Kind National

คนไทยออมเงินเพิ่มขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 สวนทางดอกเบี้ยเงินออมต่ำ!

ในภาวะยากลำบากที่ทุกคนเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 นำไปสู่รูปแบบการใช้ชีวิตที่เรียกว่า “ความปกติใหม่” หรือ “New Normal” โลกจะเข้าสู่กระแสดิจิทัลเร็วขึ้น ปริมาณการทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันผู้คนเริ่มตระหนักถึงการออมเงิน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรับมือสถานการณ์ยากลำบากในอนาคต

จากฐานผู้ฝากเงินรายย่อยของทั้งประเทศ พบว่า มีผู้ฝากเงินทั้งหมด 95.8 ล้านบัญชี เป็นบัญชีออมทรัพย์มากสุด 86.1 ล้านบัญชี หรือคิดเป็น 90% โดยข้อมูลจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุว่า ยอดเงินฝากบุคคลธรรมดาธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 โดยมีเงินฝากบัญชีออมทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 16% จากสิ้นปี 2562 ส่งผลให้ยอดอยู่ที่ประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท สัดส่วนขยับสูงขึ้นจาก 59% เป็น 63% ในอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยเพียง 0.25% ขณะที่เงินฝากประจำมีสัดส่วนลดลงเหลือ 36% ในอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 0.44% และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปี 2563 มีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับลดลงอีก ส่งผลกระทบต่อรายได้ผู้ออมมากขึ้น

โครงสร้างเงินฝากบุคคลธรรมดา ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2563

  • เงินฝากออมทรัพย์ จำนวน 5,095,645 ล้านบาท สัดส่วน 63%
  • เงินฝากประจำ จำนวน 2,925,820 ล้านบาท สัดส่วน 36%
  • เงินฝากกระแสรายวัน จำนวน 70,479 ล้านบาท สัดส่วน 1%

รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องมาตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก พ.ศ. 2551 (The 2008 Financial Crisis) ก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารกลางบางแห่งรวมถึง ธปท. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้กลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น เพราะการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องนานจะส่งผลให้ประชาชนไม่มีแรงจูงใจในการออม ซึ่งภายหลังภาวะโควิด-19 ธนาคารกลางทุกประเทศอาจจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยลดผลกระทบและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 

จึงเป็นเรื่องน่าสนใจว่า คนไทยจะออมเงินอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์คับขันของโลกขณะนี้ อีกทั้งดอกเบี้ยเงินฝากก็มีทีท่าว่าจะยังคงต่ำลงเรื่อย ๆ โดยคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่ลดลงเหลือ 0.25% ซึ่งมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมได้อีก หากมีปัจจัยกดดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลง 

แม้วิธีการออมเงินมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ แต่การฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ยังคงมีบทบาทสูง ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจมีความเสี่ยง ผู้ออมรายย่อยกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 และภาวะความยากลำบากในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการออมเงินผ่านบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีฝากประจำแล้ว ยังมีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่มีเงื่อนไขพิเศษ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ธรรมดา และไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยมีเงื่อนไขสำคัญต่าง ๆ เช่น ต้องเปิดบัญชีไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท หรือการฝากเงินแต่ละครั้งต้องไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เป็นต้น

อีกทั้งหากผู้ออมอยากจัดสรรเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ของภาครัฐที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนใกล้เคียงกันเงินฝาก ก็นับเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้ออมที่เน้นสภาพคล่องสูง โดยพันธบัตรรัฐบาล 1 ปี ให้ผลตอบแทนอยู่ที่ 0.5% พันธบัตรรัฐบาล 3 ปี อยู่ที่ 0.63% และพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี อยู่ที่ 0.87% 

นอกจากนี้ ยังมีกองทุนรวมต่าง ๆ ที่เหมาะสำหรับผู้ออมที่ต้องการผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากและสามารถรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารทุน และกองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น

แน่นอนว่า การมีเงินออมที่เพียงพอย่อมทำให้เรารับมือสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงในอนาคตได้ ไม่ว่าจะเป็นการระบาดระลอก 2 หรือ 3 ของวิกฤตโควิด-19 รวมไปถึงภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ ขณะเดียวกันการออมไม่ใช่เพียงแค่ว่าจะฝากเงินกับธนาคารใด เท่าไร แต่ยังหมายถึงการรู้จักประเมินความเสี่ยงและหาวิธีกระจายความเสี่ยงของการออมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผลของการออมคุ้มค่าที่สุดด้วย


เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยการออมเงินในรูปแบบต่าง ๆ ณ เดือนมิถุนายน 2563

  • เงินฝากออมทรัพย์ 0.25%
  • เงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ย 0.48%
  • เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ 1.3%
  • พันธบัตรรัฐบาล 1 ปี 0.50%
  • พันธบัตรรัฐบาล 3 ปี 0.63%
  • พันธบัตรรัฐบาล 5 ปี 0.87%
  • กองทุนรวมตลาดเงิน 0.31-0.94%
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะกลาง (ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือน) 0.5-0.74% 

เรื่องโดย

ภาพโดย