค์” เพราะเป็นพรรคของรัฐบาลที่มีทุนหนุนหลังอยู่นั่นเอง

ส่วนพรรคการเมืองลำดับที่ 2 คือ พรรคประชาธิปัตย์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2498 (แต่มีการจัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมี พ.ร.บ. พรรคการเมืองฯ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489) หัวหน้าพรรคคนแรกคือ ควง อภัยวงศ์ ถือเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประเทศไทย เพราะยังคงดำเนินการอยู่จวบจนปัจจุบัน โดยชื่อพรรคหมายถึง “ประชาชนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย”

ส่วนชื่อพรรคการเมืองอื่น ๆ ในยุคนั้น แต่ละชื่อจะมุ่งเน้นการใช้คำที่แสดงถึงอุดมการณ์และจุดยืนอย่างชัดเจน เช่น “พรรคกรรมกร” “พรรคชาวนา และ พรรคสหพันธ์เกษตรกร เป็นการเลือกใช้คำที่สื่อความหมายตรงตัว เข้าใจง่าย เน้นนโยบายด้านการส่งเสริมเกษตรกรและชั้นชนแรงงานในสังคม หรือ พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค” ที่ชื่อพรรคมาจากสวนสาธารณะไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ปราศรัยสามารถโจมตีการทำงานของรัฐบาลได้อย่างอิสระ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการออกมาร่วมชุมนุมเพื่อพูดและวิจารณ์เรื่องต่าง ๆ ในสังคม และ พรรคศรีอารียเมตไตรย และ พรรคไทยมุสลิมหรือไทยอิสลาม ที่จะเน้นนโยบายเกี่ยวกับสันติภาพและสงคราม มุ่งส่งเสริมให้สันติภาพดำรงอยู่อย่างถาวร คัดค้านและต่อสู้อธรรมสงคราม ด้วยการสนับสนุนธรรมสงคราม โดยใช้คำที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลักในการตั้งชื่อ

สรุปว่าในช่วง 3 ปีที่เริ่มมีการใช้ พ.ร.บ. พรรคการเมืองฯ จนถึงวันที่กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกนั้น (ยกเลิกเพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501) มีพรรคการเมืองเข้าจดทะเบียนกว่า 30 พรรคด้วยกัน ตัวอย่างรายชื่อพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคเสรีประชาธิปไตยพรรคเศรษฐกรพรรคสงเคราะห์อาชีพและการกุศลพรรคธรรมาธิปัตย์พรรคชาตินิยมพรรคสหภราดรพรรคหนุ่มไทยพรรคราษฎรพรรคคนดีพรรคอิสระพรรคประชาชนพรรคสยามประเทศพรรคสหภูมิพรรคอิสานและพรรคชาติสังคม เป็นต้น จากรายชื่อพรรคการเมืองที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าภาพรวมของชื่อพรรคส่วนใหญ่จะสรรคำที่ต่างกันออกไป ไม่ค่อยมีคำซ้ำคำซ้อนเท่าไรนัก หลายชื่อมีแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดของต่างประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตย พร้อมสะท้อนจุดยืนและนโนบายที่ชัดเจน และแฝงไปด้วยอุดมการณ์ทางประชาธิปไตยที่เวลาอ่านแล้วรู้สึกได้ถึงความฮึกเหิมเลยทีเดียว

พรรคการเมืองในปัจจุบันกับคำสุดฮอตฮิต


จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 68 ปีแล้ว ที่ชื่อพรรคการเมืองได้วิวัฒนาการผ่านยุคสมัยมาอย่างท้าทาย บางพรรคยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างยาวนาน บางพรรคหายสาบสูญไปกับอดีตกาล บางพรรคกลับมาฟื้นฟูใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม ปัจจุบัน ประเทศไทยมีพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่จำนวน 88 พรรค (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2566 จากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) หากใครอยากรู้ว่ามีพรรคอะไรบ้าง สามารถกดดูรายชื่อทั้งหมดได้ ที่นี่เลย

