Kind Local

วันนี้ และวันพรุ่งนี้ ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย “มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า” ยกระดับสู่ GI

พาร์มาแฮม คอนยัค สก๊อตช์วิสกี ชาดาร์จีลิง พาร์เมซานชีส…

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication) ที่รู้จักกันไปทั่วโลก และประสบความสําเร็จตลอดกาลในเชิงพาณิชย์


ถ้าไม่นับว่าทั้งหมดข้างต้นเป็นของแพงที่บ่งบอกรสนิยมของผู้บริโภค อย่างน้อยเราก็รู้ได้จากชื่อเรียกที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์การผลิต หรือไม่ก็ชื่อเสียงในเรื่องคุณสมบัติ-คุณลักษณะเฉพาะ อันบ่งบอกได้ถึงคุณภาพที่แตกต่าง ซึ่งนั่นก็มาจากการการผสานปัจจัยของทรัพยากรชีวภาพในแหล่งภูมิศาสตร์นั้น ๆ กับความประณีตพิถีพิถันของฝีมือมนุษย์ (แน่นอน ก็คือผู้คนในท้องถิ่น) 

แม้ว่าบ้านเราจะเต็มไปด้วยสินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ตามข้อกําหนดสินค้าที่สามารถขึ้นทะเบียน GI ได้ แต่หากคนไทยต้องการเห็นสินค้า GI ไทยมีชื่อเสียงไปทั่วโลกว่าเป็นของดีซึ่งควรแล้วที่จะมีมูลค่าสมคุณภาพ เราก็ต้องใส่ใจทุกขั้นตอนกระบวนการสร้างสินค้า GI นั้น ๆ ตั้งแต่กระบวนการได้มา การขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย การส่งเสริมพัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาด ไปสู่เป้าหมายของการเพิ่มมูลค่าสินค้า และไปให้ไกลที่สุดด้วยการรักษาความเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ทั่วโลกยอมรับ เมื่อรู้ว่านี่คือ มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า พริกบางช้าง น้ำหมากเม่าสกลนคร หรือผ้าย้อมครามธรรมชาติสกลนคร ไม่ว่าสินค้านั้นจะมียี่ห้อใดก็ตาม… 


ยกตัวอย่างเช่นกรณี “มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า” ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เมื่อปี 2557 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) ได้ทุ่มเทการทํางานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานพันธมิตร ตั้งแต่การรวมกลุ่มศึกษาความเป็นไปได้และรวบรวมข้อมูลเพื่อขอรับความคุ้มครอง ซึ่งคงไม่ใช่เพียงความรู้สึกว่ามะม่วงจากสวนคุ้งบางกะเจ้าอร่อยที่สุดในโลก หากแต่พิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงชื่อเสียง คุณภาพ คุณลักษณะพิเศษ วิธีการผลิต ความเชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ ขอบเขตพื้นที่แหล่งภูมิศาสตร์ ก่อนจะร่างคําขอขึ้นทะเบียน และคู่มือปฏิบัติงานเพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบและขึ้นทะเบียนฯ อันนําไปสู่การขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย และส่งเสริม-ติดตามเพื่อควบคุมมาตรฐานและส่งเสริมการตลาด 

เป็นที่ทราบกันดีว่า หลังจากมะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้าได้รับการขึ้นทะเบียน GI ราคาก็พุ่งขึ้นมากกว่า 200% ซึ่งก็ควรค่าแล้ว อย่างไรก็ดีเราย่อมไม่ได้มุ่งหวังจากตราสัญลักษณ์ GI ไทยเพียงเท่านี้ เราหวังจะเห็นชุมชนยังคงเดินหน้าประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะดูแลรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น เพื่อปกป้องสิทธิ์ภายใต้การคุ้มครองในฐานะสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์อันจะนํามาซึ่งการส่งเสริมยกระดับ SMEs การเพิ่มมูลค่าให้สมค่ากับมาตรฐานการผลิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นจากบรรพบุรุษ 

นอกจากนี้คือ ให้ความภาคภูมิใจในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน และต่อยอดไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน ตลอดจนวิสาหกิจท้องถิ่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เหนือสิ่งอื่นใดคือ การดูแลรักษาความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า เพราะเป้าหมายข้างหน้าคือการดําเนินงานเพื่อขอรับการสนับสนุนให้จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ระดับสากล 

จะเป็นอย่างไรบ้าง หากโต๊ะอาหารที่วิเศษสุดในสายตาชาวโลก
จะประกอบไปด้วย พาร์มาแฮม ชาดาร์จีลิง คอนยัค และมะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า…