Kind National

สาธารณสุขไทยแกร่ง (จริงหรือ?) คนไทยเข้าถึงการรักษาพยาบาลเกือบ 100% แต่ติดกับดักระบบหลักประกันสุขภาพ

“ระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐไทย” มี 3 ระบบ คือ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง  ซึ่งครอบคลุมประชากรเกือบร้อยละ 100 อีกทั้งนโยบายด้านหลักประกันยาก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ในราคาที่ถูกลง จึงน่าจะไม่ใช่เรื่องเกินจริง หากจะกล่าวว่าระบบสาธารณสุขไทยแกร่งไม่แพ้ชาติใดในโลก

รายงาน Global Health Security Index 2019 จัดอันดับให้ไทยเป็นที่ 6 ของประเทศที่มีความมั่นคงด้านสาธารณสุขสูงสุด โดดเด่นเรื่องการป้องกันโรค การตอบสนองที่เร็ว และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง รองจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย และแคนาดา ขณะเดียวกันไทยยังได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่ารับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้ดีอีกด้วย

แม้สัดส่วนบุคลากรการแพทย์ของไทย (แพทย์, ทันตแพทย์, พยาบาล และเภสัชกร) จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 44 คน ต่อประชากร 10,000 คน น้อยกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ 187 คน ต่อประชากร 10,000 คน และยังน้อยกว่าประเทศในอาเซียน อย่างสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของคนไทยได้รับการยอมรับและยกย่องจากนานาชาติ ตั้งแต่มี พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545  


สถิติบุคลากรทางการแพทย์เทียบต่างประเทศ

  • สหรัฐอเมริกา 187 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • สหราชอาณาจักร 124 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • เกาหลี 109 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • สิงคโปร์ 95 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • ฟิลิปปินส์ 61 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • มาเลเซีย 57 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • ไทย 44 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • อินเดีย 37 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • เวียดนาม 26 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน
  • เมียนมา 18 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน


ไทยมีหน่วยบริการทางการแพทย์สาธารณสุขครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร

จากรายงานล่าสุด ด้านสถิติทรัพยากรด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัจจุบันไทยมีหน่วยบริการทางการแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ป่วยกว่า 100,000 เตียง และมีระบบแพทย์ชุมชนและระบบอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กว่า 10,000 แห่ง ส่วนด้านบุคลากรการแพทย์ ไทยผลิตแพทย์ได้ปีละประมาณ 2,800 คน และมีโรงเรียนแพทย์ที่แพทยสภารับรองอีก 23 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ

ขณะที่งบประมาณด้านสาธารณสุขจากภาครัฐที่ผ่านมานั้น คิดเป็นราว 10% ของงบประมาณแต่ละปี มีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 5.3% ต่อปี โดยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งไว้จำนวน 26,730 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังออก พ.ร.ก. เงินกู้ วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาพร้อมกับการให้บริการอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรคือ การบริหารจัดการของภาครัฐในการแบกรับงบประมาณด้านสาธารณสุข อีกทั้งยังต้องรับมือกับสังคมสูงวัยในอนาคตที่จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคมะเร็ง เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลมีค่าใช้จ่ายจากระบบประกันสุขภาพเฉลี่ย 45,000 บาทในเดือนสุดท้าย ซึ่งยังไม่รวมค่าบุคลากรทางการแพทย์อีกประมาณ 40% เป็นต้น



จำนวนผู้มีสิทธิ์ในระบบประกันสุขภาพ

  • ระบบประกันสังคม 11 ล้านคน งบประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท
  • ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ 4.7 ล้านคน งบประมาณ 6 หมื่นล้านบาท
  • ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน งบประมาณ 1.66 แสนล้านบาท



การมีระบบประกันการดูแลระยะยาว ส่งผลดีสำหรับผู้สูงอายุติดเตียง

ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ประเมินว่า ในปี 2590 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่ติดบ้านหรือติดเตียงเพิ่มเป็น 1.1 ล้านคน จากปัจจุบันมีประมาณ 3.7 แสนคน และจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านประมาณ 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งทีดีอาร์ไอมองว่า การมีระบบประกันการดูแลระยะยาว (Long-Term Care Insurance)  จะส่งผลดีสำหรับผู้สูงอายุที่ถูกประเมินว่าเป็นผู้สูงอายุติดเตียง โดยสิ่งที่จะได้จากกองทุนประกันการดูแลระยะยาวคือ วัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น เตียงพิเศษ ราวจับในบ้าน รถเข็น ผ้าอ้อม สำลี เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีสิ่งเหล่านี้ ผู้ป่วยต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. …. แล้วตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการการแก้ไขเพื่อแก้ปัญหาในอดีต 

จึงเป็นเรื่องน่าติดตามว่ารัฐไทยจะบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้อย่างไร ทั้งปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านสาธารณสุข และการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต


ที่มา

  • Global Health Observatory (GHO) data 2016-2018. สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ

เรื่องโดย

ภาพโดย