จากการสำรวจรายชื่อพรรคการเมืองปี พ.ศ. 2566 พบว่า คำยอดฮิตที่ปรากฏอยู่ในชื่อพรรคมักจะมีคำว่า ไทย” “พลัง” “ชาติและ ประชา โดยชื่อพรรคการเมืองที่มีคำว่า ไทย ประกอบอยู่ในชื่อมีจำนวน 37 พรรคด้วยกัน เช่น พรรคประชากรไทย พรรคเพื่อไทย พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคไทยสร้างไทย พรรครวมไทยยูไนเต็ด และพรรคไทยศรีวิไลย์ เป็นต้น ทั้งนี้ ยังมีคำที่มีความหมายสื่อไปในทิศทางเดียวกันกับคำว่าไทยอย่าง ไท และ สยาม อีกจำนวน 5 พรรค ได้แก่ พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคพลังไทรุ่งเรือง พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคพลังสยาม และพรรคสยามพล สะท้อนให้เห็นว่าในยุคนี้นิยมตั้งชื่อพรรคที่สื่อถึงความเป็นชาตินิยมซะส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะยังไงขอให้มี “ไทย” ไว้ก่อน ก็เล่นซ้ำกันถึง 37 พรรคเชียวนะ แตกต่างกับในยุคเก่าที่มักจะไม่ค่อยใช้คำซ้ำกันเลย

ส่วนคำที่ฮิตติดเทรนด์มาเป็นอันดับ 2 คือ คำว่า “พลัง ประกอบอยู่ในชื่อพรรคจำนวน 17 พรรค เช่น พรรคพลังบูรพา พรรคพลังสหกรณ์ พรรคพลังสยาม พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคพลังไทยรักชาติ นอกจากนี้ ยังมีคำว่า ชาติ ที่ประกอบอยู่ในชื่อพรรคอีกจำนวน 12 พรรค เช่น พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติรุ่งเรือง และพรรคแรงงานสร้างชาติ เป็นต้น และมีคำว่า ประชา ประกอบอยู่ในชื่อพรรคจำนวน 12 พรรคด้วยกัน เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคประชาชาติ และพรรคเพื่อประชาชน เป็นต้น

ตัวอย่างชื่อพรรคการเมืองอื่น ๆ เช่น พรรคก้าวไกลพรรคทางเลือกใหม่พรรคความหวังใหม่พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลพรรครวมแผ่นดินพรรคสามัญชนพรรคเสมอภาคพรรคใหม่และพรรคกรีน สะท้อนให้เห็นชื่อที่มุ่งสื่อถึงอนาคตและความหวังของประเทศที่จะพัฒนาไปข้างหน้า รวมถึงมีการเลือกใช้คำสั้น ๆ พยางค์เดียวในการสื่อความ หากเทียบภาพรวมของชื่อพรรคยุคเก่ากับยุคใหม่ตามที่เรานิยามไว้ จะเห็นถึงวิวัฒนาการของการตั้งชื่อที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตั้งแต่การเลือกใช้คำและอุดมการณ์ทางการเมืองจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยปรับสู่ความเป็นไทยนิยมมากขึ้น

“การตั้งชื่อพรรคการเมือง” ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อสร้างภาพลักษณ์และการจดจำไปจนถึงฐานเสียงเลือกตั้งเลยก็ว่าได้ เรียกว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบการตั้งพรรคการเมืองที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน แล้วคุณล่ะ ถ้ามีโอกาสตั้งชื่อพรรคการเมืองขึ้นมาเอง คุณอยากจะตั้งว่าอะไร?


อ้างอิง

  • The 101 .world. การเมืองเรื่องชื่อพรรค : ‘พลัง’ ฮิต ‘ประชาธิปไตย’ หด โดย อิสระ ชูศรี. www.the101.world/naming-political-parties/
  • มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน. การก่อตัวและการพัฒนาของพรรคการเมืองไทย. www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=31&chap=4&page=t31-4-infodetail02.html
  • สถาบันพระปกเกล้า. 19 กันยายน พ.ศ. 2498 โดย ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร. https://bit.ly/443JDHO
  • สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. ข้อมูลพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ (ณ วันที่ 8 มีนาคม 2566). www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=19863

เรื่องโดย

ภาพโดย