Kindnovation

เปลี่ยนประเทศไทยสู่เมืองอนุรักษ์พลังงาน ผ่านการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า


  • รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) คือนวัตกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว 100% ในการขับเคลื่อน และสามารถชาร์จไฟได้อย่างสม่ำเสมอ
  • ปัจจุบันทั่วโลกมีรถ EV วิ่งบนท้องถนนกว่า 4.5 ล้านคัน โดยประเทศที่สนับสนุนให้คนหันมาใช้รถ EV ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ อินเดีย และกลุ่มสหภาพยุโรป เป็นต้น
  • ประเทศไทยมีรถ EV จดทะเบียนสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ทั้งสิ้น 4,301 คัน ด้านกระทรวงพลังงานตั้งเป้าการใช้รถ EV เพิ่มเป็น 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2573
  • ครม. มีมติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถ EV ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลงเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 รวมระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะทำให้ราคารถ EV ลดลงไปอีก

ไทยตั้งเป้าคนใช้รถ EV เพิ่มขึ้น 1.2 ล้านคัน จาก 4,301 คัน ภายในปี 2573

อาจดูเป็นเรื่องเกินจริง แต่ไม่ไกลเกินเอื้อม! สำหรับเป้าหมายการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (EV) จำนวน 1.2 ล้านคันภายในปี พ.ศ. 2573 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า โดยกระทรวงพลังงานเดินหน้าเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านระบบไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟฟ้า (Charging Station) และเทคโนโลยีรถ EV ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018)

แม้ประเทศไทยมีรถ EV จดทะเบียนสะสมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 เพียง 4,301 คัน แต่อัตราการเติบโตพุ่งสูงขึ้นมากในช่วงปี พ.ศ. 2563 เพราะมีรถ EV จดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ทั้งสิ้น 3,076 คัน เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2560 ที่มีรถ EV จดทะเบียนเพียง 165 คัน ส่วนสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะทั่วประเทศอยู่ที่ 557 แห่ง

ขณะที่ข้อกังวลใหญ่ของคนไทยที่ทำให้รถ EV ไม่ได้รับความนิยมมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศคือ ราคาที่อาจสูงเกินไปหากเทียบกับสมรรถนะและความสะดวกสบาย รวมถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าในประเทศยังมีไม่มากนัก อีกทั้งความสามารถของรถ EV ที่ชาร์จแบตเตอรี่หนึ่งครั้งจะวิ่งได้ระยะทางประมาณ 300 – 400 กิโลเมตร จึงเหมาะสำหรับการใช้งานในเมืองมากกว่าวิ่งออกนอกเมืองในระยะไกล ๆ

ปัจจุบันราคาแบตเตอรี่รถ EV คิดเป็น 40-50% ของราคารถ EV ซึ่งนับว่าสูงมาก แต่หากมองในระยะยาวถือว่าคุ้มค่า เพราะรถ EV ไม่มีเครื่องยนต์ เนื่องจากใช้ระบบการทำงานด้วยมอเตอร์และแบตเตอรี่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อัตราการสร้างมลพิษจากไอเสียเป็นศูนย์ รวมถึงยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาด้วย



ขณะที่ปัญหาหลักที่ทำให้รถ EV ในประเทศไทยมีราคาสูงคือ ภาษีนำเข้ารถยนต์ ทั้งภาษีศุลกากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีการคำนวณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยกับประเทศต่าง ๆ เช่น ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement : JTEPA) เป็นต้น

ในฐานะที่รัฐบาลไทยส่งเสริมให้ใช้รถ EV เพิ่มขึ้นเพื่อลดมลภาวะ จึงสนับสนุนให้ผู้ผลิตย้ายมาสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย และอนุมัติให้ผู้ประกอบการเข้ารับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อจะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตจากเดิม 8% เหลือเพียง 2% ทำให้ต้นทุนในการผลิตรถ EV ลดลง

นอกจากนี้ เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนลงเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 รวมระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะทำให้ราคารถ EV ลดลงไปอีก

ด้านกระทรวงพลังงานเองก็กำลังอยู่ระหว่างศึกษากรณีให้ผู้ใช้รถ EV สามารถขายไฟฟ้าส่วนเหลือจากแบตเตอรี่รถ EV ขายเข้าระบบผลิตไฟฟ้าได้ เพื่อให้ระบบแบตเตอรี่รถ EV กลายเป็นระบบสำรองไฟฟ้าช่วยเสริมความมั่นคงไฟฟ้าประเทศ



ขณะที่บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ออกแถลงการณ์ส่งเสริมให้ใช้รถ EV เริ่มด้วยการสร้างความต้องการใช้ให้เกิดขึ้นในประเทศ ครอบคลุมตั้งแต่รถสาธารณะ รถแท็กซี่ รถยนต์ของราชการ รถยนต์ส่วนบุคคล รวมถึงรถจักรยานยนต์ ให้เป็นระบบพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด ลดอุปสรรคด้านราคาของรถ EV เพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ได้เฉลี่ย 50 กิโลเมตรต่อสถานีทั่วประเทศ และส่งเสริมการชาร์จไฟฟ้าด้วยความเร็วประมาณ 15-20 นาทีต่อครั้ง

ทั้งนี้ ด้วยกระแสอนุรักษ์พลังงาน ทำให้ปัจจุบันคนไทยเริ่มสนใจรถ EV เพิ่มขึ้น ดูได้จากรถ EV จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2563 ที่เพิ่มสูงขึ้น 3,076 คัน จากปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีเพียง 165 คันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม รถ EV ยอดนิยมที่ขายในไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นรถ EV นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาก็ขึ้นอยู่กับแบรนด์และนวัตกรรมที่แตกต่างกัน รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยกับประเทศต่าง ๆ ที่จะทำให้การคำนวณภาษีนำเข้าต่างกันออกไปด้วย

แม้ความคาดหวังของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มจำนวนรถ EV วิ่งบนท้องถนนให้ได้จำนวน 1.2 ล้านคัน ภายในปี พ.ศ. 2573 ดูจะเกินจริงกว่าจำนวนรถ EV ที่ใช้จริงในปัจจุบัน แต่หากดูจากนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาแล้ว ก็ไม่น่าไกลเกินเอื้อม หากได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและภาคประชาชน ในการเปลี่ยนให้ไทยกลายเป็นเมืองอนุรักษ์พลังงานผ่านการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า


เรื่องโดย